เมษายน 20, 2024, 04:57:49 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: โลกธรรม ๘ ประการ  (อ่าน 37642 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เด็กหน้าวัด
เด็กใหม่
นักบุญผู้ใจดี
*****

พลังความดี : 696


เพศ: ชาย
กระทู้: 13280
สมาชิก ID: 1


« เมื่อ: กันยายน 16, 2010, 11:07:21 PM »

Permalink: โลกธรรม ๘ ประการ
โลกธรรม ๘ ประการ




อนิจจัง ความไม่เที่ยง ยากเลี่ยงหลบ
ในโลกภพ มีเกิดดับ สลับหมุน
ใครยึดติด สำคัญผิด ปิดทางบุญ
มีแปดอย่าง ที่คอยหนุน ให้ขุ่นใจ

หนึ่งคือลาภ สองเสื่อมลาภ ควรทราบไว้
สามคือยศ ที่ใครๆ ล้วนอยากได้
สี่เสื่อมยศ เมื่อร่วงหล่น ทนทุกข์ใจ
ทั้งสี่อย่าง เกิดดับไว ใช่จีรัง

ข้อที่ห้า คำนินทา มีแน่ๆ
โดนทั้งเด็ก ทั้งคนแก่ แค่คล้อยหลัง
หกสรรเสริญ คนเยินยอ ชอบพอจัง
ข้อเจ็ดแปด สุข..ทุกขัง ใช่ยั่งยืน

โลกธรรม แปดประการ ควรอ่านไว้
เป็นธุลี เกาะที่ใจ ยากใครฝืน
คู่กับโลก ที่หมุนอยู่ ทุกวันคืน
มิมีทาง ให้เป็นอื่น จงตื่นมอง..เฟื่องฟ้า

พระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 15
อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปัณณาสก์ เมตตาวรรค
โลกธรรมสูตร

โลกธรรมสูตร

[๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้ ย่อมหมุนไปตามโลก
และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ ๘ ประการเป็นไฉน คือ ลาภ ๑
ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑
ทุกข์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก
และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้ ฯ
ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑
ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑
ทุกข์ ๑ เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความแปรปรวน
เป็นธรรมดา แต่ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ ทราบธรรม
เหล่านั้นแล้ว พิจารณาเห็นว่ามีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ธรรมอันน่าปรารถนา ย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อม
ไม่ยินร้ายต่ออนิฏฐารมณ์ ท่านขจัดความยินดีและความยินร้าย
เสียได้จนไม่เหลืออยู่ อนึ่ง ท่านทราบทางนิพพานอัน
ปราศจากธุลี ไม่มีความเศร้าโศก เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ
ย่อมทราบได้อย่างถูกต้อง ฯ...





ขอบคุณบทความจาก ธรรมจักร




บันทึกการเข้า
oillada
เด็กใหม่
*****

พลังความดี : 0


เพศ: หญิง
อายุ: 44
กระทู้: 5
สมาชิก ID: 2386


« ตอบ #1 เมื่อ: มกราคม 06, 2013, 05:28:26 PM »

Permalink: โลกธรรม ๘ ประการ
ขออนุญาติกัลยาณมิตรทุกท่าน เพิ่มเติมข้อมูล โลกธรรม 8 ประการนะคะ

     โลกธรรมก็คือธรรมะประจำโลก โลกในที่นี้หมายถึงสัตว์โลก โลกคือหมู่สัตว์ มนุษย์เรานั้นจัดว่าเป็นสัตว์ประเภทหนึ่งซึ่งเป็นสัตว์ประเภทที่มีจิตสูงกว่าสัตว์เดรัจฉาน รองลงมาก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน รอง ๆ ลงไปเป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อย เรียกว่าสัตว์โลก โลกคือหมู่สัตว์หมายถึงมนุษย์เราที่เกิดมาจะต้องตกอยู่ในโลกธรรม โลกธรรมท่านจัดเป็น ๘ ประการ ๔ คู่ คือ

     ๑.  มีลาภ  เสื่อมลาภ
     ๒.  มียศ  เสื่อมยศ
     ๓.  มีสุข  มีทุกข์
     ๔.  มีสรรเสริญ  มีนินทา

     อันนี้เป็นโลกธรรม สำหรับคู่ที่ ๑. คือ มีลาภ เสื่อมลาภ คำว่าลาภในที่นี้ก็หมายถึง เงินนั่นเอง คือมีเงินทอง ข้าวของ เครื่องใช้ ปัจจัย ๔ ที่เราท่านทั้งหลายมีความปรารถนา ความต้องการอยู่ทุกวันนี้ เพื่อมาดำรงชีวิตต้องมีกินต้องมีใช้ มีอาหารสำหรับบริโภค มีที่อยู่อาศัยป้องกันแดดลมฝน สัตว์เลื้อยคลานและอันตรายทั้งหลาย ต้องการมีเสื้อผ้านุ่งห่ม ต้องการมียารักษาโรคเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เราจึงต้องการปัจจัย ๔ ซึ่งจะมีขึ้นก็ต้องมีเงินออกไปแลก คนเราเกิดมาก็ต้องการเงินต้องการมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี เรียกว่า ต้องการมีลาภ แต่เงินนี้มันจะเิกิดขึ้นลอย ๆ ไม่ได้มันจะต้องประกอบการงาน มีงานก็มีเงิน ขาดงานมันก็ขาดเงิน เราจึงต้องทำงานกันตัวเป็นเกลียว หนักก็เอาเบาก็สู้ต้องหาความรู้เพิ่มพูนยิ่งขึ้นไป เพื่อเราจะได้มีฐานะหน้าที่การงานสูงขึ้นไป จะได้มียศ มีลาภ เพราะฉะนั้นงานกับเงินเป็นสิ่งที่คนต้องการปรารถนา เงินมันก็มาจากงาน ท่านจึงกล่าวเอาไว้ว่า

     งานกับเงิน          เดิืนคู่          ไม่อยู่นิ่ง
     งานไม่ทำ           เงินไม่มี       นี้ความจริง
     ชายและหญิง       จริงอย่างว่า   ต้องหาเงิน
     อยากได้เงิน        ต้องทำงาน    แต่งานนั้น
     ควรเลือกสรร        งานดี          ที่สรรเสริญ
     คือสัมมา            อาชีวะ         จึงจะเจริญ
     งานกับเงิน          เดินคู่           รู้ไว้เอย


     งานกับเงินมันเดินคู่กันมีงานมันก็มีเงิน ขาดงานมันก็ขาดเงิน คนเราต้องการอยากมีเงินก็ต้องทำงาน ต้องมีอุตสาหะ วิริยะ  ความขยันหมั่นเพียรหนักเอาเบาสู้ ไม่อ้างว่าร้อนนัก หนาวนัก เย็นนัก งานเป็นเหตุ เงินเป็นผล คนเราบางทีก็หาเงินในทางที่ไม่ถูกต้อง เป็นมิจฉาอาชีพอันนี้พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสห้ามไว้ว่าให้ประกอบการงานที่เป็นสัมมาอาชีพ ส่วนที่เป็นมิจฉาอาชีพไม่ควรกระทำ เพราะจะทำให้เดือดร้อน เงินที่ได้มาจากมิจฉาชีพ มันเป็นเงินร้อน มันไม่เป็นเงินเย็น มันจะร้อนใจเพราะได้เบียดเบียนเขามา เพราะไปสร้างเวรสร้างกรรม ศัตรูเอาไว้ หากไม่ได้หากินด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน

     พระพุทธเจ้าสนับสนุนว่า "อุฏฐาตา วินทะเตธะนัง" คนขยันย่อมหาทรัพย์ได้ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ไม่อยู่ด้วยความยากลำบาก อันนี้หล่ะเพราะฉะนั้นก็เป็นลาภที่เราต้องการ เงินเป็นสิ่งที่คนต้องการ มีกลอนบทหนึ่งกล่าวว่า

     เงินเอ๋ย ง.เงิน          ทำให้คนงงงวย
     อยากร่ำอยากรวย      หลงไปเล่นหวยหาเงิน
     เริ่มตื่นนอนขึ้นมา       ก็ต้องเต้นแร้งเต้นกา
     วิ่งเที่ยวหาแต่เงิน      บ้างก็ทำนาค้าขาย
     บ้างทำไร่ทำสวน       บ้างหากินก่อกวน
     ทุึกสิ่งล้วนหาเงิน       บ้างฉ้อราษฎร์บังหลวง
     รีบตักตวงกอบโกย     บ้างริอาจเป็นขโมยทำโดยหวังเงิน

     บางคนก็ทำโดยสุจริตบางคนก็ทำทุจริตผิดกฎหมาย อันนี้ มันเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เงินนั้นต้องได้มาโดยทางสุจริตเป็นสัมมาอาชีพ แต่เงินที่เราได้มานั้นมันก็ไม่แน่นอน บางครั้งมันก็ได้มาบางครามันก็เสียไป บางทีไปทำมาค้าขายบางครั้งก็ได้กำไรมาก บางครั้งก็ได้กำไรน้อย บางคราวมันก็ขาดทุนถ้าค้าขายใหญ่โต ตั้งกิจการงานห้างร้าน บริษัทถ้าได้กำไรก็ได้กำไรงาม ถ้ามันขาดทุนก็ขาดทุนมาก มันไม่แน่นอน มันก็มีได้มีเสีย เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องปกติธรรมดา เราจะต้องทำใจ ถ้าหากว่าทำใจไม่ได้มันก็เสียทั้งสองทาง ไหนเสียทรัพย์สินเงินทอง ไหนจะต้องเสียใจ เช่นค้าขายขาดทุนไม่ได้กำไร ถ้าเราทำใจไม่ได้มันก็เสียใจไปด้วย เพราะฉะนั้นท่านจึงถือว่ามันเป็นโลกธรรม มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มั่นคงถาวร บางทีมันก็ได้ บางคราวมันก็เสีย เพราะฉะนั้นก็ต้องทำใจถึงใครได้ก็อย่าได้ดีใจจนเกินไป เวลามีลาภ

     บางคนไม่รู้ไม่ได้ทำใจไว้ก่อน ถ้าได้ลาภก็ดีอกดีใจ เต้นแร้งเต้ากา ชื่นอกชื่นใจ ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในลาภที่ได้มาไม่นึกถึงคราวที่มันจะต้องสูญเสียไป มันก็ต้องไปติดอยู่ในลาภ พอลาภนั้นเสื่อมไปก็เสียใจ น้อยเนื้อต่ำใจ ร่ำไห้ ตีอกชกตัว อาลัยอาวรณ์ถึงลาภที่สูญเสียไป บางทีบ้านเราถูกไฟไหม้มันก็หมดไป บางทีถูกโจรขโมยถูกคดโกงเอาไป นี่ก็เสื่อมลาภไปแล้ว มันเสื่อมไป บางทีไปตั้งบริษัทห้างร้าน มันเกิดบริษัทล้มละลายมันก้เสื่อมไปหมดหล่ะ หากว่าลาภเสื่อมไปเช่นนี้ ถ้าเราทำใจได้เราก็มีความเป็นปกติหรือจะทุกข์ มันก็ทุกข์น้อย หากไม่ทำใจไว้ก่อน ทุกข์มันมาก เราต้องมาพิจารณาดูว่าทุึกสิ่งทุกอย่างมันไม่เที่ยงแท้ไม่แน่ไม่นอน คนรวย ๆ อาจจะเป็นคนจนลงเมื่อไหร่ก็ได้ คนจนอาจจะเป็นคนรวยขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ไม่แน่นอน บางคนยากจนเข็ญใจลำบากตรากตรำ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน หากินตัวเป็นเกลียว ไม่ได้พอปากพอท้อง อยู่ ๆ เกิดมาถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ได้ตั้งหลายล้าน วันนี้ก็รวยขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว นี้เรียกว่าลาภมันเกิดขึ้นมา เค้าเรียกว่า ลาภลอย

     บางคนพอรวยขึ้นมาแล้ว ทำใจไม่ได้ เป็นลม ลมจับต้องช่วยกันปฐมพยาบาล ฉะนั้นอย่าดีใจจนเกินไป เมื่อได้ลาภ มีอยู่รายหนึ่งถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ด้วยความดีใจเกินไปก็ทำให้เกิดโทษ พอเอาล๊อตเตอรี่มาตรวจดู ถูกรางวัลที่ ๑ ดีใจกำล๊อตเตอรี่วิ่งไปที่นิคมลพบุรี รถก็ไม่ยอมขึ้นด้วยความดีใจ จะรอขึ้นรถหน่อยมันร้อนใจอยากจะเอาไปบอกภรรยาว่าถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ แล้วมันไม่ทันใจ รถมันยังไม่ออก ก็ต้องวิ่งไปให้ภรรยาดูว่าถูกล๊อตเตอรี่ ผลสุึดท้ายวิ่งออกจากบ้านเข้าป่าไปเลยเสียจริตไปเลย โดยไม่ได้ใช้เงิน เนี่ยมีเงินได้เงินมาก็ไม่ได้ใช้เงิน กลับเสียจริตไปเพราะว่าดีใจเกินไป

     บางคนเสียใจเกินไปก็ไม่ได้ สลบแล้วสลบอีก ท่านให้ทำใจเป็นกลาง ๆ ว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อเรามีลาภแล้วอย่าไปหลงลาภติดลาภ มันจะเสื่อมลาภเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ไม่ทราบได้เหมือนน้ำทะเล มันมีขึ้นแล้วมันก็มีลง ชะตาชีวิตของเราก็เช่นเดียวกัน บางครั้งมันก็ขึ้นไปแต่บางคราวมันก็ลงมา เมื่อถึงคราวลง เมื่อเรารู้เสียก่อนมันก็ไม่ทุกข์ มันก็จะได้บรรเทาทุกข์ไป ก็อาศัยปัญญาความรู้ เรียกว่ารู้บรรเทาทุกข์ ถ้าเราไม่รู้มันก็เพิ่มทุกข์ คนที่ไม่มีความรู้มันก็เพิ่มทุกข์ พอเสื่อมลาภมันก็เป็นทุกข์โสกาอาดูร กินไม่ได้นอนไม่หลับกระวนกระวาน ร่ำไห้น้ำตาไหลเปียกหมอนเศร้า น้อยเนื้อต่ำใจ คราวนี้หมดตัวแล้วคิดไปแต่ในเรื่องไม่ดี บางคนก็เสียใจตายไปก็มี ก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ มันจะอยู่ไปได้อย่างไร คิด ๆ ไป เพราะฉนั้น เราก็ถือว่าเราเกิดมาเรามีอะไรมา มันไม่มีอะไรมา มันเปลือยกายมาทุกคน ไม่มีใครได้เพชรนิลจินดาออกมาจากท้องแม่ ไม่มีผ้า พอเราเกิดมามีบ้านที่อยู่อาศัยมีอะไรขึ้นมาก็ให้คิดถึงตอนนี้บ้างมันจะได้คลายทุกข์ลงไป ถ้าเราไม่เคยคิดมันทุกข์ใหญ่เลย โอ้ย! หมดตัวแล้ว คราวนี้แย่แล้วคิดไปใหญ่โตมันก็ทุกข์นะสิ ทุกข์หนักเข้าทุกข์มันท่วมท้นไม่ไหว มันก็ตาย บางคนก็ล้มตายไปเลย เมื่อถึงคราวเสื่อมลาภ ธรรมะนั้นสำคัญในภาวะอย่างนี้ให้มองถึงความเป็นธรรมดา เรานั้นไม่รู้ธรรมดาคือไม่รู้ธรรมะ จิตใจมันจึงเป็นทุกข์ หาทางดับทุกข์หรือออกจากทุกข์ไม่ได้ เมื่อไม่รู้จะปลดเปลื้องความทุกข์ออกได้อย่างไร ใครเค้าก็ช่วยไม่ได้ นี่แหละมันก็ทุกข์หนักเค้าทนไม่ไหวมันก็หนีหายตายจากกันไป เพราฉะนั้นท่านจึงต้องให้มีปัญญามีความรู้ เราจะได้ใช้ความรู้แก้ปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้น เรารู้ว่าเป็นธรรมดา เป็นธรรมประจำโลก เกิดมาก็ต้องประสบกับสิ่งเหล่านี้ทุกคน มันต้องมีได้ มีเสีย ได้ลาภ เสื่อมลาภ เราต้องทำใจ เราได้อะไรมาก็ต้องทำใจไว้เสียก่อน ไม่แน่นอนนะ สิ่งที่ได้มานี้ไม่แน่นอน มันจะอยู่กับเราไปแค่ไหนก็ไม่รู้ มันจะออกจากเราหมดไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เมื่อคราวที่เราเสื่อมลาภมันก็ไม่เสียใจ คนที่ทำใจได้ก็ไม่มีความทุกข์หรือมีความทุกข์น้อย แต่คนที่ทำใจไม่ได้ก็ทุกข์ใหญ่โตเลย มุกข์มันก็มาก ๆ เข้าท่วมท้นเหมือนน้ำมันท่วมมันก็จมอยู่ใต้น้ำหมด ความทุกข์มันท่วมจิตใจ จิตใจก็ถูกน้ำท่วมหมดเลย นี่ความทุกข์เดือดร้อนวุ่นวายสับสนทำใจไม่ได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้ึความรู้ความเข้าใจในเรื่องโลกธรรม คู่ที่หนึ่ง คือ มีลาภ เสื่อมลาภ

บันทึกการเข้า
oillada
เด็กใหม่
*****

พลังความดี : 0


เพศ: หญิง
อายุ: 44
กระทู้: 5
สมาชิก ID: 2386


« ตอบ #2 เมื่อ: มกราคม 06, 2013, 08:19:41 PM »

Permalink: โลกธรรม ๘ ประการ
     คู่ที่ ๒ มียศ เสื่อมยศ ยศก็คือตำแหน่งหน้าที่การงานที่เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการพลเรือน หรือมีตำแหน่งหน้าที่การงานทางบริษัทห้างร้าน แต่งตั้งให้เป็นหัวหน้างานก็ได้ยศ เรามียศมันก็ไม่แน่นอน เมื่อเราได้ยศมา เราก็ต้องทำใจว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่แน่นอน เราจะเสื่อมยศไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ จะได้ไม่เสียใจ เมื่อเกิดเสื่อมยศ ถึงคราวได้ยศก็ไม่ต้องดีใจจนเกินไปหล่ะ ก็ทำใจให้เป็นกลาง ๆ บางคนได้ยศก็ดีใจ เต้นแร้ง เต้นกา ผูกพันติดอยู่ในยศ ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในยศ พอถึงคราวเสื่อมยศแล้ว ก็เสียใจ ยศที่เราได้มานี้มันจะเสื่อมไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพราะมันไม่เที่ยงแท้แน่นอน เค้าจะปลดออกจากหน้าที่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้

     ยกตัวอย่างเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนโท) ตัวท่านเองก็ไม่หวังอยากได้ยศหรอก แต่รัชกาลที่ ๖ พระราชทานยศให้ ต่อมาท่านแต่งหนังสือขัดต่อพระราโชบาย ขัดต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ตอนนั้นรัชกาลที่ ๖ ท่านต้องการจะสั่งสมอาวุธ ยุทโธปกรณ์ เอาไว้สำหรับป้องกันประเทศชาติบ้านเมือง ต้องมีอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพสูง เพื่อไม่ให้ศัตรูมารุกรานบ้านเมืองเรา ท่านก็ประกาศเชิญชวนประชาชนช่วยกันเสียสละทรัพย์ซื้ออาวุธและสั่งสมอาวุธไว้เพื่อป้องกันประเทศชาติ แต่สำหรับท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ แต่งหนังสือขัดต่อพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ ๖ ท่านบอกว่าการสั่งสมอาวุธไม่ดีเป็นบาป เอาไว้ฆ่ากันทำลายร่างกายกัน มันไม่ดี ไม่ถูกต้อง เมื่อเป็นดังนี้รัชกาลที่ ๖ ก็เลยถอดท่านออกจากยศเลย พอท่านถูกถอดออกจากยศ ท่านบอกว่า "ดีแล้วเป็นหลวงตาธรรมดา ๆ สบายดี" ไม่ได้มีความเสียใจแต่ประการใด เป็นหลวงตาจันทร์สบายมาก ท่านเป็นนักปริยัติและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานด้วย ท่านบวชมาต้องการที่จะพ้นทุกข์ ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ดำเนินตามพระยุคลบาทพระศาสดา เพื่อต้องการให้พ้นจากความทุกข์เท่านั้น เมื่อได้ลาภได้ยศท่านก็ไม่ดีใจ ไม่ติดยศ เมื่อเสื่อมยศท่านก็ไม่เสียใจ พระบางรูปแทบจะงัดคอตายหวังอยากจะเป็นพระครู ตั้งใจหมายมั่นว่าเราจะได้เป็นพระครูแน่นอน เป็นพระครูสัญญาบัตร และขอไปแล้วก็หวังจะได้ ผลสุดท้ายก็แทยจะฆ่าตัวตาย มันเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ท่านก็ไม่มีความทุกข์แต่ประการใด

     ต่อมารัชกาลที่ ๖ จัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนา ที่พระราชวังน้อย ได้นิมนต์ครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ ส่วนเรื่องที่ทำการเทศนานั้นพระองค์ให้แสดงธรรมเรื่อง "เทวดา" พระเถระก็แสดงธรรมเรื่องของเทวดา ในตอนหนึ่งพระองค์ได้ถามพระเถระนักเทศน์ว่า "นิมนต์ให้พระเดชพระคุณยกตัวอย่างของเทวดาที่อยู่ในปัจจุบันนี้มีไหมลองยกตัวอย่างให้ฟัง" ท่านลืมตำราท่านว่าเทวดามันมีอยู่ ๓-๔ จำพวก

     ๑.     สมมติเทพ     เทวดาโดยสมมติ
     ๒.     อุบัติเทพ       เทวดาโดยการเกิดขึ้นมา
     ๓.     วิสุทธิเทพ     เทวดามีความบริสุทธิ์

     สมมติเทพ คือ พระราชา พระราชินี พระบรมวงศานุวงค์ เป็นเทวดาโดยสมมติ อุบัติเทพ เทวดาอุบัติบังเกิดขึ้นทันทีทันใด อีกประการหนึ่งคือ วิสุทธิเทพ หมายถึง พระอรหันต์ พระพุทธเจ้า เหล่าพุทธสาวก ที่ได้พระอรหันต์ ท่านลืมตำรา ท่านก็เลยไม่ได้ยกตัวอย่าง เมื่อท่านตอบไม่ได้ก็ได้ให้เานาอำมาตย์ไปนิมนต์พระมาเทศอีกสักครั้งหนึ่ง เสนาอำมาตย์ก็พิจารณาว่าผู้ที่มีธรรมถึงที่มีความเชี่ยวชาญในการเทศน์ ก็เลยนิมนต์หลวงพ่อจันทร์ ที่ถูกถอดยศไป หลวงพ่อจันทร์ท่านก็เข้าวังไปเทศน์เรื่องเทวดา ท่านเก่งปริยัติ และปฏิบัติ ท่านเทศได้ดีมาก รัชกาลที่ ๖ ก็ถามเรื่องเทวดาในปัจจุบัน ลองให้พระคุณเจ้าอธิบายให้ฟังซิว่าเทวดาปัจจุบันมีไหม หรือเป็นอย่างไร ลองยกตัวอย่างให้ฟังสิ ท่านก็เลยยกเอาว่า "พระบาทสมเด็จพระมหาบพิตรพระราชสมภาร  สมเด็จพระราชินี  เจ้าฟ้าราชโอรส พระราชกุมารี เป็นสมมติเทพ เป็นเทวดาโดยสมมติ" ทำให้รัชกาลที่ ๖ ทรงพอพระทัยมาก เพราะมันถูกต้องทุกอย่าง ต่อมาได้เลื่อนยศสูงขึ้นไปอีก ท่านก็ไม่ดีใจ เลื่อนจนถึงขั้นรองสมเด็จฯ เป็น (พระอุบาลีคุณูปมาจารย์)
 
     ฉะนั้นเราต้องทำการเตรียมพร้อมเอาไว้ อย่าไปติดยศหลงยศเมื่อได้ยศมา บางคนเวลาได้ยศหลงยศ บางทีเป็นผู้ใหญ่บ้าน ไปกินข้าวกับภรรยาไม่ได้เพราะติดยศ บางทีเขาถามว่าผู้ใหญ่ทำไมไม่ไปขายไอศกรีมเล่า โอ้...ไม่ได้แล้วเดี๋ยวนี้ได้เป็นผู้ใหญ่เนี่ยทำไม่ได้ นี่เขาเรียกว่าหลงยศ ติดยศเพราะสิ่งเหล่านี้ไม่แน่นอน

     ขอยกตัวอย่างถึงเรื่องอำมาตย์ ๒ คน อำมาตย์คนหนึ่งมีนิสัยถือว่าลาภยศ ต้องดิ้นรน ถ้าไม่ดิ้นรนแล้วมันไม่ได้หรอก เราต้องมีความมานะ แต่อำมาตย์อีกคนก็รู้สึกเฉย ๆ มันจะได้ยศหรือไม่ได้มันธรรมดา อยู่เฉย ๆ มันจะได้เดี๋ยวมันก็ได้เองเป็นเองไม่ต้องดิ้นรนหรอก ทำดีเรื่อยไป ทำดีก็ไม่ต้องปรารถนาจะได้ดี มันจะได้ดีเอง มันเป็นเรื่องธรรมดา ถึงคราวมันได้มันก็ได้ ถึงคราวไม่ได้มันก็ไม่ได้ อำมาตย์คนนี้ไม่มีความทุกข์ แต่อำมาตย์อีกคนมีความทุกข์เพราะการดิ้นรน เวลามันไม่ได้มันก็ทุกข์ แต่อำมาตย์ที่ว่าถึงคราวเป็นเองก็ทำดีเรื่อยไป ก็ไม่มีความทุกข์

     ต่อมาพระราชาได้สอบถามอำมาตย์ที่ถือคติว่า ถึงคราวเป็นเองเนี่ย ถามว่าอยากจะมีภรรยาแล้วหรือยัง อำมาตย์ตอบว่าถึงคราวได้เองพระเจ้าค่ะ และหันไปถามอำมาตย์อีกคนนึงว่า อยากจะมีภรรยาแล้วหรือยัง อยากจะมีแล้วพระเจ้าค่ะ ถ้าต้องการอยากได้ก็จะขอให้เอาไหม เอาพระเจ้าค่ะ พระราชาก็ไปสู่ขอเจ้าสาวหมู่บ้่านหนึ่งซึ่้งอำมาตย์ไม่เคยรู้จักเลย พระราชาไปสู่ขอให้ อำมาตย์ก็ดีใจว่าได้ภรรยาแล้ว จากนั้นก็เลยนัดวันแต่งงาน ฤกษ์งามยามดีโหรหลวงก็ดูให้ เมื่อถึงวันแต่งงานก็ให้อำมาตย์ที่ถือคติว่าถึงคราวเป็นเองเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวไปร่วมงานด้วย ไปแต่ขันหมากจะต้องถึงบ้านเจ้าสาวตามกำหนดเวลา ในระหว่างการเดินทางกันไปนั้น เมื่อสมัยก่อนยานพาหนะมันไม่มีต้องเดินด้วยเท้า เดินไปแห่ขันหมากไป เจ้าบ่าวเกิดท้องเสียต้องแวะข้างทาง เพราะปวดท้อง เดินไปอีกหน่อยก็แวะข้างทางอีกแล้ว บอกไม่ไหวแล้ว ไปไม่ไหวแล้ว เลยขอมอบหมายให้อำมาตย์เพื่อนเจ้าบ่าว บอกเป็นเจ้าบ่าวแทนทีเถอะ อำมาตย์ก็เลยเอาชุดเจ้าบ่าวไปให้สวมแทนเดินทางต่อไป ฝ่ายเจ้าบ่าวก็กลับไปรักษาตัวเพราะไปไม่ไหวเลย เจ้าบ่าวจำเป็นก็เข้าสู่พิธีมงคลสมรสตรงเวลาฤกษ์พอดี เลยได้ภรรยาโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นคติเตือนใจว่าถึงคราวมันจะได้มันก็ได้เอง หากจะไม่ได้ถึงจะดิ้นรนอย่างไรมันก็ไม่ได้

     
บันทึกการเข้า
oillada
เด็กใหม่
*****

พลังความดี : 0


เพศ: หญิง
อายุ: 44
กระทู้: 5
สมาชิก ID: 2386


« ตอบ #3 เมื่อ: มกราคม 06, 2013, 08:44:18 PM »

Permalink: โลกธรรม ๘ ประการ
     คู่ที่ ๓ คือ ความสุขกับความทุกข์ นี้ก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอนเวลาได้สุขก็อย่าไปติดสุข เวลามีทุกข์ก็อย่าได้ไปเสียใจ เมื่อได้ทุกข์ก็ทำใจเป็นกลาง ๆ เป็นธรรมประจำโลก เมื่อมีสุขมันก็มีทุกข์ติดอยู่ด้วย ตอนนี้ได้รับความสุขเดี๋ยวมันก็ทุกข์อีก ทั้งสุขทั้งทุกข์มันตั้งอยู่ได้ไม่นาน ก็ให้ถือเป็นเวทนาขันธ์ มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาท่านจึงไม่ให้ติดสุข ไม่ให้ยินดีในความสุขที่ได้ ไม่ให้ไปยินร้่ายในความทุกข์ที่เกิดขึ้น ถือว่ามันเกิดขึ้นแล้ว มันก็ตั้งอยู่แล้วดับไป ให้ทำใจเป็นกลาง ๆ ท่านบอกว่าให้แล่นเืรือไปกลางแม่น้ำ เราก็เปรียบเทียบว่าฝั่งซ้ายคือความทุกข์ ฝั่งขวาคือความสุข เราก็แล่นเรือไปกลาง ๆ ไม่ไปข้องแวะฝั่งทั้งสอง

     เราจะเห็นเมื่อเรามานั่งปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจึงให้กำหนดเวทนาขันธ์เป็นอารมณ์ เวลามันสุขก็ภาวนา "สุขหนอ ๆ" เวลามันทุกข์ก็ภาวนา "ทุกข์หนอ ๆ" กำหนดรู้สุข รู้ทุกข์ เราจะเห็นเองว่ามันไม่เที่ยงแท้แน่นอน บางทีมันก็เฉย ๆ อย่างนี้แหละท่านจึงว่ามันเป็นโลกธรรม เป็นธรรมประจำโลก คนเกิดมาต้องมีสุขอย่างเดียว ในโลกนี้ไม่มีใครที่ไหนได้ความสุขอย่างเดียวไม่มี ในโลกนี้บางคนได้รับแต่ความทุกข์อย่างเดียวก็ไม่มีเช่นกัน

     คู่ที่ ๔ สรรเสริญกีับนินทา  นี้ก็ต้องประสบกันทุกคน ท่านจึงกล่าวไว้ว่า "อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน แม้แต่องค์พระปฏิมายังราคิน คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา" เวลาเค้าชอบเค้าก็ชม แม้เราทำชั่ว เค้าก็ชมนะ เพราะถูกใจชอบใจ เขาชังเขาก็ตำหนิติเตียน ทำความดีขนาดไหนเขาก็ว่าไม่ดี ไม่ถูกใจเขา เพราะใจของคนเราไม่เหมือนกัน นานาจิตตัง  ท่านเจ้าคุณพุทธทาสกล่าวไว้ว่า "เขาชอบเขาชังช่างเขาเถิด เขาเชิดเขาชูช่างเขา เขาว่าเขาด่าทนเอา ขอใจเราร่มเย็นเป็นพอ" ทำใจให้ปกติไม่หวั่นไหวกับโลกธรรมมันก็สบายมาก ถ้าเราไปหวั่นไหวแล้วจะทำให้ถูกใจคนทุกคนมันเป็นไปไม่ได้ ใจของเราก็ยังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา


     สรุปก็คือให้ทำใจเป็นกลาง ๆ เมื่อโลกธรรมครอบงำแล้ว ในมงคลสูตรว่า "จิตผู้ใดเมื่อถูกโลกธรรมครอบงำแล้วความปราศจากความยินดียินร้ายทำให้ใจโล่งปลอดโปร่ง" อย่าไปยึดมั่นถือมั่น เพราะในโลกธรรมนี้ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสุข มีทุกข์ มีสรรเสริญ มีนินทา เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็อย่าไปยินดียินร้าย ไม่ข้องแวะกับโลกธรรมเหล่านั้น ท่านถือว่าเป็นมงคล เกิดความสุข ความเจริญ ความสบายอยู่ที่ใจสงบ เพราะฉะนั้นความสุข ความทุกข์อยู่ที่ใจเรา นรก สวรรค์ นิพพาน ก็อยู่ที่ใจเรา ถ้าคราวใดใจมันรื่นเริงบันเทิงใจ ใจก็ขึ้นสวรรค์ ถ้าคราวใดใจมันเหี่ยวแห้งหดหู่ ความวุ่นวายใจ เมื่อนั้นก็ตกนรก แล้วคราวใดใจมันเป็นกลาง ๆ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย มันก็ได้เสวยอารมณ์นิพพาน มันก็ว่างจากอารมณ์ปรุงแต่ง

นิพพานไม่อยู่ไกลแสนไกลมันอยู่ที่ใจตนเอง

โอวาทธรรม....พระภาวนาพรหมคุณ
บันทึกการเข้า
หทัยพฤก
เด็กใหม่
*****

พลังความดี : 0


เพศ: ชาย
อายุ: 27
กระทู้: 2
สมาชิก ID: 2843


เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #4 เมื่อ: สิงหาคม 14, 2014, 02:36:46 PM »

Permalink: โลกธรรม ๘ ประการ
มีเกิดก็มีดับ ได้ลาภเสื่อมลาภ ได้ยศเสื่อมยศ เป็นธรรมดา

maxbet
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 26, 2016, 07:06:56 PM โดย หทัยพฤก » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters
Powered by SMF 1.1.17 | Simple Machines|Copyright © 20010 BY : thammaonline.com
บทความธรรมะรวมเรื่องกฏแห่งกรรมสมาธิ วิปัสนากรรมฐานพลังจิตกระดานถาม-ตอบ Sitemap

Google มาเยี่ยมเว็บเมื่อ เมษายน 05, 2024, 06:01:26 AM