เมษายน 20, 2024, 11:06:25 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: มีธรรมะดีดีมาฝาก  (อ่าน 8118 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เด็กหน้าวัด
เด็กใหม่
นักบุญผู้ใจดี
*****

พลังความดี : 696


เพศ: ชาย
กระทู้: 13280
สมาชิก ID: 1


« เมื่อ: มีนาคม 09, 2012, 08:49:50 AM »

Permalink: มีธรรมะดีดีมาฝาก
มีธรรมะดีดีมาฝาก


--------------------------------------------------------------------------------

.อนัตตลักขณสูตร

หลังจากฟังเรื่องอริยสัจสี่ประการ ปัญจวัคคีย์ทั้งห้าก็ได้ดวงตาเห็นธรรมทุกท่านแล้ว มีพื้นฐานทางใจพอที่จะเข้าใจเรื่องที่ลึกซึ้งกว่านั้น พระองค์จึงทรงแสดงสูตรว่าด้วยอนัตตาต่อในวันแรม 5 ค่ำ (ตามมติในอรรถกถาว่าทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรในวันแรม 5 ค่ำ)

เนื้อหาของพระสูตรสั้นนิดเดียว ดังนี้

พระพุทธเจ้าตรัสสอนปัญจวัคคีย์ว่า

รูป(ร่างกายอันประกอบด้วยธาตุ 4 และคุณสมบัติของธาตุ 4) เวทนา(ความรู้สึก) สัญญา(ความจำได้หมายรู้) สังขาร(ความคิดดีคิดชั่ว) วิญญาณ(ความรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส) เป็นอนัตตา(ไม่ใช่ตัวตน)

เพราะถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นอัตตา(เป็นตัวตนของเรา) แล้วมันก็จักไม่เจ็บป่วย ขอให้มันเป็นอย่างนี้ ไม่ให้เป็นอย่างนั้นได้ตามปรารถนาแต่เพราะมันเป็นอนัตตา(มิใช่ตัวตนของเรา) เราจึงขอร้องให้มันเป็นอย่างนี้ไม่ให้มันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ตามปรารถนา

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า

พวกเธอคิดอย่างไร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นสุขหรือทุกข์ ควรจะยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเราหรือไม่ พระปัญจวัคคีย์กราบทูลว่า "ไม่ควรพระเจ้าข้า" ตรัสต่อไปว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งที่เป็นอดีตปัจจุบัน อนาคต ทั้งภายนอก ภายใน ทั้งหยาบและประณีต ทั้งใกล้และไกล ทั้งหมดล้วนสักแต่ว่ารูป สักแต่ว่าเวทนา สักแต่ว่าสัญญาสักแต่ว่าสังขาร สักแต่ว่าวิญญาณพวกเธอพึงพิจารณาด้วยปัญญาตามเป็นจริงว่า นั่นมิใช่ของเรา ไม่เป็นเรา มิใช่ตัวตนของเรา

อริยสาวกผู้ใฝ่สดับเมื่อเห็นอย่างนี้ย่อมเบื่อหน่ายในรูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายยึดติดเมื่อคลายยึดติด จิตก็หลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพันก็รู้ว่าได้หลุดพ้นแล้วชาติสิ้นแล้ว ได้ประพฤติพรหมจรรย์สมบูรณ์แล้ว กิจที่ควรทำได้ทำหมดแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป"

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเทศนาจบลง พระปัญจวัคคีย์ต่างก็โสมนัสชื่นชมภาษิตของพระองค์ ขณะที่พระพุทธองค์ตรัสอธิบายเรื่องนี้อยู่ จิตของพระปัญจวัคคีย์ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย หมดความยึดมั่นถือมั่นแล้ว

พระอรหันต์เกิดมีในโลก 6 องค์ ณ ครานั้นแล้ว

ดูตามความจริงแล้ว ทั้ง 5 ท่านได้ "ดวงตาเห็นธรรม" แล้วเรียกอีกอย่างว่าเป็นพระโสดาบัน รู้อนิจจัง และทุกขังแล้ว เพียงแต่ยังไม่สามารถเข้าใจถึงอนัตตา เมื่อทรงแสดงสูตรนี้โดยวิธียกปัญหาขึ้นมาให้ช่วยกันพิจารณาเป็นขั้นเป็นตอนอย่างต่อเนื่อง โดยพระพุทธองค์ตะล่อมเข้าสู่ประเด็นในที่สุดทั้ง 5 ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัต

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ อะไร

ในพระสูตรทรงยกขันธ์ 5 ขึ้นมาอธิบายให้เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังหรืออนิจจตา แปลกกันว่าความไม่เที่ยงฟังแล้วยังไม่กระจ่างถ้าจะให้เข้าใจดีต้องแปลว่า "ความเปลี่ยนแปลง"

ทุกขัง หรือทุกขตา แปลกันว่า "ความทนไม่ได้" หมายถึงภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ตลอดกาล ภาวะที่ขัดแย้งในตัว ไม่สมบูรณ์ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

อนิจจตา กับทุกขตา ใกล้เคียงกันมาก ถ้าจะให้เข้าใจง่ายน่าจะกำหนดดังนี้ อาการปรากฏชัดภายนอก หรือความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏให้เห็น เช่นผมหงอก ฟันหลุด หนังเหี่ยวย่น เป็นอนิจจตา ความบกพร่องไม่สมบูรณ์ในตัวมันเองที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการเปลี่ยนแปลงเป็น ทุกขตา

พูดให้ชัดก็ว่า ความเปลี่ยนแปลง(change) เป็นอนิจจตา

สาเหตุของความเปลี่ยนแปลง(subject to change) เป็นทุกขตา

อนัตตาหรืออนัตตตา 2 ความหมาย

ส่วนอนัตตา มี 2 ความหมายคือ

(1) ไม่ใช่ตน หมายถึงไม่ใช่ตัวเรา สักแต่ว่าธาตุสี่ขันธ์ห้ารวมกัน แล้วสมมุติว่านายนั่น นางนี่เท่านั้นเอง ที่จริงแล้วไม่มีตัวตนที่แท้ถึงเวลาก็ดับสลายตามเหตุปัจจัย บาลีพระสูตรตรัสไว้ชัดว่า ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวตนของใครจริงแล้ว เขาย่อมบังคับหรือขอร้องมันได้ว่าอย่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ขอให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นต้น แต่นี่มิได้เป็นดังนั้นเลย นี่คือความหมายของอนัตตานัยที่หนึ่ง

(2) ส่วนความหมายนัยที่สองคือ ไม่มีตัวตนถาวร อันนี้หมายถึงไม่มีอัตตาหรืออาตมันถาวร อย่างที่คนสมัยนั้นเชื่อถือและสั่งสอนกัน คือชาวอินเดียโบราณจะสอนกันว่า เมื่อร่างกายแตกดับแล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งที่ไม่ดับไปด้วย เพราะเป็นสิ่งสมบูรณ์ที่สุด(The Absolute) สิ่งนี้เรียกว่า อัตตา(อาตมัน) บ้าง ชีวะบ้าง พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่มีอัตตาที่ว่านี้

ในหนังสือระดับอรรถกถา เวลาท่านอธิบายความหมายขออนัตตา ท่านจะอธิบายไว้ 4 นัยด้วยกัน คือ

1.เป็นอนัตตาเพราะเป็นของสูญหรือว่างเปล่า

2.เป็นอนัตตาเพราะไม่มีเจ้าของ หรือเราไม่สามารถเป็นเจ้าเข้าเจ้าของมันได้

3.เป็นอนัตตาเพราะไม่สามารถทำให้มันเป็นตามประสงค์ได้

4.เป็นอนัตตาเพราะเป็นปฏิปักษ์หรือค้านกับอัตตา

ความหมายทั้ง 4 นัยนี้สรุปลงใน 2 นัยข้างต้นที่ได้อธิบายมาแล้วนั้นเอง พระอรรถกถาจารย์ ท่านอธิบายอีกทางหนึ่งเพื่อให้กระจ่างยิ่งขึ้น

ถ้าดูตามคำแปลพระสูตรแล้วคล้ายกับว่า พระพุทธเจ้าทรง "ชี้นำ" ให้สรุปตามพระองค์ คำถามพระองค์จึงได้คำตอบทันทีตามที่ทรงต้องการ เช่น ถามว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นอย่างไร รูป เที่ยงหรือไม่เที่ยง ภิกษุทั้งหลายตอบทันทีว่า "ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า" เมื่อไม่เที่ยง มันเป็นสุขหรือทุกข์ "เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า" สิ่งใดเป็นไม่เที่ยงเป็นทุกข์มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา ควรจะยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเราไหม "ไม่ควร พระเจ้าข้า" ฯลฯ ฟังดูคล้ายถามปุ๊ปตอบปั๊บ แต่ที่จริงแล้ว คงไม่อย่างนั้น คงทรงเปิดโอกาสให้ผู้ฟังใช้บทบาทแห่งปัญญาคิดอย่างอิสระ จนกระทั่งรู้ด้วยตนเองมากกว่า กว่าจะได้บทสรุปอย่างนี้คงกินเวลานานพอสมควร 

ลอกมาจาก...คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ


โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

 




บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters
Powered by SMF 1.1.17 | Simple Machines|Copyright © 20010 BY : thammaonline.com
บทความธรรมะรวมเรื่องกฏแห่งกรรมสมาธิ วิปัสนากรรมฐานพลังจิตกระดานถาม-ตอบ Sitemap

Google มาเยี่ยมเว็บเมื่อ มีนาคม 29, 2024, 07:09:36 AM