เมษายน 19, 2024, 02:20:59 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ปล่อยวาง อย่างรับผิดชอบ  (อ่าน 4936 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เด็กหน้าวัด
เด็กใหม่
นักบุญผู้ใจดี
*****

พลังความดี : 696


เพศ: ชาย
กระทู้: 13280
สมาชิก ID: 1


« เมื่อ: กันยายน 12, 2010, 09:06:15 AM »

Permalink: ปล่อยวาง อย่างรับผิดชอบ
ปล่อยวาง อย่างรับผิดชอบ 
   
คำสอนทั้งปวงในพุทธศาสนา ถึงที่สุดแล้วมุ่งไปสู่การปล่อยวาง
เพราะปล่อยวางได้เมื่อไร ก็หมดทุกข์เมื่อนั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงการปล่อยวาง
คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจไปว่า หมายถึงถึงอยู่เฉย ๆ งอมืองอเท้า นี่เป็นความเข้าใจผิด


ปล่อยวางแบบพุทธหมายถึงปล่อยวางที่ใจ
ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา หรือยึดมั่นให้มันเป็นไปตามใจเราก็จริง
แต่ก็ต้องดูแลเอาใจใส่ด้วยความรับผิดชอบ
เช่น ร่างกายนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ใช่ตัวเราของเรา จึงควรปล่อยวาง
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องดูแลร่างกายไม่ใช่ของเราก็จริง
แต่เราต้องดูแลเอาใจใส่ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยเราในการทำความดี
เหมือนกับเรือที่จะพาเราข้ามฟาก เราก็ต้องดูแลเอาใจใส่
ถ้ารั่วก็ต้องอุด ถ้าเสียก็ต้องรู้จักซ่อมแซม

เรารู้อยู่ว่าเมื่อถึงฝั่งแล้วเราจะไม่แบกเอาเรือไปด้วย
แต่ในขณะที่ยังไม่ถึงฝั่งเราก็ต้องดูแล
คอยซ่อมแซมเพื่อนำเราไปถึงจุดหมายให้ได้
เรามีหน้าที่ต้องซ่อมแซมดูแลเรือ
ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่ใช่เรือของเราก็เลยปล่อยวางไม่สนใจ
ถ้าเช่นนั้นเราจะถึงจุดหมายได้อย่างไร

มีเรื่องเล่าว่า คราวหนึ่งหลวงพ่อชา สุภัทโท เดินไปตรวจตราตามกุฏิพระ
เห็นพระรูปหนึ่งนั่งหลบฝน เนื่องจากหลังคารั่ว ฝนจึงหยดลงมา
หลวงพ่อชาก็เลยถามว่า ทำไมไม่ซ่อมหลังคาล่ะ
พระรูปนั้นบอกว่าผมปล่อยวางครับ
หลวงพ่อชาก็เลยบอกว่า
ปล่อยวางกับวางเฉยแบบงัวแบบควายนั้นไม่เหมือนกัน

ผู้คนมักคิดว่าวางเฉยแบบงัวแบบควายเป็นการปล่อยวางแบบพุทธ
นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด ปล่อยวางเป็นเรื่องภายในใจ
แต่หน้าที่การงานเราก็ต้องทำตามสมควรแก่เหตุปัจจัย
โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นทั้งแก่ตัวเราเองและต่อผู้อื่นด้วย

พระพรหมคุณาภรณ์ (ปยุตโต)ได้สรุปสั้นๆ ว่า
ปล่อยวางนั้นเป็นเรื่องการทำ “จิต”
ส่วนการทำงานต่าง ๆ ด้วยความรับผิดชอบนั้นเป็นเรื่องการทำ “กิจ”
ในเมื่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนเป็นนิจ
ในแง่จิตใจเราจึงควรปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง
แต่ขณะเดียวกันอะไรที่สมควรทำเราต้องรีบทำ
ไม่เฉื่อยแฉะเฉื่อยเนือย เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียตามมา
การทำกิจนั้นบางทีท่านก็เรียกว่าความไม่ประมาท

ความไม่ประมาทกับการปล่อยวางเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน
ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
แม้อากัปกิริยาภายนอกทำงานด้วยความขยันขันแข็ง
แต่ภายในใจไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา
พร้อมอยู่เสมอที่จะเผชิญกับความผันผวน พร้อมที่จะเจอความล้มเหลว
เพราะรู้ว่าเหตุปัจจัยต่างๆ มีมากมายที่เราควบคุมไม่ได้
เวลาทำงานก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่านี่มันเป็นงานของเรา
ใครจะมาแตะต้องหรือวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้
เวลาทำอะไรก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าผลต้องออกมาอย่างนี้อย่างนั้น
ถ้าไม่ออกมาตามที่หวัง ฉันโมโห ฉันโกรธ ฉันท้อแท้ ผิดหวัง
ท่าทีเช่นนี้จะทำให้เป็นทุกข์ได้ง่าย

เดี๋ยวนี้เราทำด้วยความยึดมั่นกันมาก
ยึดมั่นว่าเป็นของเราก็เลยทำ ถ้าไม่ใช่ของเราก็ไม่ทำ
หรือว่ายึดมั่นในผล เวลาทำอะไรก็ตามก็วาดหวัง
หรือหมายมั่นว่าผลจะต้องออกมาอย่างนี้จึงจะมีกำลังใจทำ
ถ้าทำโดยไม่ต้องพะวงถึงผลข้างหน้า
แต่ทำตามเหตุตามปัจจัยหรือมุ่งประกอบเหตุให้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่
แบบนี้ทำไม่เป็น ต้องมีแรงจูงใจคือเอารางวัลหรือเอาผลที่สวยงามมาล่อ
ให้มีกำลังใจ นี้ไม่ใช่วิธีการทำงานแบบพุทธ
ท่าทีที่ถูกต้องแบบพุทธคือ
ทำงานโดยไม่จำเป็นต้องเอาความสำเร็จหรือรางวัลมาล่อ
แต่ทำเพราะเห็นว่ามีประโยชน์ มีคุณค่า และน่าทำ
ขณะที่ทำจิตก็อยู่กับปัจจุบัน พร้อมเผชิญกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา
ล้มเหลวก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นเอง
แต่งานล้มเหลว ก็ไม่ได้แปลว่าเราล้มเหลว
เพราะว่าเราไม่ได้เอาตัวตนไปผูกติดไว้กับงาน
ใครมาวิจารณ์งานก็ไม่ทุกข์ไม่เสียใจ เพราะไม่ได้ยึดติดว่างานนี้เป็นตัวกูของกู

ทำงานอะไรก็ตาม พึงทำด้วยความใส่ใจและรับผิดชอบ
โดยไม่ถือว่างานนั้นเป็นตัวกูของกู
ทำเสร็จแล้วก็มอบผลงานให้เป็นของธรรมชาติไป
ไม่ยึดว่าเป็นเราหรือของเรา
คำสรรเสริญเยินยอและชื่อเสียงเกียรติยศที่เกิดขึ้นก็มอบให้แก่ธรรมชาติ
หรือมอบให้แก่ผู้คนที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นของเรา
ใครสรรเสริญก็ไม่ได้หลงใหลได้ปลื้ม
ใครมาตำหนินินทาก็ไม่ได้ทุกข์ร้อน
เพราะไม่ได้ยึดว่าเป็นของเราตั้งแต่ต้น
ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าเวลาทำงานเรามักคาดหวังผล
แถมยังไปยึดติดกับคำสรรเสริญเยินยอและคำนินทาว่ากล่าว
จึงทำงานอย่างไม่มีความสุข

การปล่อยวางหมายถึงว่าเราไม่เข้าไปยึดในผลที่เกิดขึ้น
ไม่ว่าบวกหรือลบ แม้ภายนอกอาจจะไม่ได้ปฏิเสธ
แต่ภายในใจนั้นไม่รับอยู่แล้ว
ท่านอาจารย์พุทธทาสทั้งพูดทั้งเขียนมาตลอดว่า
สมณศักดิ์เป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีความหมายสำหรับท่าน
ท่านขอเป็นทาสของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว
แต่ว่าเมื่อท่านทำงานให้พระศาสนา
จนเจริญในสมณศักดิ์เป็นลำดับ
จากพระครู เลื่อนเป็นพระราชาคณะสามัญ
แล้วก็เป็นชั้นราช ชั้นเทพ ชั้นธรรม สุดที่พระธรรมโกศาจารย์
เคยมีลูกศิษย์มาแนะอาจารย์พุทธทาสว่า
สมณศักดิ์เหล่านี้ท่านน่าจะคืนเขาไป
ท่านอาจารย์พุทธทาสก็บอกว่า จะคืนได้อย่างไร
ก็เรายังไม่ได้รับมาตั้งแต่แรกจะคืนได้อย่างไร
คือแม้ทางราชการจะให้สมณศักดิ์และพัดยศมาแต่ใจท่านไม่ได้รับเลย
จะเป็นชั้นไหนก็ไม่เคยรับมาตั้งแต่แรก
เพราะฉะนั้นก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปคืนเขา

ถ้าเราวางใจได้อย่างนี้
เวลาทำงาน ได้รับคำสรรเสริญเราก็ไม่รับมาเป็นของเรา
หรืออาจจะถือไว้แต่ไม่ได้เอามาสวมใส่
ทำได้แบบนี้จะรู้สึกสบาย โปร่งเบา
เมื่อถึงเวลาที่เขาตำหนิติฉินเราก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ
เพราะว่าเราไม่ได้รับตั้งแต่แรก
เมื่อมีคนชมก็ไม่เพลินหรือหลงตัว เมื่อถูกตำหนิก็ไม่เสียใจ
สองอย่างนี้ไปด้วยกัน ถ้าเราทำใจด้วยใจที่ปล่อยวางแล้ว
เราจะทำงานด้วยใจที่สบาย อิสระ โปร่งเบา
และทำด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่ใช่สบายแล้วเฉื่อยชาเฉื่อยแฉะ
ตรงข้าม เราทำเต็มที่ เพราะความสุขคือการอยู่กับปัจจุบัน
แม้ทำงานก็มีความสุข สุขอยู่ที่งานไม่ได้อยู่ที่ผลของงาน
ยิ่งมีสติและสมาธิด้วยแล้ว จะทำงานอย่างมีความสุขมาก
แม้ผลจะยังไม่ปรากฏก็ตาม ถ้าทำงานด้วยท่าทีเช่นนี้
ผลของงานจะไม่มีอิทธิพลต่อเรามากนัก
เราจะทำด้วยความสุข และด้วยสำนึกว่า
มันเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่ทำเพราะว่ามันเป็นของเรา

การปล่อยวางและการทำงานด้วยความรับผิดชอบ
หรือทำด้วยความไม่ประมาท
เป็นสิ่งที่เราต้องเชื่อมให้เป็นอันเดียวกันให้ได้ อย่าไปแยกกัน
ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการปล่อยวางตามอำนาจของกิเลสหรือความหลง
มิใช่ปล่อยวางเพราะมีปัญญา

 
 
จาก ทำดี.เน็ต
 
 
 




บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters
Powered by SMF 1.1.17 | Simple Machines|Copyright © 20010 BY : thammaonline.com
บทความธรรมะรวมเรื่องกฏแห่งกรรมสมาธิ วิปัสนากรรมฐานพลังจิตกระดานถาม-ตอบ Sitemap

Google มาเยี่ยมเว็บเมื่อ ตุลาคม 27, 2021, 02:10:55 AM