เมษายน 19, 2024, 11:09:19 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สัญญา ๑๐ คิริมานนทสูตร  (อ่าน 11009 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« เมื่อ: มิถุนายน 01, 2013, 02:38:19 PM »

Permalink: สัญญา ๑๐ คิริมานนทสูตร
สัญญา 10  เพื่อทำลายอาพาธ

1.อนิจจะสัญญา      
ขันธ์ 5  รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์โดยอาการ พิจารณามองเห็นว่า ไม่เที่ยง
2.อนัตตะสัญญา      
อายตนะ ภายนอก 6  ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะ ภายใน 6 รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์โดยอาการ พิจารณามองเห็นว่า ไม่มีตัวตน
3.อสุภะสัญญา      
อาการ 32   ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจตับ พังผืด ไต ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลดหนอง เลือด เหงื่อ มัน น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร โดยอาการพิจารณาเห็น ความเป็นของไม่งาม ไม่น่าพิศมัย ในกายนี้
4.อาทีนะวะสัญญา      
ผลของโรคต่าง ๆ  และ เหตุของโรคต่าง ๆ โดยอาการพิจารณาเห็น ความเป็นโทษ ในกายนี้
5.ปหานะสัญญา      
กามวิตก ,พยาบาทวิตก , วิหิงสาวิตก , อกุศลกรรมทั้งปวงโดยอาการสำเหนียกด้วยอารมณ์ ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป  ย่อมทำให้ถึงซี่งความไม่มี
6.วิราคะสัญญา      
ธรรมที่ทำให้เกิดการสละคืนอุปธิทั้งปวง และธรรมที่ทำให้ตัณหาสิ้นไปโดยอาการเจริญปัญญาให้ใจมุ่งมั่น ต่อการทำลายล้างกิเลสที่เกิดขึ้น
7.นิโรธะสัญญา      
ธรรมชาตินั่นสงบ ประณีต ระงับได้แล้วซึ่ง อุปธิ และตัณหา โดยไม่เหลือโดยอาการทรงอารมณ์ เสวยผลแห่งการเข้าถึงนิพพาน
8.สัพพะโลเก อะนะภิระตะสัญญา      
อุปายะ และ อุปาทาน อันนอนเนื่องในอนุสัยจิตโดยอาการเจริญสติ ปัญญา โดยการงดเว้น และ ไม่ถือมั่น
9.สัพพะสังขาเรสุ อะนิฏฐะสัญญา      
สังขารทั้งปวงโดยอาการเจริญสติ ปัญญา โดยความรู้สึกอึดอัด ระอา เกลียดชัง แต่ สังขารทั้งปวง
10.อานาปานัสสะติ      
   1.เป็นผู้มีสติ หายใจเข้า  และ หายใจออก  
   2.หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว ก็มีสติรู้ชัด ว่า หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว  
   3.หายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้น ก็มีสติรู้ชัด ว่า หายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้น  
   4.ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้กาย ทั้งปวง หายใจเข้า และ หายใจออก  
   5.ย่อมศึกษาว่า จักระงับกายสังขาร ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก  
   6.ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้ปีติ ทั้งหายใจเข้า หายใจออก    
   7.ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้จิตตสังขาร ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก  
   8.ย่อมศึกษาว่า จักระงับ จิตตสังขาร ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก  
   9.ย่อมศึกษาว่า จักกำหนด รู้จิต ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   10.ย่อมศึกษาว่า จักยังจิตให้บันเทิง ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   11.ย่อมศึกษาว่า จักตั้งจิตให้มั่น ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   12.ย่อมศึกษาว่า จักเปลื้องจิต ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   13.ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความเป็นของไม่เที่ยง ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   14.ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความคลายกำหนัด ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   15.ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความดับสนิท ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   16.ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความสลัดคืน ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก

ขอขอบคุณที่มาจาก  http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=75.0




« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 12, 2015, 09:55:51 AM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #1 เมื่อ: มิถุนายน 01, 2013, 02:38:57 PM »

Permalink: สัญญา ๑๐ คิริมานนทสูตร
การเจริญสัญญา 10 ประการ
พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เล่ม ๑๖
ทสก-เอกาทสกนิบาต อาพาธสูตร

[๖๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค ได้โปรดอนุเคราะห์เสด็จเยี่ยมท่านพระคิริมานนท์ยังที่อยู่เถิด พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเธอพึงเข้าไปหา แล้วกล่าวสัญญา ๑๐ ประการ แก่คิริมานันทภิกษุไซร้ ข้อที่อาพาธของคิริมานันทภิกษุจะพึงสงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ สัญญา ๑๐ประการเป็นไฉน คือ อนิจจสัญญา ๑ อนัตตสัญญา ๑ อสุภสัญญา ๑ อาทีนวสัญญา ๑ ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑ นิโรธสัญญา ๑ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑ สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ๑ อานาปานัสสติ ๑ ฯ

ดูกรอานนท์ ก็อนิจจสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง (ดูเรื่องขันธ์ 5 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ - ธัมมโชติ) ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอนิจจสัญญา ฯ

ดูกรอานนท์ ก็อนัตตสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า จักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา (ดูเรื่องอายตนะ 12 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ - ธัมมโชติ) ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการเหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอนัตตสัญญา ฯ

ดูกรอานนท์ ก็อสุภสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้นั่นแล เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่า ในกายนี้มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม เนื้อหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร (ดูเรื่องดอกไม้อริยะ ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ - ธัมมโชติ) ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามในกายนี้ ด้วยประการดังนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอสุภสัญญา ฯ

ดูกรอานนท์ ก็อาทีนวสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่างๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้ คือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด หูด โรคละอองบวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาต อาพาธอันเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้ ด้วยประการดังนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอาทีนวสัญญา ฯ

ดูกรอานนท์ ก็ปหานสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งพยาบาทวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมให้ถึงความไม่มี ซึ่งวิหิงสาวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมให้ถึงความไม่มี ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันชั่วช้า อันเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นแล้ว ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าปหานสัญญา ฯ

ดูกรอานนท์ ก็วิราคสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง (อุปธิ = ที่ตั้งแห่งทุกข์ - ธัมมโชติ) ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอกกิเลส ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ (ซึ่งก็คือสภาวะของพระนิพพานที่สัมผัสได้ในขณะที่มีชีวิตอยู่นั่นเอง - ธัมมโชติ) ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าวิราคสัญญา ฯ

ดูกรอานนท์ นิโรธสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่ดับโดยไม่เหลือ ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ (วิราคะ และนิโรธ ล้วนเป็นชื่อหนึ่งของพระนิพพาน โดยวิราคะเน้นที่ความสำรอกกิเลส ส่วนนิโรธเน้นที่ความดับไม่เหลือของกิเลส - ธัมมโชติ) ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่านิโรธสัญญา ฯ

ดูกรอานนท์ สัพพโลเกอนภิรตสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละอุบายและอุปาทานในโลก (อุปาทาน = ความยึดมั่นถือมั่น - ธัมมโชติ) อันเป็นเหตุตั้งมั่น ถือมั่น และเป็นอนุสัยแห่งจิต (อนุสัย = กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน - ธัมมโชติ) ย่อมงดเว้น ไม่ถือมั่น (สัพพโลเกอนภิรตสัญญา = การกำหนดหมายในความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง - ธัมมโชติ) ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าสัพพโลเกอนภิรตสัญญา ฯ

ดูกรอานนท์ สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมอึดอัด ย่อมระอา ย่อมเกลียดชังแต่สังขารทั้งปวง (สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา = การกำหนดหมายในความไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งปวง - ธัมมโชติ) ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าสัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ฯ

ดูกรอานนท์ อานาปานัสสติเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอเป็นผู้มีสติหายใจออก เป็นผู้มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น **คือ การกำหนดลมหายใจเข้าออก โดยมีสติตั้งไว้ที่ลมหายใจไม่หลุดไปจากลมหายใจ เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ว่ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ว่าสั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทา กามราคะ และความหลงไหล นานาประการ** ..... (ดูรายละเอียดในเรื่องอานาปานสติสูตร หมวดวิปัสสนา (ปัญญา) - ธัมมโชติ) .....
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอานาปานัสสติ ฯ

ดูกรอานนท์ ถ้าเธอพึงเข้าไปหา แล้วกล่าวสัญญา ๑๐ ประการนี้ แก่คิริมานนทภิกษุไซร้ ข้อที่อาพาธของคิริมานนทภิกษุจะพึงสงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการ นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ

ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เรียนสัญญา ๑๐ ประการนี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้เข้าไปหาท่านพระคิริมานนท์ยังที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวสัญญา ๑๐ ประการ แก่ท่านพระคิริมานนท์ ครั้งนั้นแล อาพาธนั้นของท่านพระคิริมานนท์สงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้ ท่านพระคิริมานนท์หายจากอาพาธนั้น ก็แลอาพาธนั้นเป็นโรคอันท่านพระคิริมานนท์ละได้แล้ว ด้วยประการนั้นแล ฯ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 01, 2013, 03:44:05 PM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters
Powered by SMF 1.1.17 | Simple Machines|Copyright © 20010 BY : thammaonline.com
บทความธรรมะรวมเรื่องกฏแห่งกรรมสมาธิ วิปัสนากรรมฐานพลังจิตกระดานถาม-ตอบ Sitemap

Google มาเยี่ยมเว็บเมื่อ เมษายน 10, 2024, 04:04:06 PM