เมษายน 24, 2024, 04:30:53 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระไตรปิฎก  (อ่าน 13534 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เด็กหน้าวัด
เด็กใหม่
นักบุญผู้ใจดี
*****

พลังความดี : 696


เพศ: ชาย
กระทู้: 13280
สมาชิก ID: 1


« เมื่อ: สิงหาคม 19, 2010, 04:46:53 PM »

Permalink: พระไตรปิฎก
พระไตรปิฎก

   
   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก
   
  พระไตรปิฎกคืออะไร ?

โดย สุชีพ ปุญญานุภาพ

           ศาสนาทุกศาสนา ย่อมมีคัมภีร์หรือตำราทางศาสนาเป็นหลักในการสั่งสอน พระไตรปิฎก หรือที่เรียกในภาษาบาลีว่า ติปิฎกหรือเตปิฎกนั้น เป็นคัมภีร์หรือตำราทางพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับไตรเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ ไบเบิ้ลของศาสนาคริสต์ อัลกุรอานของ ศาสนาอิสลาม พระพุทธเจ้าประทานพระพุทธโอวาทไว้มากหลายต่างกาลเวลา ต่างสถานที่กัน พระสงฆ์สาวกซึ่งท่องจำไว้ได้ ได้จัดระเบียบเป็นหมวดหมู่ เป็นปิฎกต่างๆ หลังจากพระศาสดานิพพานแล้วเพื่อเป็นหลักพระพุทธศาสนา ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า “ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไป”

           มีหลักฐานกำหนดลงได้ว่าในสมัยพระพุทธเจ้ายังไม่มีคำว่า “พระไตรปิฎก” มีแต่คำว่า “ธรรมวินัย” คำว่า พระไตรปิฎก หรือ ติปิฎก ในภาษาบาลีนั้นเกิดขึ้นมาภายหลังที่ทำสังคายนาแล้ว คำว่า พระไตรปิฎก กล่าวโดยรูปศัพท์ แปลว่า ๓ คัมภีร์ เมื่อแยกเป็นคำๆ ว่า พระ+ไตร+ ปิฎก คำว่า “พระ” เป็นคำแสดงความเคารพหรือยกย่อง คำว่า “ไตร” แปลว่า ๓ คำว่า “ปิฎก” แปลได้ ๒ อย่างคือ แปลว่าคัมภีร์หรือตำนานอย่างหนึ่ง แปลว่ากระจาดหรือตะกร้าอย่างหนึ่ง ที่ แปลว่ากระจาดหรือตะกร้า หมายความว่าเป็นที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวด หมู่ ไม่ให้กระจัดกระจาย คล้ายกระจาดหรือตะกร้าอันเป็นภาชนะใส่ของ ฉะนั้น เมื่อทราบแล้วว่า คำว่าพระไตรปิฎกแปลว่า ๓ คัมภีร์ หรือ ๓ ปิฎก จึงควรทราบต่อไปว่า ๓ ปิฎกนั้นแบ่งออกดังนี้

(๑) วินัยปิฎก - ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี
(๒) สุตตันตปิฎก - ว่าด้วยพระธรรม เทศนาทั่วๆ ไป
(๓) อภิธัมมปิฎก - ว่าด้วยธรรมะล้วนๆ หรือธรรมะที่สำคัญ.

ความเป็นมาของพระไตรปิฎก

           พระสาวก ๔ รูป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก คือ

           ๑. พระอานนท์ เป็นโอรสของเจ้าชายสุกโกทนศากยะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา ท่านออกบวชแล้วได้เป็นผู้ที่สงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปฐาก คือ ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า พระอานนท์ทรงจำพระพุทธวจนะได้มาก ท่านจึงมีส่วนสำคัญในการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ต่างๆ สืบมาจนทุกวันนี้

           ๒. พระอุบาลี เคยเป็นพนักงานรักษาภูษามาลาอยู่ในราชสำนักแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ท่านออกบวช พร้อมกับพระอานนท์และราชกุมารอื่นๆ โดยได้รับเลือกจากเจ้าชายเหล่านั้นให้อุบาลีบวชก่อน พวกตนจะได้กราบไหว้อุบาลีตามพรรษาอายุเป็นการแก้ทิฐิมานะตั้งแต่เริ่มแรกในการออกบวช ท่านมีความสนใจกำหนดจดจำทางพระวินัยเป็นพิเศษ จนแม้พระพุทธเจ้าก็ทรงสรรเสริญท่านด้วย ท่านจึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับวินัยปิฎก จึงนับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยตรงในการช่วยรวบรวมข้อพระวินัยต่างๆ ให้เป็นหมวดหมู่เป็นหลักฐานมาจนทุกวันนี้

            ๓. พระโสณกุฏิกัณณะ ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระไตรปิฎก แต่ประวัติของท่านมีส่วนเป็น หลักฐานในการท่องจำพระไตรปิฎก เรื่องของท่านมีปรากฎในพระสุตตันตปิฎกความว่า เดิมท่านเป็น อุบาสกคอยรับใช้พระมหากัจจานเถระ แล้วบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ต่อมา ท่านได้เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ เชตวนาราม พระพุทธเจ้าตรัสเชิญให้พระโสณะกล่าวธรรม ซึ่งท่านได้กล่าวสูตรถึง ๑๖ สูตร อันปรากฏในอัฏฐกวัคค์จนจบ เมื่อจบแล้วพระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาสรรเสริญความทรงจำ และท่วงทำนองในการกล่าว เรื่องนี้เป็นตัวอย่างอันดีในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกว่าได้มีการท่องจำกันตั้งแต่ ครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์อยู่

            ๔. พระมหากัสสป เป็นผู้บวชเมื่ออายุสูง แม้ท่านไม่ใคร่สั่งสอนใคร แต่ก็สั่งสอนคนในทางปฏิบัติ คือทำตัวเป็นแบบอย่าง เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ท่านได้เป็นหัวหน้าชักชวนพระสงฆ์ให้ทำสังคายนาคือ ร้อยกรอง หรือจัดระเบียบพระวินัย นับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้เกิด พระไตรปิฎก

            นอกจากพระไตรปิฎกจะเกิดขึ้นจากความปรารถนาของพระเถระ ๔ รูปนี้แล้ว พระพุทธเจ้า ยังได้เคยแนะให้รวบรวมธรรมภาษิตของพระองค์และทำสังคายนา เพื่อไม่ให้เกิดความแตกกัน เหมือนอย่างสาวกของนิครนถนาฏบุตร ที่แตกกันหลังจากผู้เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิสำคัญคนหนึ่งสิ้นชีพ พระพุทธสุภาษิตที่แนะนำรวบรวมพุทธวจนะร้อยกรองจัดระเบียบหมวดหมู่นี้ ถือได้ว่าเป็นเริ่ม ต้นแห่งการแนะนำ เพื่อให้เกิดพระไตรปิฎกดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

            เมื่อกล่าวถึงความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก และกล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ ทำสังคายนาก็ดี ก็ต้องกล่าวถึงความปรารถนาดีของพระจุนทเถระ ครั้งแรกก็คือท่านได้เข้าพบพระอานนท์ เมื่อรู้เห็นเหตุการณ์ที่สาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกกัน ซึ่งพระอานนท์ชวนให้เข้าเฝ้า พระพุทธเจ้า และพระผู้มีพระภาคทรงตรัสแนะให้ทำสังคายนาดังกล่าวแล้วข้างต้น ครั้งหลังคือ เมื่อสาวกนิครนถนาฏบุตรแตกกันยิ่งขึ้น ท่านก็เข้าหาพระอานนท์อีกขอให้กราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงโพธิปักขิยธรรมอันเป็นหลักของพระพุทธศาสนา แล้วทรงแสดงมูลเหตุ แห่งการทะเลาะวิวาท ๖ ประการ อธิกรณ์ ๔ ประการ วิธีระงับอธิกรณ์ ๗ ประการ กับประการ สุดท้ายทรงแสดงหลักธรรมสำหรับอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ๖ ประการ ที่เรียกว่า สาราณิยธรรม ซึ่งการเข้าหาพระอานนท์ทั้ง ๒ ครั้งของพระจุนทเถระนี้คือ ความปรารถนาดีของท่าน ที่ห่วงใยใน ความตั้งมั่นยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา

การสวดปาฏิโมกข์ต่างจากการสังคายนาอย่างไร ?

            การสวดปาฏิโมกข์คือการ “ว่าปากเปล่า” หรือการสวดข้อบัญญัติทางพระวินัย 150 ข้อ ในเบื้องแรก และ 227 ข้อในกาลต่อมาทุกๆ กึ่งเดือนหรือ 15 วัน เป็นข้อบัญญัติทางพระวินัยที่ให้พระภิกษุทั้งหลายต้องลงฟังการกล่าว ทบทวนข้อบัญญัติทางพระวินัยนี้ทุก 15 วัน ถ้าขาดโดยไม่มีเหตุสมควรต้องปรับอาบัติ การสวดปาฏิโมกข์นี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการบังคับให้ท่องจำ ข้อบัญญัติทางพระวินัย แต่ไม่ใช่ทุกท่านสวดพร้อมกัน คงมีผู้สวดรูปเดียว รูปที่เหลือคอยตั้งใจฟัง และช่วยทักท้วงเมื่อผิด

            การสังคายนานั้น แปลตามรูปศัพท์ว่า “ร้อยกรอง” คือประชุมสงฆ์จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะ แล้วรับทราบกันในที่ประชุมนั้นว่าตกลงกันอย่างนี้ แล้วก็มีการท่องจำสืบต่อๆ มา ในชั้นเดิมการสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา จึงจัดระเบียบหมวดหมู่พระ พุทธวจนะไว้ ในครั้งต่อๆ มาปรากฏมีการถือผิดตีความหมายผิด ก็มีการชำระวินิจฉัยข้อที่ถือผิด ตีความหมายผิดนั้น ชี้ขาดว่าที่ถูกควรเป็นอย่างไรแล้วก็ทำการสังคายนา แล้วจารึกลงในใบลาน การสอบทานข้อผิดในใบลานก็เรียกว่าสังคายนา ไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ถือผิดเข้าใจผิดเกิดขึ้น การสังคายนาไม่มีกำหนดว่าต้องทำเมื่อไร โดยปกติเมื่อรู้สึกว่าควรจัดระเบียบชำระข้อถือผิดเข้าใจ ผิดได้แล้ว ก็ลงมือทำตามโอกาสอันควรแม้เมื่อรู้สึกว่าไม่มีการถือผิดเข้าใจผิด

ปัญหาเรื่องการนับครั้งในการทำสังคายนา

            ในปัจจุบันนี้ ทางประเทศพม่าถือว่า ตั้งแต่เริ่มแรกมามีการทำสังคายนารวม 6 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ 6   พม่าจัดทำเป็นการใหญ่ ในโอกาสใกล้เคียงกับงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ แล้ว ฉลองพร้อมกันทีเดียว แต่ตามหลักฐานของพระเถระฝ่ายไทย ผู้รจนาหนังสือเรื่องสังคีติยวงศ์ หรือประวัติศาสตร์การสังคายนากล่าวว่า สังคายนามี ๙ ครั้ง รวมทั้งครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงกระทำในรัชสมัยของพระองค์ คือการสอบทานแก้ไขพระไตรปิฎก แล้ว จารลงในใบลานเป็นหลักฐาน โดยอาศัยหลักฐานจากวินัยปิฎกเล่ม ๗ พร้อมทั้งอรรถกถา จากหนังสือมหาวงศ์ สังคีติยวงศ์ และบทความของท่าน B. Jinahanda ในหนังสือ 2500 Years of Buddhism ซึ่งพิมพ์ในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษในอินเดียและหนังสืออื่นๆ อาจรวมการทำ สังคายนาและปัญหาเรื่องการนับครั้งเป็นหัวข้อได้ดังนี้

๑. การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไป

            คือสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งทำในอินเดีย อันเป็นของฝ่ายเถรวาท กับอีกครั้งหนึ่งในอินเดียภาคเหนือ ซึ่งพระเจ้ากนิษกะทรงอุปถัมภ์ อันเป็นสังคายนาผสม รวมเป็น ๔ ครั้ง แต่ฝ่ายเถรวาทมิได้รับรู้ในการสังคายนาครั้งที่ ๔ นั้น เพราะการ สืบสายศาสนานั้นแยกกันคนละทาง ตลอดจนภาษาที่รับรองคัมภีร์ทางศาสนาก็ใช้ต่างกัน คือเถรวาทหรือศาสนาพุทธแบบที่ไทย พม่า ลังกา เขมร ลาว นับถือใช้ภาษาบาลี ส่วนของฝ่ายมหายาน หรือศาสนาพุทธแบบที่ญี่ปุ่น จีน ทิเบต ญวนและเกาหลีนับถือ ใช้ภาษาสันสกฤต การสังคายนาครั้งที่ ๑ กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต ใกล้กรุง ราชคฤห์ ประเทศอินเดีย พระมหากัสสปเถระเป็นประธานและเป็นผู้สอบถาม พระอุบาลีเป็นผู้ตอบข้อซักถามทางวินัย พระอานนท์เป็นผู้ตอบข้อซักถามทางธรรม มีพระอรหันต์ประชุมกัน ๕๐๐ รูป กระทำอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ สังคายนาครั้งนี้ กระทำภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้วได้ ๓ เดือน
               การสังคายนาครั้งที่ ๒ กระทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย พระยสะ กากัณฑกบุตร เป็นผู้ชักชวนพระเถระที่เป็นผู้ใหญ่ร่วมมือในการนี้ มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๗๐๐ รูป กระทำอยู่ ๘ เดือนจึงแล้วเสร็จ สังคายนาครั้งนี้กระทำภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๑๐๐ ปี
            การสังคายนาครั้งที่ ๓ กระทำที่อโศการาม กรุงปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย พระโมคคลี บุตรติสสเถระเป็นหัวหน้า มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๑,๐๐๐ รูป กระทำอยู่ ๙ เดือนจึงแล้วเสร็จ สังคายนาครั้งนี้กระทำหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๒๓๔ ปี เมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้วก็ ได้ส่งคณะฑูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ รวมทั้งพระมหินทเถระ ผู้เป็นโอรส พระเจ้าอโศก มหาราช ได้นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในลังกาเป็นครั้งแรก
         การสังคายนาครั้งที่ ๔ เป็นการสังคายนาผสมระหว่างนิกายสัพพัตถิกวาทกับฝ่าย มหายาน กระทำกันในอินเดียภาคเหนือ ด้วยความอุปถัมภ์ของพระเจ้ากนิษกะ ประมาณ พ.ศ. ๖๔๓ ณ เมืองชาลันธร แต่หลักฐานเรื่องสถานที่ และรายละเอียดอื่นๆ นั้น ปรากฏหลักฐาน ในที่ต่างๆ ไม่ตรงกัน รวมทั้งเหตุของการสังคายนาด้วย เช่น บางแห่งกล่าวว่าสังคายนาครั้งนี้ไม่เป็นการสังคายนา แต่เป็นการประชุมเพื่อให้มาโต้แย้งกับภิกษุเฮี่ยนจัง

๒. การนับครั้งสังคายนาของลังกา

            หลังจากการสังคายนาครั้งที่ ๓ พระมหินทเถระ ก็เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาใน ลังกา และในปี พ.ศ. ๒๓๘ ก็ได้ทำสังคายนาในลังกา นับเป็นสังคายนาครั้งแรกในลังกา เหตุผลที่ อ้างในการทำสังคายนาครั้งนี้ก็คือ เพื่อให้พระศาสนาตั้งมั่น แต่เพราะการสังคายนาครั้งนี้ห่างจาก ครั้งที่ ๓ ในอินเดีย ประมาณ ๓-๔ ปี บางมติจึงไม่ยอมรับเป็นสังคายนาลังกา ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเช่นเดียวกับประเทศไทย ได้รับรองการสังคายนาทั้ง ๓ ครั้งแรกใน อินเดีย แต่ไม่รับรองสังคายนาครั้งที่ ๔ การสังคายนาครั้งที่ ๒ ในลังกา กระทำเมื่อ พ.ศ. ๔๓๓ เพื่อจารึกพระพุทธวจนะลงใน ใบลาน มีจารึกว่าสังคายนาครั้งนี้กระทำที่อาโลกเลณสถาน ณ มตเลชนบท การสังคายนาครั้งนี้ได้ รับการรับรองโดยมติทั่วไป การสังคายนาครั้งที่ ๓ ในลังกา กระทำเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ ที่รัตนปุระ ในลังกา การ สังคายนาครั้งนี้ น่าจะไม่มีใครรู้กันมากนัก นอกจากเป็นบันทึกของชาวลังกาเอง

๓. การนับสังคายนาของพม่า

            การสังคายนาครั้งแรกในพม่า ต่อจากสังคายนาของลังกาที่จารึกลงในใบลาน สังคายนา ครั้งแรกของพม่านี้มีการจารึกพระไตรปิฎกลงบนแผ่นหินอ่อน ๗๒๙ แผ่น ณ เมืองมันดเล ด้วย การอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง ใน พ.ศ. ๒๔๑๔ มีพระสงฆ์และพระอาจารย์ผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมร่วมประชุม ๒,๔๐๐ ท่าน กระทำอยู่ ๕ เดือนจึงสำเร็จ
            สังคายนาครั้งที่ ๒ ในพม่า หรือที่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ ๖ เริ่มใน พ.ศ. ๒๔๙๗ และ สำเร็จใน พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยปิดงานร่วมกับการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ การสังคายนาครั้งนี้มุ่ง พิมพ์พระไตรปิฎกเป็นข้อแรก แล้วจะจัดพิมพ์อรรถกถาและคำแปลเป็นภาษาพม่าโดยลำดับ เมื่อเสร็จแล้ว ได้แจกจ่ายพระไตรปิฎกฉบับอักษรพม่าไปในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

๔. การนับสังคายนาของไทย

            การสังคายนาในประเทศไทยซึ่งเรานับว่าเป็นครั้งที่ ๘ ในประวัติการสังคายนานั้น กระทำ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ โดยพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ได้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงไตรปิฎกหลาย ร้อยรูป ให้ช่วยชำระอักษรพระไตรปิฎกในวัดโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) เป็นเวลา ๑ ปี
            การสังคายนาครั้งที่ ๙ หรือครั้งที่ ๒ ในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงอาราธนาพระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตาจารย์อุบาสก ๓๒ คน ชำระพระไตรปิฎกสำเร็จใน ๕ เดือน

๕. การสังคายนาของฝ่ายมหายาน

            ตามหนังสือพุทธประวัติและประวัติสังฆมณฑลสมัยแรกตามฉบับของทิเบต ซึ่งชาวต่าง ประเทศได้แปลไว้เป็นภาษาอังกฤษสรุปได้ว่า ฝ่ายมหายานได้รับรองการสังคายนา ครั้งที่ ๑ และ ครั้งที่ ๒ ในอินเดียตามที่ได้กล่าวมาแล้วร่วมกัน โดยเหตุที่คัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มักจะมีอะไรต่ออะไรต่างออกไปจากของเถรวาท เมื่อเกิดมีปัญหาว่าคัมภีร์เหล่านั้นมีมาอย่างไร ก็ มักจะมีคำตอบว่า มีการสังคายนาของฝ่ายมหายาน คัมภีร์เหล่านั้นเกิดขึ้นจากผู้ที่สังคายนาซึ่งเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิได้รู้ได้ฟังมาคนละสายกับฝ่ายเถรวาท ซึ่งมักจะพาดพิงไปถึงสังคายนาครั้งที่ ๑ และ ครั้งที่ ๒ คือมีคณะสงฆ์อีกฝ่ายหนึ่งทำสังคายนาแข่งขันกับอีกฝ่ายหนึ่ง คือ
 
           ๑. เมื่อมีการสังคายนาครั้งแรกที่พระมหากัสสปเป็นประธาน กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์นั้น มีคำกล่าวของฝ่ายมหายานว่า ภิกษุทั้งหลายผู้มิได้รับเลือก ให้กระทำหน้าที่สังคายนาซึ่งมีพระมหากัสสสปเป็นประธาน ได้ประชุมกันทำสังคายนาขึ้นอีกส่วน หนึ่ง เรียกว่า สังคายนานอกถ้ำ และโดยเหตุที่ภิกษุผู้ทำสังคายนานอกถ้ำมีจำนวนมาก จึงเรียกอีก อย่างหนึ่งว่า สังคายนามหาสังฆิกะ คือของสงฆ์หมู่ใหญ่ แต่หลักฐานของการสังคายนา “นอกถ้ำ” ครั้งที่ ๑ นี้น่าจะเป็นการกล่าวสับสนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับการสังคายนาครั้งที่ ๒ หรือนัยหนึ่ง เอาเหตุการณ์ในสังคายนาครั้งที่ ๒ ไปเป็นครั้งที่ ๑ คือ

            ๒. การสังคายนาของมหาสังฆิกะ มีเรื่องเล่าว่า เมื่อภิกษุวัชชีบุตร ถือวินัยย่อหย่อน ๑๐ ประการ และพระยสะ กากัณฑกบุตร ได้ชักชวนคณะสงฆ์มาร่วมกันทำสังคายนา ในขณะเดียวกัน พวกภิกษุวัชชีบุตร ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ก็ได้เรียกประชุมสงฆ์ถึง ๑๐,๐๐๐ รูป ทำสังคายนาของ ตนเองที่เมืองกุสุมปุระ (ปาตลีบุตร) ให้ชื่อว่ามหาสังคีติ คือ มหาสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดนิกาย มหาสังฆิกะ ซึ่งแม้จะยังไม่นับว่าเป็นมหายานโดยตรง แต่ก็นับได้ว่าเป็นเบื้องต้นแห่งการแตกแยก จากฝ่ายเถรวาท มาเป็นมหายานในกาลต่อมา

สรุปเวลาที่เกิดการสังคยนา

สังคายนาครั้งที่ ๑ ประมาณ พ.ศ. ๑
สังคายนาครั้งที่ ๒ ประมาณ พ.ศ. ๑๐๐
สังคายนาครั้งที่ ๓ ประมาณ พ.ศ. ๒๓๔
สังคายนาครั้งที่ ๔ ประมาณ พ.ศ. ๖๔๓

การชำระและจารึกกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย

            สมัยที่ ๑ ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่เมืองเชียงใหม่ สมัยพระเจ้าติโลกราช ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐ ใช้เวลา ๑ ปี จึงสำเร็จ เมื่อทำการฉลองสมโภชแล้วก็ได้ให้สร้างมณเฑียร ในวัดโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎก ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ตัวอักษรที่ใช้ใน การจารึกพระไตรปิฎกในครั้งนั้นคงเป็นอักษรแบบไทยลานนาคล้ายอักษรพม่า มีผิดเพี้ยนกันบ้าง และพอเดาออกเป็นบางตัว

            สมัยที่ ๒ ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่กรุงเทพฯ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ (คือวัด มหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ในปัจจุบัน) สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๓๐ ใช้เวลา ๑ ปี จึงสำเร็จ พระองค์ทรงสละพระราชทรัพย์จ้างช่างจารจารึกพระไตร ปิฎกลงในใบลาน และให้แปลฉบับอักษรลาวอักษรมอญ เป็นอักษรขอม สร้างใส่ตู้ไว้ในหอมณเฑียรธรรม และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ไว้ทุกพระอารามหลวง นอกจากนั้น ยังทรง ให้ช่างปิดทองแท่งทับทั้งใบปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้นเรียกว่าฉบับทอง ห่อด้วยผ้ายก เชือกรัด ถักด้วยไหมแพรเบญจพรรณ มีฉลากงาแกะเขียนอักษรด้วยหมึกและฉลากทอเป็นตัวอักษรบอก ชื่อพระคัมภีร์ทุกคัมภีร์

            สมัยที่ ๓ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๓๖ สาระสำคัญที่ได้กระทำ คือ คัดลอกตัวขอมในคัมภีร์ใบลานเป็นตัวไทย แล้วชำระแก้ไข และพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มหนังสือรวม ๓๙ เล่ม

            สมัยที่ ๔ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๓ เรียกว่าพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ มีข้อที่พึงกล่าวถึงดังนี้
ได้ใช้เครื่องหมายและอักขรวิธีตามแบบของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งทรงคิดขึ้นใหม่
พิมพ์ ๑,๕๐๐ จบ พระราชทานในพระราชอาณาจักร ๒๐๐ จบ พระราชทานในนานาประเทศ ๔๕๐ จบ เหลืออีก ๘๕๐ จบ พระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์ขอรับหนังสือพระไตรปิฎก
การพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้ นับว่าได้เพิ่มเติมส่วนที่ยังขาดอยู่ให้สมบูรณ์
ผลของการที่ส่งพระไตรปิฎกไปต่างประเทศ ทำให้มีผู้พยายามอ่านอักษรไทย เพื่อสามารถอ่าน พระไตรปิฎกฉบับไทยได้ เช่น พระญาณติโลกเถระ ชาวเยอรมัน ที่ได้ชมเชยไว้ว่า ฉบับพระไตรปิฎกของไทยสมบูรณ์กว่าฉบับพิมพ์ด้วยอักษรโรมันของสมาคมบาลีปกรณ์ในอังกฤษเป็นอันมาก
ในการพิมพ์ครั้งนี้ ได้ทำอนุกรมต่างๆ ไว้ท้ายเล่มเพื่อสะดวกในการค้น แม้จะไม่สมบูรณ์แต่ก็มี ประโยชน์มาก


คัมภีร์นิสสัคคิยปาจิตติยวัณณนา (ทุติย) สมันตัปปาสาทิกา วินยัฎฐกถา ฉบับทองชุบ ไม้ประกับลายกำมะลอ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

===============================================

ลำดับคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

๑. คัมภีร์ดั้งเดิมคือบาลี

เดิมพระพุทธพจน์อยู่ในลักษณะการจำแล้วบอกกันต่อๆ มา เมื่อมีการจารึกลงในใบลานจึงเกิดคัมภีร์ขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่ากันว่า บาลีพระไตรปิฎกซึ่งรวบรวมไว้ดังนี้ (ดูหน้าถัดไป)

คัมภีร์ทั้งหมดนี้เรียกว่าคัมภีร์ดั้งเดิม (Original Pali) หรือบางทีเรียกว่าบาลีพุทธวจนะ (Canon)

๒. คำอธิบายพระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้น ๒ เรียกว่า อรรถกถา หรือ วรรณนา (Commentaries)

ซึ่งมีทั้งอรรถกถาพระวินัยปิฎก อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก และอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก และอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ที่อธิบายต่อเนื่องกันจนตลอดก็มี ที่อธิบายเฉพาะคัมภีร์ๆ ก็มีเช่น

สมันตปาสาทิกา  อรรถกถาประกอบ   พระวินัย
สุมังคลวิลาสินี               “             ทีฆนิกาย
ปปัญจสูทนี                   “             มัชฌิมนิกาย
สารัตถปกาสินี                “             สํยุตตนิกาย
มโนรถปูรณี                   “             อังคุตตรนิกาย
ปรมัตถโชติกา                “             ขุททกนิกาย
ธัมมปทัฏฐกถา               “             ขุททกนิกาย
ปรมัตถทีปนี                  “              ขุททกนิกาย
ชาตกัฏฐกถา                 “              ขุททกนิกาย
สัทธัมมปัชโชติกา           “             ขุททกนิกาย
สัทธัมมปกาสินี              “              ขุททกนิกาย
วิสุทธชนวิลาสินี            “              ขุททกนิกาย
มธุรัตถวิลาสินี               “              ขุททกนิกาย
อัฏฐสาลินี                    “              ธัมมสังคณี
สัมโมหวิโนทนี              “              วิภังค์
ปัญจปกรณัฏฐกถา          “              ธาตุกถาปัฏฐาน
(ปรมัตถทีปนี)

อธิบายอรรถกถา เรียกว่า ฎีกา (Sub-commentaries) เป็นหลักฐานชั้น ๓ ตัวอย่างเช่น

อธิบายสมันตปาสาทิกา เรียกว่า ฎีกาสารัตถทีปนี

ฎีกาอธิบาย พระอภิธรรม เรียกว่า อภิธัมมัตถวิภาวินี

อธิบายฎีกา เรียกว่า อนุฎีกา (Sub-sub-commentaries) เป็นหลักฐานชั้น ๔ เช่น อนุฎีกาวิมติวิโนทนี ของพระวินัย เป็นต้น

๓. นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์ที่แต่งขึ้นว่าด้วยกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์บาลี อธิบายศัพท์ต่างๆ รวมเรียกว่า สัททาวิเสส เป็นชื่อที่เรียกกันในวงการนักปราชญ์บาลีฝ่ายไทย ดังปรากฏในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เมื่อทำสังคายนาในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๓๑ เพื่อชำระพระไตรปิฎกนั้น ได้มีการชำระคัมภีร์สัททาวิเสสต่างๆ ด้วย โดยมี พระพุฒาจารย์ เป็นแม่กอง เช่นมูลกัจจายนปกรณ์ รูปสิทธิธาตุปทีปิกา อภิธานัปปทีปิกา และสูจิ เป็นต้น

พระไตรปิฎกเป็นของมีมาก่อน ส่วนอรรถกถาแต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. ๙๕๖ ส่วนฎีกาแต่งเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๕๘๗ คัมภีร์อนุฎีกานั้น แต่งขึ้นภายหลังฎีกายุคต่อๆ มาเป็นคำอธิบายฎีกาอีกต่อหนึ่ง

อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "แม้พระไตรปิฎกจะเป็นหลักฐานชั้น ๑ เมื่อพิจารณาตามหลักพุทธภาษิตในกาลามสูตร ท่านก็ไม่ให้ติดจนเกินไป ดังคำว่า มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าถือโดยอ้างตำรา เพราะอาจผิดพลาดตกหล่น หรือบางตอนอาจเพิ่มเติมขึ้น แสดงว่าพระพุทธศาสนาสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล สอบสวนดูให้เห็นประจักษ์แก่ใจตนเอง เป็นการสอนอย่างมีน้ำใจกว้างขวาง และให้เสรีภาพแก่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังเป็นการยืนยันให้นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อได้ประจักษ์ผลนั้นๆ ด้วยตนเอง แม้จะมีพระพุทธภาษิตเตือนไว้ มิให้ติดตำราจนเกินไป แต่ก็จำเป็นต้องรักษาตำราไว้ เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษา เพราะถ้าไม่มีตำราเลยจะยิ่งซ้ำร้าย เพราะจะไม่มีแนวทางให้รู้จักพระพุทธศาสนาเลย ฉะนั้น การศึกษาให้รู้และเข้าใจในพระไตรปิฎก จึงเป็นลำดับแรก เรียกว่า ปริยัติ การลงมือทำตามโดยควรแก่จิต อัธยาศัย เรียกว่าปฏิบัติ การได้รับผลแห่งการปฏิบัตินั้นๆ เรียกว่า ปฏิเวธ"


ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก

พระพรหมคุณากรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)


ก่อนจะพูดถึงพระไตรปิฎก ควรทำความเข้าใจกันก่อนว่า พระพุทธศาสนาคืออะไร

พระพุทธศาสนา ก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้า การที่เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็คือนับถือคำสอนของพระพุทธเจ้า ขอให้นึกย้อนหลังไปถึงสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าออกประกาศพระศาสนา ยังไม่มีพระพุทธศาสนา ท่านทั้งหลายที่มาเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า ก็คือต้องการมาฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเหตุที่ต้องการฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็จึงเป็นผู้ฟังที่เราเรียกว่าเป็นสาวก คำว่าสาวกนั้น ก็แปลว่าผู้ฟังนั่นเอง

เมื่อฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ไปปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ การฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วปฏิบัติตามนั้น ก็เป็นพระพุทธศาสนาอีก พระพุทธศาสนาจึงมีความหมายทั้งเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และการปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้น

ถึงความหมายขยายไกล ก็จับหัวใจพระพุทธศาสนาไว้ให้ได้

ต่อมาก็มีการจัดตั้งเป็นชุมชน เป็นสถาบัน เป็นองค์กร หมายความว่า คนมารวมกันเรียน มาฟังคำสั่งสอน ขยายออกไป เรียกว่าเล่าเรียนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็ปฏิบัติ ทำกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง เป็นจำนวนมาก ก็ต้องมีการจัดสรรดูแลต่างๆ เพื่อให้คนทั้งหลายที่มาอยู่รวมกันเพื่อวัตถุประสงค์อย่างนี้ ได้เรียนได้ฟัง แล้วก็ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างได้ผล การจัดสรรดูแลให้มีการเล่าเรียน สดับฟัง และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เรียกว่าเป็นพระพุทธศาสนาด้วย ความหมายของพระพุทธศาสนาก็เลยกว้างขวางออกไป

พอถึงขั้นจัดตั้ง การดูแลให้มีการเล่าเรียนและปฏิบัติ ก็เลยรวมไปถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาเป็นชุมชน เป็นองค์กร เป็นสถาบันหรืออะไรๆ ที่กว้างขวางออกไป ความหมายของพระพุทธศาสนาก็ขยายออกไป เป็นอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบันนี้ จนกระทั่งไปๆ มาๆ ก็เลยลืมไปเลย ไม่รู้ว่าตัวพระพุทธศาสนาคืออะไร อยู่ตรงไหน ถ้าไม่ทบทวนกันไว้ให้ดี ต่อไปก็จับไม่ถูก ว่าที่แท้นั้นพระพุทธศาสนาก็อยู่ที่จุดเริ่ม คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น จะต้องจับตัวพระพุทธศาสนาไว้ ให้อยู่ที่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ได้ ไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้ามีการปฏิบัติ มีการเชื่อถือกันไปมากมาย ใหญ่โต แต่เสร็จแล้วไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนา ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องแรกที่ต้องทำความเข้าใจก่อน เป็นอันว่า คนที่มาหาพระพุทธศาสนา ก็คือต้องการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราไม่เอาอะไรอย่างอื่น เราไม่ได้ต้องการคำสั่งสอนของคนอื่น เป็นต้นเมื่อเราต้องการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นสมัยพุทธกาล จะทำอย่างไร เราก็ไปฟังพระพุทธเจ้า ถ้าอยู่ในวัดเดียวกับพระองค์ ก็ไปหาไปเฝ้าพระองค์ ไปที่ธรรมสภาที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงธรรม ไปฟังพระองค์ หรือซักถามพระองค์ ทูลถามปัญหาต่าง ๆ ให้พระองค์ตรัสตอบให้ ถ้าอยู่ไกลก็เดินทางมา บางคนมาจากต่างประเทศ ขี่ม้า หรือว่านั่งเกวียน เดินทางกันมาเป็นวัน เป็นเดือน ก็เพียงเพื่อมาฟังพระพุทธเจ้าสั่งสอน

จุดเริ่มความคิดรวบรวมรักษาพระพุทธศาสนา ต้นแบบของการสังคายนา

ต่อมา พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระองค์จากเราไปแล้ว ถ้าเราต้องการพระพุทธศาสนา คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราจะเอาจากที่ไหน พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ถ้าไม่มีการรวบรวมบันทึกคำสั่งสอนของพระองค์ไว้ พระพุทธศาสนาก็เป็นอันว่าหมดสิ้น

ฉะนั้น เรื่องต่อไปนี้สำคัญมาก คือการรวบรวมและบันทึกจารึกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ ต่อจากนั้นก็นำสืบทอดกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน ว่าทำอย่างไร พวกเราเวลานี้จึงโชคดีที่มีโอกาสรู้จักพระพุทธศาสนาขอย้อนไปเล่าว่า แม้แต่เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระพุทธเจ้าเองและพระสาวกองค์สำคัญ โดยเฉพาะพระสารีบุตร ก็ได้คำนึงเรื่องนี้ไว้แล้วว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ถ้าไม่มีการรวบรวมประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ พระพุทธศาสนาก็จะสูญสิ้น ดังนั้น ทั้งๆที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็ได้มีการริเริ่ม เป็นการนำทางไว้ให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นหลังว่า ให้มีการรวบรวมคำสอนของพระองค์ ซึ่งเราเรียกว่าสังคายนา

สังคายนา ก็คือการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ แล้วทรงจำไว้เป็นแบบแผนอันเดียวกัน คือรวบรวมไว้เป็นหลัก และทรงจำถ่ายทอดสืบมาเป็นอย่างเดียวกัน ตัวอย่างในสมัยพุทธกาลก็มี เป็นพระสูตรหนึ่งเลยตอนนั้นก็ปลายพุทธกาลแล้ว นิครนถนาฏบุตรผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนได้สิ้นชีวิตลง สาวกของท่านไม่ได้รวบรวมคำสอนไว้ และไม่ได้ตกลงกันไว้ให้ชัดเจน ปรากฏว่าเมื่อศาสดาของศาสนาเชนสิ้นชีวิตไปแล้ว สาวกลูกศิษย์ลูกหาก็แตกแยกทะเลาะวิวาทกันว่า ศาสดาของตนสอนว่าอย่างไร

ครั้งนั้น ท่านพระจุนทเถระได้นำข่าวนี้มากราบทูลแด่พระพุทธเจ้า และพระองค์ได้ตรัสแนะนำให้พระสงฆ์ทั้งปวงร่วมกันสังคายนาธรรมทั้งหลายไว้เพื่อให้พระศาสนาดำรงอยู่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน (ที.ปา.๑๑/๑๐๘/๑๓๙)เวลานั้น พระสารีบุตรอัครสาวกยังมีชีวิตอยู่ คราวหนึ่งท่านปรารภเรื่องนี้แล้วก็กล่าวว่า ปัญหาของศาสนาเชนนั้นเกิดขึ้นเพราะว่าไม่ได้รวบรวมร้อยกรองคำสอนไว้ เพราะฉะนั้นพระสาวกทั้งหลายทั้งปวงของพระพุทธเจ้าของเรานี้ ควรจะได้ทำการสังคายนา คือรวบรวมร้อยกรองประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ให้เป็นหลัก เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อปรารภเช่นนี้แล้วพระสารีบุตรก็ได้แสดงวิธีการสังคายนาไว้เป็นตัวอย่าง โดยท่านได้รวบรวมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นข้อธรรมต่างๆ มาแสดงตามลำดับหมวด ตั้ง




บันทึกการเข้า
เด็กหน้าวัด
เด็กใหม่
นักบุญผู้ใจดี
*****

พลังความดี : 696


เพศ: ชาย
กระทู้: 13280
สมาชิก ID: 1


« ตอบ #1 เมื่อ: สิงหาคม 19, 2010, 04:48:56 PM »

Permalink: Re: พระไตรปิฎก
หลักธรรมที่พระสารีบุตรได้แสดงไว้นี้ จัดเป็นพระสูตรหนึ่งเรียกว่าสังคีติสูตร แปลง่ายๆ ว่าพระสูตรว่าด้วยการสังคายนา หรือสังคีติ นี้เป็นตัวอย่างที่พระอัครสาวกสูงสุด คือพระสารีบุตรได้กระทำไว้ แต่ท่านพระสารีบุตรเอง ได้ปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วก็เป็นอันว่าพระสารีบุตรไม่ได้อยู่ที่จะทำงานนี้ต่อ แต่ก็มีพระสาวกผู้ใหญ่ที่ได้ดำเนินงานนี้ต่อมาโดยไม่ได้ละทิ้ง กล่าวคือพระมหากัสสปเถระ ซึ่งตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น เป็นพระสาวกผู้ใหญ่ มีอายุพรรษามากที่สุด

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน งานรักษาพระพุทธศาสนาก็เริ่มทันที

พระมหากัสสปเถระนั้นทราบข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วได้ ๗ วัน ขณะที่ท่านกำลังเดินทางอยู่พร้อมด้วยหมู่ลูกศิษย์จำนวนมาก เมื่อได้ทราบข่าวนั้น ลูกศิษย์ของพระมหากัสสปะจำนวนมากซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ได้ร้องไห้คร่ำครวญกัน ณ ที่นั้นก็มีพระภิกษุที่บวชเมื่อแก่องค์หนึ่ง ชื่อว่าสุภัททะ ได้พูดขึ้นมาว่า ท่านทั้งหลายจะร้องไห้กันไปทำไม พระพุทธเจ้าปรินิพพานนี้ก็ดีไปอย่าง คือว่า ตอนที่พระองค์ยังอยู่นั้น พระองค์ก็คอยดูแล คอยกวดขัน ตรัสห้ามไม่ให้ทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ แนะนำให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ พวกเราก็ลำบาก ต้องคอยระมัดระวังตัว ทีนี้ พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วนี่ พวกเราคงจะทำอะไรได้ตามชอบใจ ชอบอะไรก็ทำ ไม่ชอบอะไรก็ไม่ทำ

พระมหากัสสปเถระได้ฟังคำนี้แล้ว ก็นึกคิดอยู่ในใจ แต่ไม่ได้กล่าวออกมา คือท่านนึกคิดว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปใหม่ๆ แค่นี้ ก็ยังมีคนคิดที่จะทำให้เกิดความแปรปรวน หรือประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัย ท่านก็เลยคิดว่าควรจะทำการสังคายนา

ท่านวางแผนไว้ในใจว่าจะชักชวนพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีอยู่สมัยนั้น ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตรงเป็นผู้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ รู้ว่าอะไรเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า จะชวนให้มาประชุมกัน มาช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวม ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วตกลงวางมติไว้ ก็คือคิดว่าจะทำสังคายนา

แต่เฉพาะเวลานั้น ท่านต้องเดินทางไปที่ปรินิพพาน และจัดการเรื่องการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระให้เสร็จเสียก่อน ท่านจึงเดินทางไปยังเมืองกุสินารา แล้วก็เป็นประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ในพระราชูปถัมภ์ของกษัตริย์มัลละทั้งหลาย

เมื่องานจัดการเรื่องพระพุทธสรีระเสร็จแล้ว พระมหากัสสปเถระก็ดำเนินงานตามที่ท่านได้คิดไว้ คือได้ชักชวนนัดหมายกับพระอรหันต์ผู้ใหญ่ เพื่อจะทำการสังคายนา

ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องของงานใหญ่แห่งการสังคายนา ซึ่งมีการเตรียมการถึง ๓ เดือน ซึ่งได้ที่ประชุมที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ณ ภูเขาชื่อเวภาระ เมืองราชคฤห์ พระเจ้าแผ่นดินตอนนั้นทรงพระนามว่าอชาตศัตรู ซึ่งได้ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์การสังคายนา ตั้งแต่การจัดเตรียมสถานที่

เมื่อจะทำสังคายนา ก็มีการคัดเลือกตัวบุคคลที่จะเข้าร่วมประชุม จึงคัดเลือกได้พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ที่เห็นร่วมกันว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติ มีความรู้ความสามารถ เช่นเป็นหัวหน้าหมู่คณะ เป็นผู้ได้จำคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ได้มากและชัดเจน ในการประชุมนี้ พระมหากัสสปเถระทำหน้าที่เป็นประธาน โดยเป็นผู้ซักถาม

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าเองทรงแบ่งไว้เป็น ๒ ส่วน เรียกว่าธรรมส่วนหนึ่ง และวินัยส่วนหนึ่ง

ธรรม คือหลักคำสอนว่าด้วยความจริงของสิ่งทั้งหลาย พร้อมทั้งข้อประพฤติปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำตรัสแสดงไว้โดยสอดคล้องกับความจริงนั้น

ส่วนวินัย คือประมวลพุทธบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการเป็นอยู่ หรือกฎระเบียบต่างๆ ของสงฆ์ ที่จะดำรงไว้ซึ่งภาวะอันเกื้อหนุนให้ภิกษุและภิกษุณีประพฤติปฏิบัติตามธรรมนั้นอย่างได้ผลดี และรักษาพระศาสนาไว้ได้

ด้วยเหตุนี้จึงเรียกพระพุทธศาสนา ด้วยคำสั้นๆ ว่า ธรรมวินัย

ฝ่ายธรรมนั้น ผู้ที่ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา เพราะติดตามพระองค์ไป อยู่ใกล้ชิด เป็นผู้อุปัฏฐากของพระองค์ ก็คือพระอานนท์ ที่ประชุมก็ให้พระอานนท์เป็นผู้นำเอาธรรมมาแสดงแก่ที่ประชุม หรือเป็นหลักของที่ประชุมในด้านธรรม

ส่วนด้านวินัย พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระอุบาลีไว้ว่าเป็นเอตทัคคะ ที่ประชุมก็คัดเลือกพระอุบาลีให้มาเป็นผู้นำในด้านการวิสัชนาเรื่องของวินัย

ทั้งหมดนี้เราก็เรียกกันง่ายๆ ว่า สังคายนาพระธรรมวินัย

เมื่อได้ตัวบุคคลเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มประชุมกัน อย่างที่กล่าวแล้วว่า ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา โดยมีพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ เริ่มการประชุมเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้ ๓ เดือน การประชุมดำเนินอยู่เป็นเวลา ๗ เดือน จึงเสร็จสิ้น แสดงว่าเป็นงานที่ใหญ่มากเรื่องการทำสังคายนาครั้งแรกนี้ ท่านเล่าไว้ในพระไตรปิฎกด้วย ผู้ต้องการความละเอียดสามารถไปอ่านได้เอง (วินย.๗/๖๑๔-๖๒๘/๓๗๙-๓๙๔)

เมื่อสังคายนาพระธรรมวินัยก็ทำให้พระพุทธศาสนาเถรวาทเกิดขึ้นมา

วิธีการสังคายนา ที่เรียกว่าวิธีการร้อยกรองหรือรวบรวมพระธรรมวินัย หรือประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็คือ นำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาแสดงในที่ประชุม แล้วก็มีการซักถามกัน จนกระทั่งที่ประชุมลงมติว่าเป็นอย่างนั้นแน่นอน เมื่อได้มติร่วมกันแล้วในเรื่องใด ก็ให้สวดพร้อมกัน การสวดพร้อมกันนั้น แสดงถึงการลงมติร่วมกันด้วย และเป็นการทรงจำกันไว้อย่างนั้นเป็นแบบแผนต่อไปด้วยหมายความว่า ตั้งแต่นั้นไป คำสอนตรงนั้นก็จะทรงจำไว้อย่างนั้น เมื่อจบเรื่องหนึ่งก็สวดพร้อมกันครั้งหนึ่ง อย่างนี้เรื่อยไปใช้เวลาถึง ๗ เดือน

การสวดพร้อมกันนั้นเรียกว่า สังคายนา เพราะคำว่า “สังคายนา” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สังคีติ” แปลว่า สวดพร้อมกัน คายนา หรือคีติ (เทียบกับคีต ในคำว่าสังคีต) แปลว่าการสวด สํ แปลว่าพร้อมกันก็คือสวดพร้อมกัน สังคายนา ถ้าเป็นชาวบ้านก็ร้องเพลงพร้อมกัน

เป็นอันว่า ผ่านเวลาไป ๗ เดือน พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ก็ได้ทำสังคายนา ประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นมติร่วมกันได้เรียบร้อย คำสอนที่รวบรวมประมวลไว้นี้ เป็นที่มั่นใจ เพราะทำโดยท่านที่ได้ทันรู้ทันเห็นทันเฝ้าทันฟังจากพระพุทธ-เจ้าโดยตรง

คำสอนที่ลงมติกันไว้อย่างนี้ซึ่งเรานับถือกันมา เรียกว่า เถรวาท แปลว่า คำสอนที่วางไว้เป็นหลักการของพระเถระ คำว่าเถระในที่นี้ หมายถึงพระเถระผู้ประชุมทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่ว่าไปแล้วนี้

พระพุทธศาสนาซึ่งถือตามหลักที่ได้สังคายนาครั้งแรกดังกล่าวมานี้ เรียกว่าเถรวาท หมายความว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือพระธรรมวินัย ทั้งถ้อยคำและเนื้อความอย่างไรที่ท่านสังคายนากันไว้ ก็ทรงจำกันมาอย่างนั้น ถือตามนั้นโดยเคร่งครัด เพราะฉะนั้นจึงต้องรักษาแม้แต่ตัวภาษาเดิมด้วย หมายความว่ารักษาของแท้ของจริง ภาษาที่ใช้รักษาพระธรรมวินัยไว้นี้ เรียกว่าภาษาบาลี เพราะฉะนั้น คำสอนของเถรวาทก็รักษาไว้ในภาษาบาลีตามเดิม คงไว้อย่างที่ท่านสังคายนา

พระธรรมวินัยสำคัญเพียงใด จึงทำให้ต้องมีการสังคายนา

ธรรมวินัย หรือหลักคำสอนที่สังคายนาไว้นี่แหละ เป็นตัวพระพุทธศาสนา เพราะได้บอกแล้วว่า พระพุทธศาสนาก็คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็คือเรานับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติไปตามคำสั่งสอนนั้น พร้อมทั้งดูแลจัดสรรทำการต่างๆ เพื่อให้ชาวพุทธทั้งหลายได้เรียนรู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น การปฏิบัติอย่างนี้ก็เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าเองได้ตรัสไว้ คือเมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสไว้เองว่า พระองค์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งพระภิกษุสาวกองค์ใดให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ แต่พระองค์ตรัสไว้เป็นภาษาบาลีว่า โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา. (ที.ม.๑๐/๑๔๑/๑๗๘)แปลว่า : ดูกรอานนท์ ธรรมแลวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป

หมายความว่าพระพุทธเจ้าตรัสให้พระธรรมวินัย คือคำสั่งสอนของพระองค์นี้ เป็นศาสดาแทนพระองค์เพราะฉะนั้น การสังคายนาจึงถือว่าเป็นการปฏิบัติตามพุทธพจน์ ที่เหมือนกับได้ทรงฝากฝังสั่งเสียไว้ว่า ให้พระธรรมวินัย คือคำสั่งสอนของพระองค์เป็นศาสดาแทนพระองค์ด้วย เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ถ้าเราเคารพพระพุทธเจ้า เราก็ต้องรักษาพระธรรมวินัย ไว้ให้ดี เพราะการรักษาพระธรรมวินัยที่สังคายนาไว้ ก็คือรักษาพระศาสดาของเราไว้ คือรักษาพระพุทธเจ้าไว้นั่นเอง

พระธรรมวินัย มาอย่างไรจึงเป็นพระไตรปิฎก

ขอกล่าวต่อไปว่า การสังคายนาที่บอกเมื่อกี้ว่าเป็นการประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ หรือประมวลพระธรรมวินัยไว้นั้น นอกจากประมวลคือรวมมาแล้ว ก็มีการจัดหมวดหมู่ไป ด้วย การจัดหมวดหมู่นั้นก็เพื่อให้ทรงจำได้สะดวก และง่ายต่อการแบ่งหน้าที่กันในการรักษา กับทั้งเกื้อกูลต่อการศึกษาค้นคว้าด้วย

นอกจากแบ่งโดยส่วนใหญ่เป็นธรรมกับวินัยแล้ว ก็ยังมีการจัดแยกซอยย่อยออกไปอีก

ธรรมนั้น แยกย่อยออกไปเป็น ๒ ส่วน เพราะธรรมนั้นมากมายเหลือเกิน ต่างจากวินัยซึ่งมีขอบเขตแคบกว่า เพราะวินัยเป็นเรื่องของบทบัญญัติเกี่ยวกับการรักษาสังฆะ คือคณะสงฆ์ไว้ เพื่อให้ชุมชนแห่งพระภิกษุ และพระภิกษุณี ดำรงอยู่ด้วยดี แต่ธรรมเป็นคำสอนที่ครอบคลุมพระพุทธศาสนาทั้งหมด สำหรับพุทธบริษัททั้ง ๔ เนื่องจากธรรมมีมากมาย จึงมีการแบ่งหมวดหมู่ออกไปอีก โดยแยกเป็นว่า

๑. ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไปตามกาลเทศะ ตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น คือเสด็จไปพบคนโน้น เขาทูลถามเรื่องนี้ พระองค์ก็ตรัสตอบไป เสด็จไปพบชาวนา ทรงสนทนาโต้ตอบกับเขา จนจบไป ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เสด็จไปเจอกับพราหมณ์ ได้สนทนากับเขา หรือตอบคำถามของเขา ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไปเจอกษัตริย์หรือเจ้าชาย ก็สนทนากันอีกเรื่องหนึ่ง ธรรมที่ตรัสแสดงแก่บุคคลต่างๆ ในสถานการณ์ต่างๆ แต่ละเรื่องๆ จบไปเรื่องหนึ่งๆ นี่ เรียกว่าสูตรหนึ่งๆ

ธรรมมาในรูปนี้มากมาย เรื่องหนึ่งๆ ก็มีสาระไปอย่างหนึ่ง ตามแต่ว่าพระองค์ได้ตรัสแก่บุคคลประเภทใด เพื่อทรงชี้แจงอธิบายหรือตอบปัญหาเรื่องไหน ตรงกับพื้นเพภูมิหลังความสนใจ และระดับความรู้ความเข้าใจหรือระดับสติปัญญาของเขา ฉะนั้นธรรมแบบนี้จึงเห็นได้ว่ามีเนื้อหาแตกต่างกันมาก พอจบเรื่องนี้ที่ตรัสแก่ชาวนา ซึ่งเป็นธรรมระดับหนึ่ง เพียงเปลี่ยนไปอีกเรื่องหนึ่งเท่านั้น ก็เป็นธรรมคนละด้านคนละระดับกันเลย

ตัวอย่างเช่นตรัสกับชาวนา เป็นเรื่องการทำมาหากิน หรือเรื่องการหว่านพืช ก็อาจจะตรัสเกี่ยวกับความขยันหมั่นเพียร หรืออาจจะเทียบกับการปฏิบัติของพระภิกษุก็สุดแต่ แต่พอไปอีกเรื่องหนึ่ง พระองค์สนทนากับพราหมณ์ ก็อาจจะตรัสเรื่องวรรณะ หรือเรื่องไตรเพทของพราหมณ์ หรือเรื่องการบูชายัญ ดังนี้เป็นต้น

ธรรมที่ตรัสแบบนี้ พอเปลี่ยนเรื่องไป เนื้อหาก็เปลี่ยนไป ห่างกันมาก ฉะนั้นเนื้อหาสาระจึงไม่ไปตามลำดับ แต่ละเรื่องๆ นั้นก็เรียกว่าสูตรหนึ่งๆ ธรรมที่ตรัสแสดงแบบนี้ คือตรัสแสดงแก่บุคคล โดยปรารภเรื่องราว เหตุการณ์ สถานการณ์คนละอย่างๆ นี้ รวมไว้ด้วยกัน จัดไว้พวกหนึ่ง เรียกว่า พระสูตร

๒. ธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือธรรมที่แสดงไปตามเนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือเหตุการณ์ ไม่คำนึงว่าใครจะฟังทั้งสิ้น เอาแต่เนื้อหาเป็นหลัก อย่างที่เรียกกันในปัจจุบันว่าเป็นวิชาการล้วนๆ คือยกหัวข้อธรรมอะไรขึ้นมา ก็อธิบายให้ชัดเจนไปเลย เช่นยกเรื่องขันธ์ ๕ มา ก็อธิบายไปว่าขันธ์ ๕ นั้น คืออะไร แบ่งออกเป็นอะไรบ้าง แต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไรๆ อธิบายไปจนจบเรื่องขันธ์ ๕ หรือว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็อธิบายไปในแง่ด้านต่างๆ จนกระทั่งจบเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้น ธรรมที่แสดงเอาเนื้อหาเป็นหลักอย่างนี้ ก็จัดเป็นประเภทหนึ่ง เรียกว่า พระอภิธรรม ส่วนวินัยก็ยังคงเป็นวินัยอยู่เท่านั้น เรียกกันว่า พระวินัย

ตอนนี้จะเห็นว่า เมื่อแยกธรรมเป็น ๒ ส่วน คือเป็นพระสูตรกับอภิธรรม แล้วมีวินัยเดิมอีกหนึ่ง ธรรมเป็น ๒ วินัย ๑ รวมกันก็เป็น ๓ ถึงตอนนี้ก็เกิดเป็นการจัดหมวดหมู่พระธรรมวินัยอีกแบบหนึ่ง เป็นปิฎก ๓ ที่เรียกว่า พระไตรปิฎกปิฎก แปลว่าตะกร้า หรือกระจาด โดยมีความหมายเชิงเปรียบเทียบว่าเป็นที่รวบรวม เพราะกระจาด ตะกร้า กระบุง บุ้งกี๋นั้น เป็นที่รวบรวมทัพสัมภาระ ในที่นี้ก็คือรวบรวมจัดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นประเภทๆ เป็นหมวดๆ จึงเป็น ๓ ปิฎก เรียกว่า ไตรปิฎก คือ

๑. พระวินัยปิฎก เป็นที่รวบรวมพระวินัย ซึ่งประกอบด้วยกฎเกณฑ์กติกา สำหรับรักษาภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ไว้

๒. พระสุตตันปิฎก เป็นที่รวบรวมพระสูตรทั้งหลาย คือธรรมที่ตรัสแสดงแก่บุคคล หรือปรารภเหตุการณ์หรือสถานการณ์อะไรบางอย่าง เป็นแต่ละเรื่องๆ ไป

๓. พระอภิธรรมปิฎก เป็นที่รวบรวมคำอธิบายหลักคำสอน ที่เป็นเนื้อหาสาระ เป็นหลักการแท้ๆ หรือเป็นวิชาการล้วนๆ

พระไตรปิฎกสำคัญเพียงใด

เมื่อพูดมาถึงขั้นนี้ก็รวมความได้ว่า พระไตรปิฎก ก็คือที่รวบรวมพระธรรมวินัย คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าเป็นพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า นี่แหละคือศาสดาของชาวพุทธทั้งหลาย เราจึงได้ถือกันมาเป็นหลักว่า จะต้องรักษา แล้วก็เล่าเรียน และปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระไตรปิฎกนี้ พร้อมกันนั้นก็ใช้คำสั่งสอน คือพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกนี้แหละ เป็นหลักเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการตัดสินความเชื่อถือและการประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายว่า เป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามที่ได้รวบรวมประมวลสังคายนาและรักษาสืบต่อไว้ในพระไตรปิฎก หรือคลาดเคลื่อนจากนั้น ก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนา ถ้าถูกต้องตามนั้นก็เป็นพระพุทธศาสนา

สิ่งที่เราเล่าเรียนปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นด้านวินัยของพระภิกษุสงฆ์ เช่น การบวช การมีโบสถ์ การสร้างกุฏิ การกรานกฐิน และสังฆกรรมต่างๆ การใช้ไตรจีวรของพระภิกษุ การที่พระภิกษุทำอะไรได้หรือไม่ได้ การที่จะต้องอาบัติต่างๆ มีปาราชิกเป็นต้น หรือการที่ชาวบ้านจะทำบุญทำทาน คำว่าทานก็ดี คำว่าบุญก็ดี เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา ไตรสิกขา ภาวนาต่างๆ ขันธ์ ๕ ไตรลักษณ์ อริยสัจจ์ ตลอดถึงพระนิพพาน ก็ล้วนมาจากพระไตรปิฎกทั้งนั้น ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก เราก็ไม่รู้จักถ้อยคำเหล่านี้เลย และพระภิกษุก็ไม่มีมาตรฐานที่จะวัดว่าตัวประพฤติปฏิบัติอย่างไรถูก อย่างไรผิด อะไรเป็นอาบัติปาราชิก อะไรเป็นอาบัติสังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์

ไม่มีพระไตรปิฎกเสียอย่างเดียว เป็นอันหมดสิ้น คือหมดสิ้นพระพุทธศาสนานั่นเอง

เป็นอันว่าเมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เราก็ฟังคำสั่งสอนของพระองค์จากพระพุทธเจ้าโดยตรง แต่เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เราต้องการพระพุทธศาสนา คือ ต้องการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไปเอาจากที่ไหน ก็ต้องไปเอาจากที่ท่านรวบรวมประมวลไว้ ซึ่งถ่ายทอดสืบต่อกันมาในพระไตรปิฎก เพราะพระไตรปิฎกเป็นที่รักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาไว้ หรือรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้

พระไตรปิฎกยุคท่องจำ แม่นยำแค่ไหน

ทีนี้การรักษาสืบต่อพระไตรปิฎกนั้นท่านทำกันมาอย่างไร เรื่องนี้ต้องแบ่งเป็น ๒ ยุค คือ

๑. ยุคที่สืบต่อมาด้วยการทรงจำด้วยปากเปล่า เรียกว่ามุขปาฐะหรือมุขปาฐ และ

๒. ยุคที่ได้จารึกเป็นตัวอักษร เช่นในใบลาน เป็นต้น

ช่วงแรก เป็นยุคของการรักษาไว้ด้วยการทรงจำ โดยสวด หรือสาธยาย แต่ก่อนนี้อาตมาเองก็เคยสงสัย เหมือนหลายคนสงสัยว่า เมื่อรักษาด้วยการทรงจำ ก็น่ากลัวว่าจะมีการคลาดเคลื่อนเลอะเลือนหลงลืมไป แต่เมื่อเวลาผ่านมา ได้พิจารณาไตร่ตรอง และได้เห็นหลักฐานและหลักการต่างๆ ก็กลายเป็นว่า การรักษาด้วยการท่อง โดยสวดแล้วทรงจำไว้นั่นแหละ เป็นวิธีที่แม่นยำยิ่งกว่ายุคที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษร

ที่ว่าอย่างนั้นเพราะอะไร? เพราะว่าการท่อง ที่จะทรงจำพระไตรปิฎก หรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า ธรรมวินัยนั้น ท่านทำด้วยวิธีสวดพร้อมกัน คือ คล้ายกับที่เราสวดมนต์กันทุกวันนี้แหละ เวลาสวดมนต์พร้อมกัน เช่นสวดกัน ๑๐ คน ๒๐ คน ๕๐ คน ๑๐๐ คนนั้น จะต้องสวดตรงกันหมดทุกถ้อยคำ จะตกหล่นตัดขาดหายไปก็ไม่ได้ จะเพิ่มแม้คำเดียวก็ไม่ได้ เพราะจะขัดกัน ดีไม่ดีก็สวดล้มไปเลย เพราะฉะนั้น การที่จะสวดโดยคนจำนวนมากๆ ให้เป็นไปด้วยดี ให้สอด คล้องกลมกลืนกัน ก็จะต้องสวดเหมือนกันหมด ท่านจึงรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ด้วยวิธีนี้ คือทรงจำพระไตรปิฎกด้วยวิธีสวดพร้อมกันจำนวนมากๆ

พระสงฆ์ทั้งหลายนั้นท่านเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎก เพราะรู้อยู่ว่า นี้แหละคือพระพุทธศาสนา ถ้าหมดพระไตรปิฎกเมื่อไร พระพุทธศาสนาก็หมดไปเมื่อนั้น ถ้าพระไตรปิฎกเคลื่อนคลาดไป พระพุทธศาสนาก็เคลื่อนคลาดไปด้วย พระเถระรุ่นก่อนนั้น ถือความสำคัญของพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในยุคที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ก็ต้องถึงกับพูดกันว่า อักษรจารึกพระธรรมของพระพุทธเจ้านี้ อักษรเดียวมีค่าเท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้ามองในแง่บวก ก็คือว่าต้องช่วยกันรักษาไว้ให้ดี แม้แต่จารึกหรือสนับสนุนการจารึกเพียงนิดหน่อยก็เป็นบุญเป็นกุศลมาก แต่มองในแง่ลบก็คือ ถ้าใครไปทำให้ผิดพลาด แม้แต่อักษรเดียว ก็เหมือนทำลายพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เป็นบาปมาก นี่แหละ ท่านให้ความสำคัญถึงอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระเถระรุ่นก่อน ท่านจึงระวังมากในเรื่องการรักษาทรงจำพระไตรปิฎกไม่ให้ผิดเพี้ยน รวมความว่า

๑. มีความระมัดระวังเห็นเป็นสำคัญมาก เพราะถือว่าเป็นตัวพระพุทธศาสนา

๒. ถือเป็นงานของส่วนรวม โดยเฉพาะพระเถระผู้ใหญ่ ผู้นำหมู่คณะ และพระสงฆ์ทั้งหมดในพระพุทธศาสนา จะต้องเอาธุระในการดูแลรักษาอย่างยิ่ง

เป็นอันว่า การรักษาด้วยวิธีเดิม คือการทรงจำด้วยการสาธยายนั้น เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุด เพราะรักษาโดยส่วนรวมที่สวดพร้อมกัน แต่พร้อมกันนั้นแต่ละองค์ก็มีหน้าที่ต้องท่องจำอยู่แล้ว โดยจะต้องมีการซักซ้อม และทบทวนกันอยู่เสมอ ซึ่งปรากฏแม้แต่ในสมัยนี้ ในพม่าก็ยังรักษาประเพณีนี้ไว้ กล่าวคือในยุคนี้ ทั้งๆ ที่มีคัมภีร์จารึกและพิมพ์เป็นเล่มหนังสือแล้ว เขาก็ยังพยายามสนับสนุนพระภิกษุให้ทรงจำพระไตรปิฎก

ในพม่าปัจจุบันยังมีประเพณีเป็นทางการของบ้านเมือง คือ มีการสอบพระภิกษุที่มาสมัครเพื่อจะแสดงความสามารถในการทรงจำพระไตรปิฎก พระภิกษุองค์ใดสอบผ่านแสดงว่าทรงจำพระไตรปิฎกได้หมด ซึ่งถ้านับเป็นตัวหนังสือพิมพ์เป็นอักษรไทย ก็ได้ ๔๕ เล่ม ๒๒,๐๐๐ กว่าหน้า ถ้าท่านจำได้หมด ทางการจะตั้งให้เป็น พระติปิฏกธร แปลว่า ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก ได้เป็นพระเป็นที่เคารพนับถือองค์หนึ่ง และทางรัฐบาลจะเลี้ยงดูโยมพ่อแม่ของพระภิกษุนั้น และอุปถัมภ์บำรุงด้วยประการต่างๆ

เดี๋ยวนี้ก็ยังมีพระติปิฏกธร คือพระภิกษุรูปเดียวที่สามารถจำพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด ๒๒,๐๐๐ กว่าหน้า ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ใช่สิ่งเหลือวิสัย นี่คือองค์เดียวเท่านั้น ก็ยังจำไหว ในสมัยโบราณต้องใช้วิธีทรงจำโดยท่องปากเปล่าอย่างนี้ เพราะไม่มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะฉะนั้น พระภิกษุทั้งหลายก็ทรงจำกันไว้ องค์ไหนทรงจำไว้ได้มากที่สุด ก็จะได้รับความเชื่อถือ และเคารพนับถือ

ที่มา : ลานธรรม
บันทึกการเข้า
เด็กหน้าวัด
เด็กใหม่
นักบุญผู้ใจดี
*****

พลังความดี : 696


เพศ: ชาย
กระทู้: 13280
สมาชิก ID: 1


« ตอบ #2 เมื่อ: สิงหาคม 19, 2010, 04:49:43 PM »

Permalink: Re: พระไตรปิฎก
ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์ (มหายาน)

โดย อ.เสถียร โพธินันทะ

            เมื่อประเทศไทยได้ประกอบรัฐพิธีเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ รัฐบาลของพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เชิญผู้แทนพุทธบริษัทนานาชาติทั่วโลก มาร่วมอนุโมทนาใน มหากุศลกรรมนี้โดยพร้อมเพรียงกัน ผู้แทนพุทธบริษัทจีนคณะชาติที่ไต้หวัน มีพระสมณาจารย์กานจูฮูตุ๊กตู ชาวมงโกล เป็นประธาน พระสมณะอินสุ อาจารย์ใหญ่แห่งสำนักปริยัติ ธรรมฟูเยนฯ เป็นรองประธานพร้อมด้วยคณะผู้ติดตามอีก ๗ ท่าน ได้อัญเชิญพระไตร ปิฎกฉบับจีน ๒ จบมาด้วย และได้ทำพิธีมอบเป็นธรรมบรรณาการ แก่สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยจบหนึ่ง มอบแก่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุอีกจบหนึ่ง ในฐานะเป็นสถาบันศึกษาพระพุทธศาสนาสูงสุด ๒ แห่งของประเทศไทย พระไตรปิฎก ฉบับนี้เป็นของถ่ายพิมพ์จากฉบับญี่ปุ่น ได้เริ่มพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยสำนักวัฒนธรรมพุทธศาสนาแห่งประชาชาติจีนเมืองไทเป จบหนึ่งมี ๒,๒๓๖ คัมภีร์ คิดเป็นผูกได้ ๙,๐๐๖ ผูก เป็นสมุดพิมพ์ ขนาดเอ็นไซโคลปีเดีย ๕๕ เล่มใหญ่หนามาก นับว่าพระไตร ปิฎกฉบับนี้ เป็นผลงานของชาวพุทธบริษัทฝ่ายมหายานที่ใหม่ที่สุด ถึงแม้ว่าอาศัยถ่ายพิมพ์  มาจากฉบับญี่ปุ่นคือฉบับ ไดโช ก็จริง แต่พระไตรปิฎกฉบับญี่ปุ่น คือไตรปิฎกจีนนั่นเอง เพราะญี่ปุ่นรับพระพุทธศาสนาไปจากจีน ชนิดถ่ายเอาตัวอักษรไปด้วย แต่โดยที่ญี่ปุ่น เข้าใจเก็บรวบรวมเก่งกว่าจีน ฝ่ายจีนซึ่งเป็นเจ้าของเดิม จึงกลับต้องไปอาศัยของเขามาถ่ายพิมพ์ ผู้เขียนซึ่งมีหน้าที่บรรยายวิชาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาสากล และโดยเฉพาะ ลัทธิมหายานในสภาการศึกษาฯ จะขอถือโอกาสค้นคว้าประวัติปิฎกจีนพากย์ฉบับนี้มาเล่าสู่ กันฟัง

            เมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายออกไปในนานาประเทศ เริ่มแต่รัชสมัยพระเจ้า อโศกมหาราช และขยับขยายแพร่หลายต่อเนื่องกันต่อมาจนกระทั่งพระพุทธศาสนาสิ้นสูญ จากอินเดีย ประเทศต่างๆ ซึ่งยังรับช่วงพระสัทธรรม กลับปรากฏว่าเป็นแหล่งเจริญของ พระพุทธศาสนาแทนที่มาติภูมิ แก่นสำคัญของพระพุทธศาสนาที่จะเป็นเหตุให้เจริญตั้งมั่น อยู่ได้ก็อยู่ที่พระธรรมวินัย ปรากฏว่าพระธรรมวินัยที่แพร่หลายไปในดินแดนต่างๆ หาได้ เสมอเหมือนกันไม่ จำแนกออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ

            ๑. พระธรรมวินัยที่ถือภาษามคธ หรือบาลีเป็นหลัก มีลัทธิเถรวาทในพระพุทธศาสนาฝ่ายสาวกยานเป็นฝ่ายประกาศเจริญแพร่หลายในลังกา, ไทย, พม่า, เขมร และลาว พระไตรปิฎกของประเทศทั้ง ๕ จึงเหมือนกัน

            ๒. พระธรรมวินัยที่ถือภาษาสันสกฤตเป็นหลัก มีลัทธิมหายานและนิกายสรวาสติวาทิน ซึ่งเป็นนิกายหนึ่งของฝ่ายสาวกยานเป็นฝ่ายประกาศเจริญแพร่หลายในประเทศจีน แต่จีนมิได้รักษาต้นภาษาเดิมไว้ เอามาแปลถ่ายไว้ในภาษาจีนหมด แล้วจึงแพร่หลายต่อออกไปในเกาหลี, ญี่ปุ่น และญวน

            ๓. พระธรรมวินัยที่ถือภาษาสันสกฤตเป็นหลักเหมือนประเภทที่ ๒ และเป็นลัทธิ มหายานดุจกัน แต่ประกาศหนักไปในนิกายมนตรยาน อันเป็นสาขาหนึ่งของมหายานเจริญ แพร่หลายในประเทศธิเบต และแปลสู่ภาษาธิเบตแล้วหมด จากธิเบตจึงแพร่ต่อออกไป ในมงโกเลีย และมานจูเรีย

            พระธรรมวินัยทั้ง ๓ ประการนี้ ถ้าจะว่าโดยชัดแจ้งแล้ว กล่าวได้ว่าคือพระไตรปิฎก ภาษาบาลี, พระไตรปิฎกภาษาจีน และพระไตรปิฎกภาษาธิเบตนั่นเอง พระไตรปิฎกภาษา จีน มีลักษณะพิเศษกว้างขวางโอบอุ้มเอาคติธรรมต่างๆ ในพระไตรปิฎกบาลีกับธิเบตไว้ ด้วยคือมีปกรณ์ลัทธินิกายสำคัญในพระพุทธศาสนาไม่จำกัดเฉพาะลัทธิมหายานเท่านั้น ลักษณะนี้พระไตรปิฎกบาลีหามีไม่ ส่วนพระไตรปิฎกธิเบตถึงมีอยู่บ้างก็ยังน้อยกว่าฝ่ายจีน ฉะนั้น พระไตรปิฎกจีนจึงเป็นธรรมสาครอันยิ่งใหญ่ที่สุดของพระพุทธศาสนา ในที่นี้จะยก อุทาหรณ์ปกรณ์สำคัญของต่างนิกายที่มีในพระไตรปิฎกจีนมากล่าว เช่นหมวดพระวินัยปิฎก มี:

            ๑. ทศภาณวารสรวาสติวาทวินัย ๖๐ ผูก พระวินัยปิฎกของนิกายสรวาสติวาทิน แปลสู่ภาษาจีนโดยพระปุณยาตระ, พระกุมารชีพ, พระธรรมรุจิ, พระวิมลรักษ์ รวม ๔ รูป เมื่อ พ.ศ. ๙๔๗ - ๙๕๐ ต่อมาสมณะอี้จิงได้แปลวินัยปกรณ์ของนิกายนี้อีก ๑๕ ปกรณ์ ซึ่ง ส่วนมากเป็นเรื่องปลีกย่อย ว่าด้วยเรื่องอุปสมบทกรรม, การจำพรรษา, เภสัชชะและเรื่อง สังฆเภทเป็นต้น

            ๒. จตุรอัธยายธรรมคุปตวินัย ๖๐ ผูก พระวินัยปิฎกของนิกายธรรมคุปต์แปลสู่ ภาษาจีน โดยพระพุทธยศ เมื่อ พ.ศ. ๙๕๓

            ๓. มหาสังฆิกวินัย ๓๐ ผูก พระวินัยปิฎกของนิกายมหาสังฆิกะ แปลสู่ภาษาจีนโดย พระพุทธภัทรกับสมณะฟาเหียน เมื่อ พ.ศ. ๙๖๓ - ๙๖๕

            ๔. ปัญจอัธยายมหิศาสกวินัย ๓๐ ผูก พระวินัยปิฎกของนิกายมหิศาสกะ แปลสู่ภาษาจีน โดย พระพุทธชีวะ กับ สมณะเต้าเซง เมื่อ พ.ศ. ๙๖๖

            ๕. สมันตปาสาทิกาวินัยอรรถกถา ๑๘ ผูก เป็นอรรถกถา พระวินัยปิฎกนิกายเถรวาท แปลสู่ภาษาจีนโดยพระสังฆภัทรเมื่อ พ.ศ. ๑๐๓๒ แต่เป็นฉบับย่อไม่มีพิสดาร เช่น ต้นฉบับบาลี

            ๖. ปาฏิโมกข์ศีลสูตรของนิกายกาศยปิยะ เป็นเพียงหนังสือสั้นๆ มิใช่พระวินัยปิฎกทั้งหมด

            หมวดพระสุตตันตปิฎก ถือตามมติของศาสตราจารย์เหลียงฉีเชาก็มี:

            ๑. เอโกตตราคม ๕๑ ผูก คือ อังคุตตรนิกายของนิกายสรวาสติวาทิน แปลสู่ภาษาจีนโดยพระธรรมนันทิเมื่อ พ.ศ. ๙๒๗

            ๒. มัธยามาคม ๖๐ ผูก มัชฌิมนิกาย ของนิกายสรวาสติวาทิน แปลสู่ภาษาจีนโดย พระสังฆรักษกับพระสังฆเทวะเมื่อ พ.ศ. ๙๔๑

            ๓. ทีรฆาคม ๒๒ ผูก ทีฆนิกายของนิกายธรรมคุปต์ แปลสู่ภาษาจีน โดยพระพุทธยศเมื่อ พ.ศ. ๙๕๖

            ๔. สังยุกตาคม ๕๐ ผูก สังยุตตนิกายของนิกายมหิศาสกะ แปลสู่ภาษาจีน โดยพระคุณภัทรเมื่อ พ.ศ. ๙๘๖

            ส่วนประเภทพระอภิธรรมปิฎก และคัมภีร์ประเภทศาสตร์หรือปกรณ์วิเศษของนิกายต่างๆ ก็มีอุดม เช่น อภิธรรมสังคีติบรรยายปาทศาสตร์ ๒๐ ผูก, อภิธรรมสกันธปาทศาสตร์ ๑๒ ผูก, อภิธรรมวิชญานกายปาทศาสตร์ ๑๖ ผูก, อภิธรรมปกรณะปาทศาสตร์ ๑๘ ผูก, อภิธรรมมหาวิภาษาศาสตร์ ๒๐๐ ผูก, อภิธรรมนยายนุสารศาสตร์ ๘๐ ผูก, อภิธรรมปกรณศาสนศาสตร์ ๔๐ ผูก, อภิธรรมหฤทัยศาสตร์ ๔ ผูก, สังยุกตาภิธรรมหฤทัย ศาสตร์ ๑๑ ผูก, ปกรณ์เหล่านี้เป็นของนิกายสรวาสติวาทิน, อภิธรรมโกศศาตร์ ๒๐ ผูก, คัมภีร์นี้ระคนด้วยลัทธิในนิกายสรวาสติวาทิน กับนิกายเสาตรันติกวาทิน, สารีปุตราภิธรรม ๓๐ ผูก ของนิกายวิภัชวาทิน, อภิธรรมสัตยสิทธิวยกรณศาสตร์ ๑๖ ผูก ของนิกายมหาสังฆิกะหรือนิกายเสาตรันติก หรือนิกายพหุสุตวาทยังไม่แน่นอน จตุราริยสัจจปกรณ์ ๔ ผูก, และคัมภีร์วิมุตติมรรค ๑๒ ผูก คัมภีร์นี้เป็นของนิกายเถรวาทมีเค้าโครงอย่างเดียวกับคัมภีร์ วิสุทธิมรรคมาก ข้าพเจ้าได้เขียนวิจารณ์ไว้ในหนังสือเรื่องน่ารู้ ๑๕ เรื่องแล้ว คุณวิภังคนิทเทศศาสตร์ ๓ ผูก ของนิกายมหาสังฆิกะ, สัมมิติยะศาสตร์ ๒ ผูก ของนิกายสัมมิติ ยะ ฯลฯ

            เฉพาะคัมภีร์ฝ่ายมหายานซึ่งต้นฉบับสันสกฤตที่ตกค้างเหลืออยู่ในปัจจุบันมีไม่ถึง ๑ ใน ๑๐ เพราะเมื่อพวกข้าศึกต่างศาสนารุกรานเข้ามาในอินเดียได้เที่ยวเผาวัดวาอารามของพระพุทธศาสนา ทำลายพระไตรปิฎกเสียมากกว่ามาก มหาวิทยาลัยนาลันทาและมหาวิทยาลัยวิกรมศิลา ซึ่งเป็นสถาบันศึกษาพระพุทธศาสนาสูงสุดในสมัยนั้น ก็ถูกเผาเสียป่นปี้ คัมภีร์ต่างๆ จึงสูญหายไปมาก ที่ยังเหลือตกค้างอยู่บ้าง ก็เป็นด้วยภิกษุสงฆ์พาหนีไป กับหลบทารุณภัยเข้าไปอยู่ในเนปาลบ้าง ในธิเบตบ้าง ประกอบทั้งเมื่อสมัยพระพุทธศาสนา แพร่หลายเข้าไปในประเทศเหล่านี้อยู่ทั้งในเนปาลบ้าง ในธิเบตบ้าง ประกอบทั้งเมื่อสมัยพระพุทธศาสนา แพร่หลายเข้าไปในประเทศเหล่านี้ได้พาคัมภีร์สันสกฤตมาเป็นต้นฉบับ จึงพอจะหาได้บ้างก็ที่ตกค้างเหลืออยู่ในเนปาล, ธิเบต, จีน และญี่ปุ่น แต่หาพบใน เนปาลกับธิเบตมากกว่าแห่งอื่นและส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์นิกายมันตรยาน โชคดีที่คัมภีร์ สันสกฤตของลัทธิมหายานได้ถูกแปลถ่ายไว้ในภาษาจีนเป็นอันมาก การศึกษาลัทธิมหายานจึงจำเป็นต้องผ่านทางภาษาจีน ในหนังสือประมวลสารัตถะพระไตรปิฎก แต่งครั้งราชวงศ์หงวน ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้บอกจำนวนคัมภีร์ในพระไตรปิฎกจีนพากย์ไว้ดังนี้

            ๑. พระสูตรฝ่ายมหายาน ๘๙๗ คัมภีร์ ๒,๙๘๐ ผูก

            ๒. พระวินัยฝ่ายมหายาน ๒๘ คัมภีร์ ๕๖ ผูก

            ๓. ศาสตร์ฝ่ายมหายาน ๑๑๘ คัมภีร์ ๖๒๘ ผูก

            ๔. พระสูตรฝ่ายสาวกยาน ๒๙๑ คัมภีร์ ๗๑๐ ผูก

            ๕. พระวินัยฝ่ายสาวกยาน ๖๙ คัมภีร์ ๕๐๔ ผูก

            ๖. ศาสตร์ฝ่ายสาวกยาน ๓๘ คัมภีร์ ๗๐๘ ผูก

            รวมทั้งสิ้นเป็น ๑,๔๔๑ คัมภีร์ ๕,๕๘๖ ผูก แต่จำนวนคัมภีร์ในพระไตรปิฎกจีนพากย์นี้ ชำระกันหลายครั้งหลายคราว จำนวนคัมภีร์กับจำนวนผูกเปลี่ยนแปลงไม่เสมอกันทุกคราว ในหนังสือว่าด้วยสารัตถะความรู้จากการศึกษพระไตรปิฎกแต่งครั้งราชวงศ์เหม็ง ได้แบ่งหมวดพระไตรปิฎก เพื่อสะดวกแก่การศึกษาดังนี้

๑. หมวดอวตังสกะ

            หมวดนี้มีพระสูตรใหม่สูตรหนึ่งเป็นหัวใจคือ พุทธาวตังสกมหาไวปุลยสูตร ๘๐ ผูก และมีสูตรปกิณณะย่อยๆ อีกหลายสูตร

๒. หมวดไวปุลยะ

            มีพระสูตรใหญ่ชื่อมหารัตนกูฏสูตร ๑๒๐ ผูก เป็นหัวใจ นอกนั้นก็มีมหาสังคีติสูตร ๑๐ ผูก, มหายานโพธิสัตว์ปิฎกสูตร ๒๐ ผูก, ตถาคตอจินไตยรหัศยมหายานสูตร ๓๐ ผูก, สุวรรณประภาสสูตร ๑๐ ผูก, กรุณาปุณฑริกสูตร ๑๑ ผูก, มหายานมหาสังคีติกษิติครรภทศจักรสูตร ๑๐ ผูก, มหาไวปุลยมหาสังคีติโพธิสัตวพุทธานุสสติสมาธิสูตร ๑๐ ผูก, จันทร ประทีปสมาธิสูตร ๑๑ ผูก, ลังกาวตารสูตร ๗ ผูก, สันธินิรโมจนสูตร ๕ ผูก, วิเศษจินดาพรหมปุจฉาสูตร ๔ ผูก, อักโษภยพุทธเกษตรสูตร ๒ ผูก, ไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาสปูรวประณิธานสูตร ๒ ผูก, มโยปมสมาธิสูตร ๓ ผูก, ศรีมาลาเทวีสิงหนาทสูตร ๑ ผูก, อมิตายุรธยานสูตร ๑ ผูก, มหาสุขาวดีวยูหสูตร ๒ ผูก, อจินไตยประภาสโพธิสัตวนิทเทสูตร ๑ ผูก, ศูรางคมสมาธิสูตร ๓ ผูก, วิมลกีรตินิทเทศสูตร ๓ ผูก, และอื่นๆ อีกมากสูตรนัก ฯลฯ อนึ่งคัมภีร์ฝ่ายลัทธิมนตรยานก็จัดสงเคราะห์ลงในหมวดไวปุลยะนี้ มีพระสูตรสำคัญ เช่น มหาไวโรจนสูตร ๗ ผูก, เอกอักขระพุทธอุษฯราชาสูตร ๖ ผูก, มหามณีวิปุลยะวิมาน วิศวศุภประดิษฐานคุหยปรมรหัสยะกัลปราชธารณีสูตร ๓ ผูก, สุสิทธิกรสูตร ๓ ผูก, วัชร เสขรสูตร ๗ ผูก, โยคมหาตันตระราชาสูตร ๕ ผูก, มหามรีจิโพธิสัตวสูตร ๗ ผูก, วัชรเสข ระประโยคโหมตันตระ ๑ ผูก, มหาสุวรรณมยุรีราชาธารณีสูตร ๒ ผูก ฯลฯ

๓. หมวดปรัชญา

            มีพระสูตรใหญ่ ชื่อมหาปรัชญาปารมิตาสูตร ๖๐๐ ผูก เป็นหัวใจ และมีสูตรปกิณณะ เช่น ราชไมตรีโลกปาลปารมิตาสูตร ๒ ผูก     วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ๑ ผูก เป็นอาทิ ฯลฯ

๔. หมวดสัทธรรมปุณฑริก

            มีพระสูตรใหญ่ ชื่อสัทธรรมปุณฑริกสูตร ๘ ผูก เป็นหัวใจ และมีสูตรปกิณณะ เช่น อนิวรรตธรรมจักรสูตร ๔ ผูก, วัชรสมาธิสูตร ๒ ผูก, มหาธรรมเภรีสูตร ๒ ผูก, สมันตภัทรโพธิสัตวจริยธรรมธยานสูตร ๑ ผูก เป็นอาทิ ฯลฯ

๕. หมวดปรินิรวาณ

            มีพระสูตรใหญ่ ชื่อมหาปรินิรวาณสูตร ๔๐ ผูก เป็นหัวใจ มีสูตรปกิณณะ เช่น มหากรุณาสูตร ๕ ผูก, มหามายาสูตร ๒ ผูก, มหาเมฆสูตร ๔ ผูก, อันตรภาวสูตร ๒ ผูก เป็น อาทิ ฯลฯ

พระวินัยลัทธิมหายาน

            ลัทธิมหายานมิได้มีภิกขุปาฏิโมกข์เป็นเอกเทศ คงปฏิบัติวินัยบัญญัติตามพระปาฏิโมกข์ของฝ่ายสาวกยาน แต่มีแปลกจากฝ่ายสาวกยานคือ โพธิสัตวสิกขา เพราะลัทธิมหายานสอนให้มุ่งพุทธิภูมิ บุคคลจึงต้องประพฤติโพธิจริยา มีศีลโพธิสัตวเป็นที่อาศัย วินัยโพธิสัตวนี้สาธารณทั่วไปแม้แก่ฆราวาสชนด้วย มีโพธิสัตวกุศลศีลสูตร ๙ ผูก, พุทธ ปิฏกสูตร ๔ ผูก, พรหมชาลสูตร (ต่างฉบับกับบาลี) ๒ ผูก, โพธิสัตวศีลมูลสูตร ๑ ผูก และอื่นๆ อีก พึงสังเกตว่าเรียกคัมภีร์เหล่านี้ว่า “สูตร” มิได้จัดเป็นปิฎกหนึ่งต่างหาก อรรถกถาพระสูตรของคันถรจนาจารย์อินเดีย

            มี ๓๓ ปกรณ์ เช่น มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ ๑๐๐ ผูก แก้คัมภีร์มหาปรัชญาปารมีตาสูตร, ทศภูมิวิภาษาศาสตร์ ๑๕ ผูก, สัทธรรมปุณฑริกสูตรอุปเทศ ๒ ผูกเป็นอาทิ อรรถกถาพระสูตรของคันถรจนาจารย์จีน

            มี ๓๘ ปกรณ์ เช่น อรรถกถาพุทธาวตังสกมหาไพบูลยสูตร ๖๐ ผูก และปกรณ์ ประเภทเดียวกันอีก ๕ คัมภีร์ นอกนั้นมีอรรถกถาลังกาวตารสูตร ๘ ผูก, อรรถกถาวิมล กีรตินิทเทศสูตร ๑๐ ผูก, อรรถกถาสุวรรณประภาสสูตร ๖ ผูก, อรรถกถาสัทธรรม ปุณฑริกสูตร ๒๐ ผูก, อรรถกถามหาปรินิรวาณสูตร ๓๓ ผูก เป็นอาทิ

ปกรณ์วิเศษของคันถรจนาจารย์อินเดีย

            มี ๑๐๔ ปกรณ์ เช่น โยคาจารภูมิศาสตร์ ๑๐๐ ผูก, ปกรณารยวาจาศาสตร์การิกา ๒๐ ผูก, มหายานอภิธรรมสังยุกตสังคีคิศาสตร์ ๑๖ ผูก, มหายานสัมปริครหศาสตร์ ๓ ผูก, มัธยานตวิภังคศาสตร์ ๒ ผูก เหตุวิทยาศาสตร์ ๑ ผูก, มหายสนศรัทโธตปาทศาสตร์ ๒ ผูก, มาธยมิกศาสตร์ ๒ ผูก, ศตศาสตร์ ๒ ผูก, มหายานวตารศาสตร์ ๒ ผูก, มหายาน โพธิสัตวศึกษาสังคีติศาสตร์ ๑๑ ผูก, มหายานสูตราลังการ ๑๕ ผูก, ชาตกมาลา ๑๐ ผูก, มหาปุรุษศาสตร์ ๒ ผูก, สังยุกตอวทาน ๒ ผูก ทวาทศทวารศาสตร์ ๑ ผูก นอกนั้นก็เป็นปกรณ์สั้นๆ เช่น วิฃญาณมาตราตรีทศศาสตร์, วีศติกวิชญานมาตราศาสตร์, อลัมพนปริกษ ศาสตร์, อุปายหฤทัยศาสตร์, หัตถธารศาตร์, วิชญานประวัตรศาสตร์, วิชญานนิทเทศ ศาสตร์, มหายานปัญจสกันธศาสตร์เป็นอาทิ

ปกรณ์วิเศษของคันถรจนาจารย์จีน

            มี ๑๔ ปกรณ์เป็นคัมภีร์ประเภทฎีกาแก้ปกรณ์วิเศษรจนา โดยคันถรจนาจารย์ อินเดียมี ๑๑ ปกรณ์ รจนาโดยคันถรจนาจารย์จีนมี ๑๘ ปกรณ์ คัมภีร์ปกิณกคดีที่อธิบายหลักธรรมบ้างที่เป็นประวัติบ้าง ของคันถรจนาจารย์อินเดียรวบรวมไว้ก็ดี รจนาขึ้นใหม่ก็ดี มีทั้งของฝ่ายพาหิรลัทธิด้วย รวม ๕๐ ปกรณ์ อาทิเช่นพุทธจริต ๕ ผูก, ลลิตวิสตระ ๒๐ ผูก, นาคเสนภิกษุสูตร (มิลินทปัญหา) ๓ ผูก, อโศกอวทาน ๕ ผูก, สุวรรณสัปตติศาสตร์ของลัทธิสางขยะ ๓ ผูก, และไวเศษิกปทารถศาสตร์ของลัทธิไวเศษิก ๓ ผูก เป็นต้น ส่วนปกรณ์ปกิณณคดีประเภทต่างๆ ของนิกายมหายานในประเทศจีน มีนิกายเทียนไท้, นิกาย เฮี่ยงซิ้ว, นิกายเซ็น, นิกายสุขาวดี, นิกายวินัยกับนิกายอื่นๆ อีก รวมทั้งประเภทประวัติ ศาสตร์ และจดหมายเหตุที่รจนารวบรวมไว้ โดยคันถรจนาจารย์จีนมีประมาณ ๑๘๖ ปกรณ์ ปกรณ์เหล่านี้มีทั้งชนิดยาวหลายสิบผูก และชนิดสั้นเพียงไม่กี่หน้ากระดาษ

            ความสำเร็จแห่งพระไตรปิฎกจีนดังพรรณนามา เกิดจากความวิรยะ อุตสาหะ ของท่านธรรมทูตทั้งหลายผู้ภักดีศาสนา ซึ่งมีทั้งที่เป็นชาวอินเดีย, ชาวอาเซียกลาง และชาวจีน ได้แปลถ่ายจากภาษาสันสกฤตออกเป็นภาษาจีนซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายดายเลย อักษรศาสตร์สันสกฤตและอักษรศาตร์จีน มีความยากลึกซึ้งขนาดไหนและมีลีลาแตกต่างกันในเชิงไวยากรณ์ขนาดไหน ย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ศึกษาอักษรศาสตร์ทั้ง ๒ ชาตินั้นแล้ว ยิ่งใน การแปลนี้เป็นการถ่ายทอดปรมัตถธรรมของพระศาสนาอันมีอรรถรสสุขุมล้ำลึกหนักหนาก็ ยิ่งทวีความยากเย็นขึ้นอีกหลายเท่าทวีคูณ แต่บรรดาท่านธรรมฑูตเหล่านั้นก็พยายามบาก บั่นผลิตผลงานของท่านขึ้นสำเร็จจนได้ ควรแก่การเคารพสรรเสริญของปัจฉิมาชนตาชน อย่างยวดยิ่ง เราพอจะแบ่งระยะกาลแปลคัมภีร์อย่างกว้างๆ ได้ ๔ สมัย คือ

๑. สมัยวงศ์ฮั่นยุคหลังถึงต้นวงศ์ถัง (พ.ศ. ๖๑๐- ๑๒๗๓) ในระยะเวลา ๖๖๓ ปี นี้ มีธรรมทูตทำงานแปลรวม ๑๗๖ ท่าน ผลิตคัมภีร์ ๙๖๘ คัมภีร์ ๔,๕๐๗ ผูก

๒. สมัยกลางวงศ์ถัง ถึงวงศ์ถังตอนปลาย (พ.ศ. ๑๒๗๓ - ๑๓๓๒) มีธรรมทูต ทำงานแปล ๘ ท่าน

๓. สมัยปลายวงศ์ถัง ถึงต้นวงศ์ซ้อง (พ.ศ. ๑๓๓๒ - ๑๕๘๐) มีธรรมทูตทำงาน แปล ๖ ท่าน

๔. สมัยวงศ์ซ้อง ถึงวงศ์หงวน (พ.ศ. ๑๕๘๐ - ๑๘๒๘) มีธรรมทูตทำงานแปล ๔ ท่าน

            ในจำนวนธรรมทูต ๔ สมัย ๑๙๔ ท่านนี้ ผู้มีเกียรติคุณเด่นมีรายนามต่อไปนี้ อันสิทเกา, ธรรมกาละ, ธรรมนันทิ, อภยะ, ธรรมรักษ์ศิริมิตร,       สังฆเทวะ, กุมารชีพ, ปุณยาตระ, พุทธยศ, พุทธชีวะ, พุทธภัทร, สังฆภัทร, คุณภัทร, โพธิรุจิ, ปรมัตถะ, กาลยศ, ธรรมมิตร, พุทธคุปตะ, สังฆปาละ,        ฟาเหียน, เฮี่ยงจัง, เทพหาร, ศึกษานันทะ, อี้จิง, วัชรโพธิ, สุภกรสิงหะ, อโมฆวัชระ, ปรัชญา, ธรรมเทวะ, สันติเทวะ, ทานปาละ เป็นต้น     ในบรรดาท่านเหล่านี้ มีพิเศษอยู่ ๕ ท่านที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “นักแปลคัมภีร์อันยิ่งใหญ่” คือ

            ๑. พระกุมารชีพ เลือดอินเดียผสมคุจะ มาประเทศจีนเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๙ แปลคัมภีร์ ๗๔ ปกรณ์ ๓๘๔ ผูก

            ๒. พระปรมัตถะ ชาวอินเดียแคว้นอุชเชนี มาประเทศจีนเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๐ แปลคัมภีร์ ๖๔ ปกรณ์ ๒๗๘ ผูก

            ๓. พระสมณะเฮี่ยงจัง ชาวมณฑลโฮนาน จาริกไปอินเดียศึกษา พระธรรมวินัยเมื่อ พ.ศ. ๑๑๗๒ กลับประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. ๑๑๘๘ แปลคัมภีร์ ๗๔ ปกรณ์ ๑๓๓๐ ผูก (หรือ ๑๓๒๕ หรือ ๑๓๓๕ ผูกไม่แน่)

            ๔. พระสมณะอี้จิง ชาวเมืองฟันยาง จาริกไปอินเดียศึกษาพระธรรมวินัย เมื่อ พ.ศ. ๑๒๑๔ กลับประเทศจีน เมื่อ พ.ศ. ๑๒๓๗ แปลคัมภีร์ ๕๖ ปกรณ์ ๒๓๐ ผูก

            ๕. พระอโมฆวัชระ เชื้อสายอินเดียเหนือ แปลคัมภีร์เมื่อ พ.ศ. ๑๒๘๙ - ๑๓๑๔ จำนวน ๗๗ ปกรณ์ ๑๐๑ ผูก

            งานถ่ายทอดพระธรรมวินัยดังพรรณนานี้ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหา กษัตริย์จึงสามารถดำเนินไปได้โดยเรียบร้อย พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานขึ้นคณะหนึ่ง มีการแบ่งหน้าที่เป็นแผนกหรือตำแหน่งดังนี้

            ๑. ประธานในการแปล ต้องเป็นผู้รอบรู้ในภาษาสันสกฤตหรือภาษาอินเดียภาค ต่างๆ รวมทั้งภาษาเอเซียกลางด้วย เป็นผู้ควบคุมพระคัมภีร์ที่แปลโดยตรง

            ๒. ล่ามในการแปล ได้แก่ผู้รู้ภาษาสันสกฤตหรือภาษาของท่านธรรมทูต และภาษาจีนดี ฟังคำอธิบายในข้อความในคัมภีร์สันสกฤตจากผู้เป็นประธานแล้ว ก็แปลเป็นภาษาจีน โดยมุขปาฐะ สำหรับล่ามนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เสมอไป ถ้าประธานมีความรู้ในภาษาจีน

            ๓. ผู้บันทึก ได้แก่ผู้คอยจดคำแปลของล่ามลงเป็นอักษรจีน ถ้าประธานแตกฉานใน อักษรศาสตร์จีนดีก็ไม่ต้อง เพราะเขียนเองได้

            ๔. ผู้สอบต้นฉบับ ได้แก่ผู้ตรวจสอบ ผู้ทานดูข้อความแปลที่จดไว้จะตรงกับต้นฉบับหรือไม่

            ๕. ผู้ตกแต่งทางอักษรศาสตร์ ได้แก่ผู้มีหน้าที่ตกแต่งภาษาจีนซึ่งแปลจดไว้แล้วให้ สละสลวยถูกต้องตามลีลาไวยากรณ์ของจีน ฟังไม่เคอะเขินหรือกระด้างหู ทั้งนี้เพราะล่ามก็ ดีผู้บันทึกก็ดี จำต้องรักษาถ้อยคำให้ตรงกับต้นฉบับ ซึ่งในบางกรณีลีลาโวหารอาจกระด้าง หรือไม่หมดจดก็ได้

            ๖. ผู้สอบอรรถรส ได้แก่ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบฉบับแปลจีนนั้นให้มีอรรถรสตรงกันกับต้นฉบับโดยสมบูรณ์ทุกประการ

            ๗. ผู้ทำหน้าที่ธรรมาภิคีติ ได้แก่การสวดสรรเสริญสดุดีคุณพระรัตนตรัย ก่อนที่จะเริ่มงานแปลทุกวาระ หรือสวดสาธยายข้อความ ในพระคัมภีร์ที่แปลนั้น พูดง่ายๆ ก็คือเจ้าหน้าที่พิธีการนั่นเอง

            ๘. ผู้ตรวจปรู๊ฟ เมื่อเขาแปลและจดกันเป็นที่เรียบร้อยหมดจดทุกอย่างแล้ว ก็ปรู๊ฟกันอีกทีหนึ่งเพื่อให้ถูกต้องกันผิดพลาด หากจะมีอะไรหลงหูหลงตาบ้าง

            ๙. เจ้าหน้าที่ฝ่ายราชการ ซึ่งจะต้องเป็นขุนนางผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่คอยดูแลให้มีจตุปัจจัยสมบูรณ์ และคอยอุปการะถวายความสะดวกแก่คณะกรรมการ ตลอดจนเป็นผู้กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบถึงผลงาน บางครั้งเมื่อคัมภีร์ปกรณ์หนึ่งๆ แปลจบลง ก็นำถวายขอพระราชนิพนธ์บทนำ

            เมื่อพิจารณาการดำเนินงานอย่างนี้แล้ว ก็ทำให้มั่นใจว่าพระไตรปิฎกจีนพากย์นี้มีข้อแปลผิดพลาดได้น้อย แต่ถึงกระนั้น เนื่องด้วยในสมัยต้นๆ แห่งการแปลคัมภีร์ ท่านผู้แปลที่เป็นประธานเป็นชาวต่างชาติจะต้องมาเรียนรู้ภาษาจีน ฉะนั้นจึงมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเรื่องลีลาโวหารทางอักษรศาสตร์จีน มิได้ผิดพลาดกับอรรถรส ที่น่าประหลาดอยู่ คือ ท่านกุมารชีพเป็นคนต่างชาติแท้ๆ สามารถแปลได้อย่างวิจิตรจนจัดสำนวนของท่านอู่ ในอันดับวรรณคดีชั้นสูงของจีน ส่วนท่านสมณะเฮี่ยงจัง และท่านสมณะอี้จิงนั้นมิพักต้องกล่าวถึงละ เพราะท่านเป็นชาวจีนและยังแตกฉานในภาษาสันสกฤตอย่างเอกอุ ยิ่งท่านเฮี่ยงจังด้วยแล้ว ท่านสามารถรจนาปกรณ์วิเศษได้ในภาษานั้นๆ จึงหาข้อบกพร่องใดๆ ในคัมภีร์ที่ท่านทั้งสองแปลไว้มิพานพบเลย โดยสรุปแล้วก็นับได้ว่าพระไตรปิฎกจีนพากย์นี้ งดงามทั้งเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด

พระไตรปิฎกฉบับเขียน

            จีนเป็นชาติที่รู้จักทำกระดาษใช้เขียนหนังสือ แต่ยุคราชวงศ์ฮั่น คือประมาณร่วม ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว เมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายเข้าไป การแปลคัมภีร์แปลกันเป็นระยะๆ มากบ้างน้อยบ้าง มิได้แปลทีเดียวหมดทั้งไตรปิฎก พุทธบริษัทจีนก็ต้องคัดลอกคัมภีร์ที่แปลแล้วไว้ในกระดาษบ้าง จารึกไว้ในแผ่นไม้บ้าง เพื่อศึกษาเล่าเรียนและเก็บรักษา ครั้นลุถึงแผ่นดินพระเจ้าเหลียงบูเต้แห่งราชวงศ์เหลียง เมื่อ พ.ศ. ๑๐๖๑ มีพระราชโองการให้ ชำระรวบรวมพระไตรปิฎกเท่าที่แปลแล้ว และพวกปกรณ์วิเศษ ได้จำนวนรวม ๑,๔๓๓ คัมภีร์ จำนวนผูกได้ ๓,๗๔๑ ผูก ต่อมาในสมัยวงศ์งุ่ย ชำระหนหนึ่ง, สมัยวงศ์บักชี้ หน หนึ่ง, สมัยวงศ์ซุ้ย ๓ หน, สมัยวงศ์ถัง ๙ หน มีลำดับดังนี้

            ๑. แผ่นดินพระเจ้าถังไทจง ศักราชเจ็งกวน ปีที่ ๙ (พ.ศ. ๑๑๖๙) จำนวน ๗๓๙ คัมภีร์ ๒,๗๑๒ ผูก

            ๒. แผ่นดินพระเจ้าถังเกาจง ศักราชเฮี่ยนเข่ง ปีที่ ๔ (พ.ศ. ๑๒๐๒) จำนวน ๘๐๐ คัมภีร์ ๓,๓๖๑ ผูก

            ๓. แผ่นดินพระเจ้าถังเกาจงอีกเหมือนกัน ศักราชลิ่นเต็ก ปีที่ ๑ (พ.ศ. ๑๒๐๗) จำนวน ๘๑๖ คัมภีร์ ๔,๐๖๖ ผูก

            ๔. แผ่นดินจักรพรรดินีบูเช็กเทียน ศักราชบ้วนส่วย ปีที่ ๑ (พ.ศ. ๑๒๓๘) จำนวน ๘๖๐ คัมภีร์ ๓,๙๒๙ ผูก

            ๕. แผ่นดินพระเจ้าถังเฮียงจง ศักราชไคหงวน ปีที่ ๑๘ (พ.ศ. ๑๒๗๓) จำนวน ๑,๐๗๖ คัมภีร์ ๕,๐๔๘ ผูก

            ๖. แผ่นดินพระเจ้าถังเต็กจง ศักราชเฮงหงวน ปีที่ ๑ (พ.ศ. ๑๓๒๗) จำนวน ๑,๑๔๗ คัมภีร์ ๕,๐๔๙ ผูก

            ๗. แผ่นดินถังพระเจ้าถังเต็กจงอีกเหมือนกัน ศักราชเจ็งหงวน ปีที่ ๑๑ (พ.ศ. ๑๓๓๘) จำนวน ๑,๒๔๓ คัมภีร์ ๕,๓๙๓ ผูก

            ๘. แผ่นดินพระเจ้าถังเต็กจงดุจกัน ศักราชเจ็งหงวน ปีที่ ๑๕ (พ.ศ. ๑,๓๔๒) จำนวน ๑,๒๕๘ คัมภีร์ ๕,๓๙๐ ผูก

            ๙. สมัยวงศ์ถังภาคใต้ ศักราชเปาไต๋ ปีที่ ๓ (พ.ศ. ๑๔๘๘) จำนวน ๑,๒๑๔ คัมภีร์ ๕,๔๒๑ ผูก

            รวมการชำระรวบรวมพระไตรปิฎกฉบับเขียน ๑๕ ครั้ง

พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์

            จีนเป็นชาติแรกในโลกที่คิดการพิมพ์หนังสือได้ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๗ สมัย ราชวงศ์ฮั่น เริ่มแรกมีผู้คิดใช้วิธีอัดก๊อปปี้ จากตัวอักขระที่จารึกไว้บนแผ่นหินหรือแผ่นไม้ก่อน ต่อมาพัฒนาการเจริญขึ้นตามลำดับใช้วิธีแกะเป็นตัวนูนบนแผ่นไม้แล้วใช้หมึกทาเอา กระดาษนาบพิมพ์ติดหนังสือขึ้นมา ครั้นต่อมาวิชาพิมพ์ก้าวหน้าจนถึงแกะตัวพิมพ์ได้ เมื่อปรารถนาจะพิมพ์ก็ใช้วิธีเรียงตัวพิมพ์เอา ซึ่งมีกำเนิดขึ้นในราวสมัยราชวงศ์ซ้อง แต่มาเจริญแพร่หลายต่อสมัยราชวงศ์หงวนและเหม็ง วิชาการพิมพ์ของจีน เช่นวิธีนาบพิมพ์ แม้จะมีมาก่อนสมัยถัง คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาก็ยังนิยมใช้คัดลอกกัน ครั้นลุสมัยถังในหมู่พุทธบริษัทนิยมพิมพ์ภาพพระพุทธรูป, พระโพธิสัตว์ไว้ในแผ่นกระดาษบูชาต่อมาจึงได้ พิมพ์พระสูตรบางเอกเทศขึ้น ปรากฏว่าเอกสารพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คือพระสูตรของพระพุทธศาสนา ชื่อวัชรปรัชญาปารมิตาสูตร (ผู้เขียนแปลเป็นไทยแล้ว) มิสเตอร์สติน นักขุดค้นพบโบราณวัตถุค้นพบพระสูตรพิมพ์นี้ในถ้ำแห่งหนึ่งของเมืองต้นฮอง มณฑลกานสู เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ปัจจุบันตันฉบับเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลอนดอน ในหนังสือเล่มนี้มี ข้อความบอกถึงอายุดังนี้ “ศักราชฮัมทงปีที่ ๙ เดือน ๔ วันที่ ๑๕ เฮ่งกาย (ชื่อคน) สร้าง ขึ้นเป็นธรรมทานอุทิศ บูชาแด่บิดามารดาทั้งสอง” ศักราชฮัมทงปีที่ ๙ ตรงกับ พ.ศ. ๑๔๑๑ คือประมาณพันกว่าปีมาแล้ว ถึงกระนั้นตลอดสมัยวงศ์ถัง ก็ยังมิได้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกขึ้นตราบลุถึง

สมัยราชวงศ์ซ้อง (ซ่ง)

            ๑. ในสมัยราชวงศ์ซ้อง พระเจ้าซ้องไทโจ๊วฮ่องเต้ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ เมื่อศักราชไคเป้าปีที่ ๔ (พ.ศ. ๑๕๑๔) มีพระราชโองการให้ขุนนางผู้ใหญ่ชื่อเตียช่งสิ่ง ไปชำระรวบรวมพิมพ์พระไตรปิฎกที่มณฑลเสฉวน พระไตรปิฎกฉบับนี้มาแล้วเสร็จเมื่อรัชสมัย พระเจ้าซ้องไทจง พ.ศ. ๑๕๒๖ กินเวลา ๑๒ ปี เรียกว่า “พระไตรปิฎกฉบับไคเป้า” นับ เป็นปฐมพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลกพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีของฝ่ายเถรวาทที่ตีพิมพ์เก่าที่สุด (ไม่ใช่จารึกหรือ คัดลอก) ตามที่ข้าพเจ้าทราบ คือ พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ของไทย เมื่อรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๑ ช้ากว่าของจีน ๙๑๗ ปี พระไตรปิฎกฉบับไคเป้ามีคัมภีร์ ๑,๐๗๖ คัมภีร์ ๕,๐๔๗ ผูก แต่หายสาบสูญเสียมากกว่ามาก เหลือเพียงข้อความกระท่อนกระแท่นบางคัมภีร์เท่านั้น

            ๒. พระไตรปิฎกฉบับเคอร์ตานจั๋ง พิมพ์โดยพระราชโองการกษัตริย์เคอร์ตาน ซึ่งเป็นเตอร์กพวกหนึ่ง ปกครองดินแดนทางใต้ของมานจูเรียและจีนเหนือ พระไตรปิฎกพิมพ์ ด้วยอักษรจีนเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๕ บัดนี้สาบสูญกันหมดแล้ว

            ๓. พระไตรปิฎกฉบับกิมจั๋ง พิมพ์ครั้งราชวงศ์กิมซึ่งเป็นตาดอีกพวกหนึ่งยึดครอง จีนเหนือ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๑๖๙๑-๑๗๑๖ ใช้อักษรจีนเหมือนกัน ยังมีคัมภีร์เหลืออยู่ ณ บัดนี้ ๔,๙๕๐ ผูก ค้นพบที่วัดกวางเซ่งยี่ มณฑลชานสี

            ๔. พระไตรปิฎกฉบับช่งหลิงบ้วนซิ่งจั๋ง ในรัชสมัยพระเจ้าซ้องสิ่นจง สมณะชงจิง วัดตังเสี่ยงยี่ เมืองฟูจิว บอกบุญเรี่ยไรพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๖๒๓-๑๖๔๗ มีการพิมพ์เติมต่อมาอีกหลายหนสำหรับฉบับนี้ รวมจำนวน ๖,๔๓๔ ผูก ปัจจุบันกระจัดกระจายหมด

            ๕. พระไตรปิฎกฉบับพีลู้จั๋ง ในรัชสมัยพระเจ้าซ้องฮุยจง สมณะปุงหงอวัดไคหงวน ยี่เมืองฟูจิว บอกบุญเรี่ยไรพิมพ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๖๕๘-๑๖๙๓ มี ๖,๑๑๗ ผูก ยังมีฉบับเหลืออยู่ที่ญี่ปุ่น

            ๖. พระไตรปิฎกฉบับซือเคยอิ้กั๋กจั๋ง ในรัชสมัยพระเจ้าซ้องเกาจง พุทธบริษัทชาวฮูจิว พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๑๖๗๕ มีจำนวน ๑,๔๒๑ คัมภีร์ ๕,๔๘๐ ผูก ยังมีฉบับสมบูรณ์อยู่ที่ญี่ปุ่น

            ๗. พระไตรปิฎกฉบับซือเคยจือฮกจั๋ง ประมาณเวลาพิมพ์ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ คงเหลือบางส่วนเท่านั้น

            ๘. พระไตรปิฎกฉบับจีซาจั๋ง พิมพ์ราว พ.ศ. ๑๗๗๔ มี ๑,๕๓๒ คัมภีร์ ๖,๓๖๒ ผูก

สมัยราชวงศ์หงวน (หยวน)

            ๑. พระไตรปิฎกฉบับโพหลิงจั๋ง เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๑ สมณะเต้าอัง วัดโพหลิง มณฑลจีเกียงบอกบุญเรี่ยไรพิมพ์ขึ้น มี ๑,๔๒๒ คัมภีร์ ๖,๐๑๐ ผูก ยังเหลือบริบูรณ์ที่ประเทศญี่ปุ่น

            ๒. พระไตรปิฎกฉบับห่งหวบจั๋ง แผ่นดินพระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ (คือ กุบลาย ข่าน) ศักราชจีหงวนปีที่ ๑๔ (พ.ศ. ๑๘๒๐) มีพระราชโองการให้ชำระพิมพ์ขึ้น ถึง พ.ศ. ๑๘๓๗ จึงแล้วเสร็จ มี ๑,๖๕๔ คัมภีร์ ๗,๑๘๒ ผูก ฉบับนี้หายสาบสูญแล้ว

สมัยราชวงศ์เหม็ง (หมิง)

            ๑. พระไตรปิฎกฉบับน่ำจั๋ง แผ่นดินพระเจ้าเหม็งโจ๊วฮ่องเต้ ศักราชห่งบู๊ปีที่ ๕ (พ.ศ. ๑๙๑๕) มีพระราชโองการให้ชำระพิมพ์ขึ้นที่นครนานกิง มี ๑,๖๑๐ คัมภีร์ ๖,๓๓๑ ผูก ยังอยู่บริบูรณ์ดี

            ๒. พระไตรปิฎกฉบับปักจั๋ง แผ่นดินพระเจ้าเหม็งเซ่งโจ๊ว ศักราชยงลัก ปีที่ ๘ (พ.ศ. ๑๙๕๓) มีพระราชโองการให้ชำระพิมพ์ขึ้นที่นครปักกิ่ง มาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๑๙๘๔ มี ๖,๓๖๑ ผูก ยังอยู่บริบูรณ์ดี

            ๓. พระไตรปิฎกฉบับบูลิ้มจั๋ง พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๕-๒๑๐๙ ฉบับนี้มิได้ร่องรอยที่ละเอียด

            ๔. พระไตรปิฎกฉบับแกซันจั๋ง พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๒-๒๒๒๐ มี ๑,๖๕๔ คัมภีร์ ๖,๙๕๖ ผูก ฉบับนี้ยังมีเหลืออยู่ส่วนมาก

สมัยราชวงศ์เช็ง (ชิง)

            ๑. พระไตรปิฎกฉบับเล่งจั๋ง แผ่นดินพระเจ้าย่งเจ็ง ปีที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๑๗๘) มีพระราชโองการให้ชำระพิมพ์ที่กรุงปักกิ่ง มาแล้วบริบูรณ์ในแผ่นดินพระเจ้าเคี่ยนหลง ปีที่ ๓ (พ.ศ. ๒๒๘๑) มีจำนวน ๑,๖๖๐ คัมภีร์
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters
Powered by SMF 1.1.17 | Simple Machines|Copyright © 20010 BY : thammaonline.com
บทความธรรมะรวมเรื่องกฏแห่งกรรมสมาธิ วิปัสนากรรมฐานพลังจิตกระดานถาม-ตอบ Sitemap

Google มาเยี่ยมเว็บเมื่อ กุมภาพันธ์ 11, 2024, 10:30:53 PM