เมษายน 19, 2024, 07:44:48 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ไขข้อข้องใจบางประการ ในคติความเชื่อ และการปฏิบัติธรรม  (อ่าน 4227 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เด็กหน้าวัด
เด็กใหม่
นักบุญผู้ใจดี
*****

พลังความดี : 696


เพศ: ชาย
กระทู้: 13280
สมาชิก ID: 1


« เมื่อ: กันยายน 18, 2010, 09:16:13 AM »

Permalink: ไขข้อข้องใจบางประการ ในคติความเชื่อ และการปฏิบัติธรรม
ไขข้อข้องใจบางประการ ในคติความเชื่อ และการปฏิบัติธรรม

บทความของผมได้รับการตีพิมพ์ ลงใน น.ส.พ. ผู้จัดการ รายวัน
ฉบับ วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน 2542 คอลัมน์ สุริยคราส หน้า 13 ครับ

เรียน  :   คุณสุริยคราส (หน้า 13, น.ส.พ. ผู้จัดการรายวัน)
FAX   :   281 - 5499, 281 - 5699
จาก   :   ทรงยศ สีจร

ผมได้อ่านคอลัมน์ "สุริยคราส" ฉบับเมื่อวาน (30 มี.ค. 42) อ่านแล้วตอนแรกว่าจะเฉยๆ  แต่ก็อดไม่ได้ที่ต้องทำอะไรสักอย่าง  เพราะเกรงว่าข้อเขียนที่ผู้ใช้นามว่า 'ผู้หญิงรุ่นใหม่' ยกขึ้นมากล่าวนั้น จะทำให้คนอื่นเข้าใจคลาดเคลื่อนในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์

คุณผู้หญิงรุ่นใหม่ไม่ได้ผิดอะไร   เพราะการที่คนเราจะรู้ว่าตนเองไม่รู้อะไรบ้าง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้   แต่ที่ผมเขียนมานี้ก็เพื่อ อยากเสริม / แก้ไข

 1.       พระพุทธองค์ไม่เคยสอนว่าทำบุญมากๆ เพื่อไปสวรรค์  พระธรรมคำสั่งสอนของท่าน ก็คือ ทำบุญบริจาคตามสมควรเพื่อลดละกิเลส จุดประสงค์ของการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่การไปสวรรค์  เพราะการไปจุติในเทวโลกหรือพรหมโลกก็ตาม ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ดี ไม่ได้หลุดพ้น

พระพุทธองค์ต้องการสั่งสอนให้มนุษย์รู้จักนำพาตนเองให้หลุดไปจากวงจรนี้  เพราะการเวียนว่ายตายเกิดนี้มันเป็นทุกข์ 

ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาของการ 'ปฏิบัติ' ไม่ใช่ท่องจำ หรือ สัมฤทธิผลกันโดยใช้ปริมาณความรู้ที่มีอยู่ และด้วยเหตุที่เป็นศาสนาของการปฏิบัติ  และรู้ผลได้โดยตนเองเฉพาะตน จึงเป็นอุปสรรคประการหนึ่งในการเผยแพร่

ต้นสายเป็นอย่างไรไม่ทราบแน่ชัด  แต่ในปัจจุบันที่เห็นและเป็นอยู่   มีการดึงเรื่อง นรก - สวรรค์, อิทธิฤทธิ์, ปาฏิหาริย์ ฯลฯ  เข้ามาผูกพันกับพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นแกนให้เกิดศรัทธาอย่างมาก จนเกินพอดี

2.       ที่ว่าศาสนาพุทธเป็นวิทยาศาสตร์นั้น ถูกต้องแล้วครับ ประเด็นไม่ใช่ว่า สิ่งใดพิสูจน์ได้หรือไม่ได้   แต่วัดกันตรงความเป็นตรรกะ  หรือกระบวนการคิดลำดับเหตุและผล ยกตัวอย่างเช่น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (อริยสัจ 4) เราเป็นทุกข์ หาเหตุแห่งทุกข์ ดับเหตุแห่งทุกข์ได้ ก็ดับทุกข์ได้

ผมอยากฝากให้คิดด้วยครับ คำว่า 'พิสูจน์' ได้หรือไม่ได้ ได้รับอิทธิพลค่อนข้างสูงจากโลกตะวันตก คือมุ่งเน้นสิ่งที่ประจักษ์ต่อ 'สายตา' อย่างจะแจ้ง แต่ไม่ได้มีการนำเอา สัมผัส หรือเห็นด้วย 'จิต' มาเกี่ยวข้องหรือพิสูจน์

3.       ปัญหาอย่างหนึ่งของสังคมชาวพุทธในไทยก็คือ ยังขาดการมองภาพรวม และความเข้าใจในจุดประสงค์ของการนับถือศาสนาพุทธ เช่น กิจกรรมทางศาสนา ก็มักจะปฏิบัติตามๆกันไป โดยไม่ฉุกคิดที่มาที่ไป สาเหตุที่ต้องทำ ทำไปเพื่ออะไร  และผลที่ได้จากการกระทำ ยกตัวอย่าง 'การทำบุญตักบาตร' ยังเข้าใจในคนหมู่มาก ว่าทำไปเพื่อให้ได้บุญได้กุศล บุญกุศลจะช่วยให้พ้นทุกข์พ้นร้อนในชาตินี้ภพนี้  หรือ เมื่อตายไปก็ได้ขึ้นสวรรค์

ทั้งๆที่คำสอนของพระพุทธองค์ก็คือ 'ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน' คำสั่งสอนของท่านไม่มีหรอกครับที่ว่า  จงสร้างบุญสร้างกุศลมากๆ  แล้วให้รอแต่จะพึ่งบุญ พึ่งกุศล

และที่ชอบนำมาล้อกันว่า "…ทำกรรมดีได้ดีมีที่ไหน  ทำกรรมชั่วได้ดีมีถมไป…"  นั้นก็ผิดเพี้ยนเป็นอย่างยิ่ง  เพราะคาบเวลา (Time Frame) ในทางพุทธนั้นกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก คือ ลบอินฟินิตี้ (-∞) จนถึงบวกอินฟินิตี้ (+∞) สิ่งที่คนประกอบกรรมชั่ว แต่กลับได้ดี  เช่น  นักการเมืองที่โกงกิน แต่กลับได้ดีมีวาสนาเป็นถึงรัฐมนตรี  หรือ คนที่ชอบประจบประแจงสอพลอนาย และให้ร้ายป้ายสีเพื่อนร่วมงาน แต่ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งมีตำแหน่งใหญ่โต  ที่เห็นกันอยู่นั้น เป็นเพราะผลแห่งกรรมดีที่เขาเคยทำเอาไว้ อาจเป็นในชาตินี้ภพนี้ หรือภพก่อนๆก็เป็นได้ ซึ่งเราก็ไม่อาจทราบว่าเป็นเมื่อไหร่  ที่บังเอิญมาสนองในเวลาปัจจุบัน  ไม่ใช่ว่าเขาทำชั่วประพฤติชั่วแต่กลับได้ดี  และแน่นอนว่ากรรมชั่วที่ได้ทำเอาไว้  ก็ต้องสนองตอบอย่างแน่นอนในอนาคต

แล้วที่ผมกล่าวในตอนต้น การขึ้นสวรรค์ ไม่ใช่จุดประสงค์ของการนับถือศาสนาพุทธ การทำบุญตักบาตรนั้น  โดยเนื้อแท้ก็คือการลดละกิเลส โดยนำของของตน (ปัจจัย) ไปถวายให้แด่ภิกษุสงฆ์ ซึ่งท่านได้บวช เพื่อเร่งรัดหนทางในการทำนิพพานให้แจ้ง ท่านไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ให้เกิดการพัวพันวุ่นวายทางโลก  อันจะเป็นเครื่องฉุดรั้งหนทางสู่นิพพาน  การที่เรานำวัตถุปัจจัย อาหารไปให้ท่าน  ก็เพื่อเป็นกำลังบำรุงให้ท่านทำนิพพานให้แจ้ง

ซึ่งความจริง เราๆท่านๆที่เป็นฆราวาสก็ไปถึงได้  เพียงแต่จะไปได้ช้ากว่าท่านมาก  เพราะยังต้องประกอบอาชีพ และพัวพันกับกิจกรรมทางโลกมากมาย ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาจนจรดเข้านอน

มีเทป และหนังสือธรรมะดีๆ หลายเล่มที่ใช้ภาษาเรียบง่าย  ไม่เยิ่นเย้อ  ที่รอให้ศึกษา และปฏิบัติธรรมครับ  เช่น ท่านพุทธทาส หลวงพ่อปัญญา ฯลฯ ถ้าถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่า ดีหรือไม่ดี ผมอยากตอบว่า แนวทางของสำนักใด เกจิอาจารย์ท่านใดก็ตาม ถ้าปฏิบัติแล้วใจคอสงบเย็นขึ้นๆ ก็ดีทั้งนั้นละครับ

แต่ถ้าปฏิบัติแล้ว มีแต่ความร้อนรุ่ม  มัวเมาในบุญ  กระหายในนิพพานด้วยอัตตาแห่งตน ก็มาผิดทางแล้วครับ

5 มิถุนายน  2553 :  เพิ่มเติม

นิพพาน และ ความสุข

 เป้าหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา คือ การเข้าถึงนิพพาน  หากพูดในเชิงอุปมา หลายคนคงเคยเห็นภาพการปล่อยจรวดหรือกระสวยอวกาศขึ้นสู่ท้องฟ้า  เพื่อเอาชนะแรงโน้มถ่วง ยานต้องสะสมพลังงานไว้มากๆ  เพื่อใช้ปล่อยออกมาให้เอาชนะแรงดึงดูดของโลกได้ เพื่อหลุดพ้นไปจากโลกเข้าสู่ห้วงอวกาศ 

แต่ในทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง  คือการเข้าถึงนิพพาน  ผู้ที่จะออกเดินทางไป ต้อง ลด ลด และลด (กิเลส)  เพื่อให้ตนเองหลุด หลุดพ้นไปจากวัฏฏะสงสาร  ชาวพุทธที่มักอยากไปนิพพานตามแฟชั่น  หลายคนมักแสวงหาทางไปด้วยการ ‘ใส่’ การ ‘เติม’  ซึ่งวิถีตามแนวทางเหล่านี้  ยิ่งทำให้ห่างนิพพานออกไปทุกขณะ ผมมักย้ำเสมอว่าการอยากไปนิพพานนั้น  ไม่เหมือนการมี iPhone หรือ Blackberry ที่เพียงแค่หามาพก ก็ (ดูเหมือน) เป็นคนร่วมยุคร่วมสมัย

          ตอนเด็กๆ  จำได้ว่าดูหนังเรื่องพระถังซำจั๋ง  ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระสงฆ์จีนรูปหนึ่งซึ่งเดินทางนำพระไตร  ปิฏกจากชมพูทวีปกลับมาเผยแพร่ที่ประเทศจีน  ระหว่างเดินทางกลับ ต้องฟันฝ่า  ภยันอันตราย อุปสรรคจากคน  และปีศาจมากมาย  แต่ก็มีผู้ช่วยพระเอกเก่งๆเช่น เห้งเจีย  ตือโป๊ยไก่ คอยช่วยเหลือ (และบางครั้งก็ทำตัวเป็น ปัญหาซะเอง) ซีรีย์ชุดนี้เป็นการผูกเรื่องขึ้นมา จากหลักคิดทางพุทธศาสนา  และปริศนาธรรมต่างๆ 

          ซึ่งตอนท้ายๆของซีรีย์  มีปริศนาธรรม อยู่ตอนหนึ่ง  (จำได้คลับคล้ายคลับคลา) ในตอนนั้น  พระถังซำจั๋งเดินทาง  วนไปวนมา  ไม่ถึงไหนซักที  เมืองที่จะไป ข้ามน้ำ ข้ามทะเลแล้วก็ไม่ถึง  ซึ่งต่อมาได้พบกับคนจรริมทาง  ซึ่งเอ่ยเปรยๆว่า  "...ยิ่งอยากไป  ก็ยิ่งไม่ถึง..."   พระถังซำจั๋ง  ก็เลยปิ๊งขึ้นมา  ในที่สุดพระถังซำจั๋งก็ขบคิดปริศนาและเดินทางไปถึงเมืองนั้นจนได้   ซึ่งในตอนท้ายท่านก็สรุปให้เห้งเจียกับตือโป๊ยไก่ฟังว่า  นิพพานที่อยากไปด้วยแรงขับจากกิเลสนั้น  เดินทางไกลแค่ไหนก็ไปไม่ถึง     

          หนังซีรีย์นี้ยาวเป็นร้อยตอน  และทุกตอนก็สอดแทรกข้อคิด คติธรรมต่างๆไว้มากมาย  ผมเสียดายมาก ที่หนังแบบนี้  สมัยนี้ไม่มีให้เด็กได้ดูกัน

อีกเรื่องคือ “ความสุข”   ความสุขในทางพุทธนั้น ได้มาด้วยการ “ลด ความทุกข์หรือเหตุแห่งทุกข์”  ไม่ใช่ได้สุขจากการแสวงหา  ซึ่งต่างจากคตินิยมแบบโลกตะวันตก  ซึ่งมีข้อน่าสังเกตว่า  ชาวพุทธที่ใช้ชีวิตในไลสไตล์แบบชาวตะวันตก  มักจะสับสน หรือมีความทุกข์ในชีวิตค่อนข้างมาก  หากขาดการปรับตัวที่เพียงพอ  ไม่รู้จุดยืนของตนเอง  ขาดการวางเป้าหมายในชีวิตในช่วงต่างๆและปรับใช้หลักทางพุทธให้เข้ากับการดำเนินชีวิต   ผมยังไม่เคยเห็นรายงานวิจัยทำนองนี้  แต่ขอตั้งไว้เป็นข้อสังเกต

ซึ่งเรื่องทุกข์นี้  ในทางพุทธมีความหมายกว้างและลึกซึ้งยิ่งนัก  จำได้ว่าสมัยวัยรุ่น  เคยอ่านหนังสือ "คำสอนผู้บวชพรรษาเดียว"  ของท่านพุทธทาส  เฉพาะคำว่า "ทุกข์"  ท่านอธิบายไว้หลายหน้ากระดาษ  ไม่ใช่แค่หิวข้าวเป็นทุกข์  ไม่มีตังค์เป็นทุกข์  ฯลฯ

แต่คำว่าทุกข์ในทางพุทธนี้  ยังกินความถึง สภาพธรรมต่างๆด้วย  ข้อความเพียงไม่กี่หน้านั้น  ทำให้ผมนำไปขบคิด พิจารณาได้เป็นแรมปี   ซึ่งเรื่องทุกข์นี้  ท่านพุทธทาส  ได้อธิบายแทรกไว้ในหนังสือ  และเทป  หลายชุดด้วยกัน  คิดว่าไม่ลำบากในการหามาอ่านมาศึกษา   เพราะหากว่า ในมโนภาพของผู้ศึกษาธรรมะ  ยังยึดติดว่า  ทุกข์  คือเพียงแค่  ความเจ็บ ปวด ทรมาน  ความไม่สบายต่างๆ  อาจทำให้การศึกษา ปฏิบัติธรรมในขั้นสูงๆขึ้นไปยากขึ้น

2 เรื่องนี้  ไม่ว่าจะเป็นนิพพาน  หรือ สุข ในทางพุทธ  เป็นเรื่องขั้นพื้นฐานขั้นฐานราก ในทางพุทธ  หากพูดแบบภาษาชาวบ้าน ก็เรียกว่าเป็นเรื่องระดับฐานรากหรือระดับตอม่อ  หากขาดการทำความรู้ความเข้าใจ  และปฏิบัติธรรม จนรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง  ไม่ใช่อ่านเพียงเข้าใจ   ก็จะไปต่อลำบากหรือเข้าทางตัน  จึงขอฝากกันไว้ด้วยครับ

 
ทรงยศ สีจร




บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters
Powered by SMF 1.1.17 | Simple Machines|Copyright © 20010 BY : thammaonline.com
บทความธรรมะรวมเรื่องกฏแห่งกรรมสมาธิ วิปัสนากรรมฐานพลังจิตกระดานถาม-ตอบ Sitemap

Google มาเยี่ยมเว็บเมื่อ เมษายน 08, 2024, 05:50:25 PM