เมษายน 19, 2024, 08:03:42 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การใช้รู้ สู้กับกิเลส คืออย่างไร  (อ่าน 6263 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เด็กหน้าวัด
เด็กใหม่
นักบุญผู้ใจดี
*****

พลังความดี : 696


เพศ: ชาย
กระทู้: 13280
สมาชิก ID: 1


« เมื่อ: ตุลาคม 02, 2010, 01:20:05 PM »

Permalink: การใช้รู้ สู้กับกิเลส คืออย่างไร
ถาม - การใช้รู้ สู้กับกิเลส คืออย่างไรครับ

ศัตรูร้ายของชีวิตเรานี่นะคือกิเลสทั้งหลายนี่แหละ กิเลสมันย่ำยีหัวใจเราตลอดเวลา
แล้วมีสติปัญญานะ ปลดเปลื้องมันออกไปได้มันก็พ้นทุกข์ไป
ถูกกิเลสย่ำยีอยู่ก็ทุกข์ไปเรื่อย
แต่สู้กิเลสไม่ได้สู้แบบวัวแบบควาย แบบวัวกระทิงไล่ขวิด อย่าไปไล่ขวิดกิเลส

กิเลสเหมือนน้ำนะ เหมือนน้ำในแม่น้ำน่ะ
ถ้ามันไหลไปเรื่อยๆนะมันไม่ค่อยทำลายอะไร
นานๆก็มีน้ำบ่าใหญ่ๆมาทีนึง
อย่างน้ำไหลมาในแม่น้ำเราไปกั้นเขื่อนไว้ เกิดพลังงานมหาศาลเลย
กิเลสเหมือนกันนะ ถ้าปล่อยให้มันไหลมาแล้วเราแค่เป็นคนดูสบายๆ
อย่าไปเผลอลืมดูจนมันตัวใหญ่เหมือนน้ำบ่าใหญ่ๆมานะ
อย่างนั้นก็ยับเยินเหมือนกัน
แต่ถ้ากิเลสตัวเล็กตัวน้อยผ่านมานี่นะเราคอยมีสติรู้ทันไว้
กิเลสมันก็ไม่มีโอกาสตัวใหญ่
กิเลสตัวใหญ่มันก็มาจากกิเลสตัวเล็กๆนี่แหละ
เหมือนไฟไหม้นะ ก่อนมันจะไหม้บ้านไหม้เมืองได้ มันมาจากไฟนิดเดียว
ไม้ขีดก้านเดียวหรือไฟช๊อตอยู่นิดเดียวเอง เจอทีแรกเอามือตบยังดับเลย

กิเลสถ้าเรามีสติไวๆนะ กิเลสผุดขึ้นมาปุ๊บรู้ทัน
กิเลสก็สลายตัวไป ไม่มีโอกาสตัวโต
เราเฝ้ารู้มันไปนะ เห็นมันไหลไป ๆ เราไม่ไปขวางมัน
ถ้าเราขวางกิเลสเมื่อไหร่นะ เหมือนเราไปกั้นเขื่อนในแม่น้ำ
เกิดแรงดันมหาศาล เขื่อนแตกเมื่อไหร่ก็แย่

เนี่ยน้ำนะไปกั้นไว้ มีพลังมาก กิเลสเหมือนกัน
เวลาที่เจอกิเลสนี่อย่าไปต้านมัน ดูมันไหลมาไหลไป
ดูสบายๆ ดูแบบไม่มีส่วนได้เสียถึงจะสบาย
พอกิเลสเกิดขึ้นเรารู้ ก็ผ่านไปๆ

เหมือนเรายืนอยู่บนตลิ่ง
เห็นอะไรต่ออะไรลอยน้ำมานะ มันลอยมาแล้วมันก็ลอยไป
ถ้าเรามีสติรู้ทันอย่างนี้นะมันก็ไม่มีอำนาจทำลายล้างจิตใจเราเท่าไหร่หรอก
ถ้ารู้ไม่ทันแล้วมันใหญ่โตขึ้นมา ใหญ่โตขึ้นมาแล้วสู้ไม่เป็นนะ พยายามไปต่อสู้มัน
ยิ่งต่อสู้มันก็บอบช้ำ สู้มันไม่ไหวหรอกกิเลส กิเลสมันครองโลกมาตั้งนานแล้ว
เหมือนจะชกกับนักมวยแชมป์โลกนะมันสู้กันไม่ได้หรอก

งั้นเราต้องมีชั้นเชิงนะ อะไรที่เราสู้ไม่ได้ก็อย่าไปสู้มัน
แค่รู้ทัน คอยรู้ๆไว้นะ อย่าไปปะทะมัน มันก็ผ่านไป
เพราะทุกอย่างกระทั่งกิเลสนะ
ก็แสดงไตรลักษณ์เหมือนกัน เกิดแล้วก็ดับ
ไม่จำเป็นต้องไปสู้กิเลส
อดทนไว้นะ กิเลสมาแล้วตามรู้ตามดู ยังไงกิเลสก็ต้องดับ
เพราะกิเลสก็ต้องตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกัน

หลวงพ่อเคยสอนพวกเราบ่อยๆ ว่าจิตเหมือนเรือนะ
จิตเหมือนเรือทอดสมออยู่ในแม่น้ำ
กิเลสเหมือนน้ำไหลมาเรื่อยๆ
เรืออย่าไปขวางน้ำ ถ้าเรือขวางน้ำเรือก็ล่มนะ น้ำทำลายเรือได้
เรือไม่ขวางน้ำนะแต่เรืออย่าให้ไหลตามน้ำ
ทอดสมอไว้อย่าให้มันลอยตามน้ำไป
ทอดสมอไว้ก็คือมีสติ คอยรู้สึกไปๆ รู้ทันไปเรื่อย
กิเลสไหลมาไหลไป
นี่พอเราดูเป็นแล้วนะ เราก็จะเห็นกิเลสมา เกิดแล้วก็ดับ
ถ้ากิเลสมีเหตุกิเลสก็เกิด หมดเหตุกิเลสก็ดับ บังคับไม่ได้
ห้ามไม่ได้นะ สั่งห้ามมาก็ไม่ได้ มาแล้วไล่ให้ไปก็ไม่ไป
อย่างเวลาเราโกรธขึ้นมา เราบอกจิตให้หายโกรธ มันไม่หายนะ
โกรธนานไม่หาย งั้นเราคอยรู้คอยดูไปเรื่อย

ถาม - ดิฉันมีธุระยุ่งทั้งวัน พอกลับมาถึงที่พักก็เพลียมาก ดิฉันจึงฝึกภาวนาก่อนนอนสิบนาที แต่ถ้าวันไหนรู้ว่าทำไม่ได้แน่เพราะใจกำลังฟุ้งมาก ก็จะเว้นข้ามไปทำในวันอื่น ดิฉันค่อยๆฝึกไปอย่างนี้ใช้ได้ใช่ไหมคะ

ภาวนาดีก็ต้องอดทนนะ ภาวนาแย่ก็ต้องอดทนนะ
ถ้ารู้หลักของการภาวนาแล้วเนี่ยสิ่งที่สำคัญมากเลยต้องทน
มาทำเหยาะๆแหยะๆไม่ได้กินหรอก
คนที่จะข้ามภพข้ามชาติได้นะต้องทนจริงๆ เข้มแข็งไม่ท้อถอยนะ
ไม่ใช่วันนี้ภาวนาดีอีกวันขี้เกียจไปแล้ว อย่างนี้ไม่ทน ทำไม่ไหว ไม่สำเร็จ
ต้องฮึดสู้ พากเพียรตามรู้ตามดูไป

วิธีการที่หลวงพ่อสอนนะ บางคนบอกง๊ายง่าย บางคนบอกย๊ากยาก
เอาไงแน่ก็ไม่รู้นะ
ไม่ต้องทำอะไรนะ รู้อย่างเดียว มันยากตรงที่รู้อย่างเดียวนี่แหละ
ให้ไปทำอะไรซักอย่างนึงง่ายกว่า
บอกเอ้าทุกวันให้ไปเดินจงกรม ๑ ชั่วโมงนั่ง ๑ ชั่วโมงสลับกันให้ได้ ๓ รอบ
บางคนทำได้ ถ้าใช้ให้ทำโน่นทำนี่นะง่าย
เอาจิตไปตั้งไว้ตรงนี้นะ พอกิเลสมาให้ทำอย่างนี้นะ รู้สึกมีงานทำ รู้สึกสบายสนุก
มันยากตรงที่ไม่ทำ ยากตรงที่แค่รู้
ยากนะยาก เพราะใจของเรานี่คุ้นเคยที่จะทำ

อย่างพวกเราแต่ละวันที่ภาวนา
พวกเรารู้สึกมั้ยพอตื่นนอนมาเราก็ถามตัวเองแล้วว่าเราจะปฏิบัติยังไงจึงจะดี
ทำยังไงจะถูกนะ ทำยังไงจะดีนะ คอยคิดถามตัวเองเรื่อยเลย
มีคนไหนไม่เคยถามมั้ยว่าทำยังไงจะถูก
ปฏิบัติอย่างนี้ถูกหรือเปล่านะ ปฏิบัติอย่างนี้จะดีมั้ย มีใครไม่ถามบ้าง

หลวงพ่อก็ถามนะเมื่อก่อนนี้ กระทั่งตอนมาบวชแล้วนะ
โอ้เราอยากเร่งความเพียร เราบวชมาได้ ๒ พรรษาแล้วเราจะเร่งความเพียรซะทีนึง
เร่งแล้วไม่รู้จะเร่งยังไงนะ นึกไม่ออกเหมือนกัน
ในใจมันก็คอยคิดนะว่าทำอะไรนะมันจะหลุดพ้น คอยคิดอย่างนี้นะ
มันก็คิดเหมือนกันน่ะ
ก็พากเพียรนะ ลองทำอย่างนี้ดู..ไม่ใช่ ลองทำอย่างนี้..ไม่ใช่

ใครเคยเล่นเกมที่มันมีทางเดิน มีทางแยกเยอะแยะ
เขาเรียกอะไร ไม่รู้เรียกอะไรนะ ที่เดินไปทางนี้ก็ตัน เดินไปทางนี้ก็ตัน
มีทางถูกอยู่ทางเดียว
การภาวนาเหมือนอย่างนั้นจริงๆนะ
เลี้ยวซ้ายก็ตัน เลี้ยวขวาก็ตันนะ เดินไปข้างหน้าก็ตัน ถอยหลังก็ใช้ไม่ได้ (หัวเราะ)
อัศจรรย์จริงๆ มันต่างกับเกมนั้นนะ เกมนั้นมีช่องที่ถูกอยู่ ๑ ช่อง
เกมนี้ไม่มีอะไร "รู้ลูกเดียวเลย" อย่าไปเดิน ไม่ต้องเดินนะ
คอยรู้อย่างที่เขาเป็น รู้กายอย่างที่เขาเป็น รู้ใจอย่างที่เขาเป็น
จะว่ายากมันก็ไม่ยากอะไรเพราะไม่ต้องทำอะไร
จะว่าง่ายมันก็ไม่ง่ายนะเพราะเราเคยชินที่จะ "ทำ"

ใจแข็งๆนะ ลองอดทนเชื่อที่หลวงพ่อบอก
แทนที่เราจะคิดว่าการภาวนาคือการที่ต้องทำอะไรยากๆ
ทำอะไรผิดธรรมชาติธรรมดา
ลองเชื่อดูซักพักนึง ลองตามรู้ตามดู
ร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก
ตามรู้สึกกายตามรู้สึกใจ รู้ไปเรื่อยๆ ดูซิมันจะดีได้มั้ย

กล้าท้าเลยนะถ้าทำจริงๆล่ะก็ อย่างที่หลวงพ่อบอกนะ
ตามรู้กายตามรู้ใจอย่างที่เขาเป็นเรื่อยๆ ต้องเห็นผลในเวลาอันสั้นเลย
ไม่นานก็เห็นผลนะ
อย่างพวกเราที่ลงมือปฏิบัติ เนี่ยไม่มีอะไรมากกว่าการนั่งเพ่ง
ที่คิดถึงการปฏิบัตินะ ถ้าไม่เพ่งกายก็เพ่งใจ
มีอยู่เท่านั้นเองแหละนักปฏิบัติ ไม่มีอย่างอื่นหรอก
ทำซ้ำซากมาอย่างนี้ตั้งกี่ยุคกี่สมัยแล้ว ก่อนพุทธกาลก็ทำอย่างนั้น
นักปฏิบัติพอคิดเรื่องการปฏิบัติ ไม่บังคับกายก็บังคับใจ ไม่เพ่งกายก็เพ่งใจ

อย่างเดินจงกรมนึกออกมั้ย
พอจะเดินจงกรมขั้นแรกเลยต้องวางฟอร์มก่อน วางท่าให้ดีก่อน
เริ่มบังคับแล้วต้องเดินท่านี้นะท่าอื่นไม่ได้
เสร็จแล้วต้องทำใจ บังคับกายบังคับใจเสร็จแล้วค่อยๆเดิน
เห็นมั้ยค่อยเดินไปนะ วันนึงจะเป็นพระอรหันต์
มันจะเป็นซอมบี้น่ะสิ จะได้เรื่องอะไร บังคับไปหมดเลยนะ
หรือพอนั่งสมาธิใช่มั้ย ธรรมดาก็นั่งท่านั้นท่านี้นะ
ก็แค่รู้สึกตัวไปไม่ได้นะ ต้องนั่งท่านี้
เถียงกันอีกนะว่านิ้วแม่โป้งจะชนกันหรือจะให้นิ้วชี้ชนกัน
มือไหนซ้อนมือไหน ต้องมือนี้ซ้อน นิ้วจะต้องอยู่ตรงนี้นะ
ถามทำไมนิ้วต้องอยู่ตรงนี้ ลมปราณจะได้โคจร การเป็นวิชาโยคะไปอีกแล้ว
อะไรก็ไม่รู้ อะไรที่มันจะนอกลู่นอกทางนะมีตลอดเวลา
เราไปติดแต่เปลือก นั่งก็นั่งบังคับกาย ต้องนั่งท่านี้ เสร็จแล้วก็บังคับใจ
บังคับใจมีสองพวกนะ พวกนึงดิ่งเข้าไปอย่างนี้
อีกพวกนึงน้อมให้ซึม เนี่ยเป็นอย่างนี้นะ ไม่ได้เรื่องเลย
มันมีแต่บังคับกายกับบังคับใจ การภาวนาที่ผิดมีอยู่แค่นั้นเอง

แล้วที่ถูกอยู่ตรงไหน ที่ถูกอยู่ที่รู้สึกกายรู้สึกใจ
การรู้กายรู้ใจนะมันมี ๒ สเต็ป
ขั้นแรกรู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย รู้สึกถึงความมีอยู่ของใจ
เวทนาเกิดขึ้นรู้สึกถึงความมีอยู่ของเวทนา
กิเลสเกิดขึ้นรู้สึกถึงความมีอยู่ของกิเลส
ความทุกข์ในกายความปวดความเมื่อยเกิดขึ้น ก็สักแต่รู้ว่าเห็นนะ
ระลึกรู้ รู้ถึงความมีอยู่ของเวทนา
ร่างกายหายใจออกระลึกรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย นี่เรียกว่ามีสติ

มีสติอย่างเดียวยังไม่เกิดวิปัสสนา
แค่ระลึกรู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจเนี่ยยังไม่ขึ้นวิปัสสนา

เพราะฉะนั้นอย่างที่พวกเรานั่งหายใจแล้วไม่ลืมเลยนะ
รู้ตลอดเลย หายใจแล้วไม่ลืมเลย (หลวงพ่อหายใจลึกๆให้ดู)
เนี่ยรู้ตลอดเลยไม่ลืมเลย
หรือเดินจงกรมนะ ขยับกริ๊กๆรู้หมดเลยนะ รู้ถึงมันอยู่นะ แค่มีสติ ใช้ไม่ได้
งั้นการที่เรารู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย
รู้สึกถึงความมีอยู่ของใจนี่เป็นแค่เบื้องต้น คือมีสตินั่นเอง

ต่อไปจะพัฒนาให้ดีกว่านั้น ให้เกิดปัญญาได้ยังไง
ต้องเห็นความเป็นจริงของกาย ต้องเห็นความเป็นจริงของใจ
กายเป็นยังไงรู้ว่าเป็นอย่างนั้น จิตใจเป็นยังไงรู้ว่าเป็นอย่างนั้น
ไม่ใช่รู้ถึงความมีอยู่นะ แต่ว่ามันเป็นยังไงรู้ว่าเป็นอย่างนั้น

มันเป็นยังไงบ้างในกายในใจ
มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา
ร่างกายไม่เที่ยงรู้สึกมั้ย หายใจออกแล้วก็หายใจเข้า
หายใจเข้าแล้วก็หายใจออก ไม่เที่ยง
ลองหายใจออกอย่างเดียวหายใจเข้าอย่างเดียว อยู่ไม่ได้
ร่างกายไม่เที่ยงนะ เดี๋ยวยืนเดี๋ยวเดินเดี๋ยวนั่งเดี๋ยวนอน
นอนก็นอนพลิกไปพลิกมา นั่งก็นั่งขยับไปขยับมา
มีใครนั่งแล้วยังไม่ขยับบ้างมีมั้ย ถ้านั่งแล้วไม่กระดุกกระดิก
นอนแล้วไม่กระดุกกระดิกแล้วบรรลุพระอรหันต์นะ คนเป็นโรคอะไรนะที่เดินไม่ได้
อัมพาตนะเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว กระดิกไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่นะ
ร่างกายนี่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา
เราดูมันไปร่างกายมีแต่ความไม่เที่ยง
อย่างหายใจออกแล้วก็หายใจเข้า หายใจเข้าแล้วก็หายใจออก
มันเหมือนมีชีวิตขาดเป็นช่วงๆ
คนที่หายใจออกอยู่ชั่วคราวแล้วก็ตายไป เกิดคนที่หายใจเข้าขึ้นมาแทน
นี่คอยรู้สึกอย่างนี้เรื่อยๆ
คนที่นั่งอยู่ตายไปเกิดคนที่ยืน คนที่ยืนตายไปเกิดคนที่เดินอะไรอย่างนี้
คนที่เดินตายไปเกิดคนที่นอน เป็นไปได้มั้ย เป็นไปได้นะ
เดินๆ อยู่เกิดหัวใจวายลงไปนอน ไม่ทันยืนไม่ทันลงมานั่งไม่ทันลงมานอน
ถ้าคนทั่วๆไปนะก่อนจะนอนก็ต้องนั่งก่อน
อิริยาบถก็เคลื่อน คนที่มีชีวิตคนที่ยืนอยู่ชั่วคราวหายไปแล้ว เกิดคนที่นั่ง
คนที่นั่งอยู่ชั่วคราวหายไปเป็นคนที่นอน

ค่อยๆดูไปมีแต่ความไม่เที่ยง มันมีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
ร่างกายเราอยู่นิ่งไม่ได้
ทำไมมันไม่เที่ยงล่ะ ที่มันไม่เที่ยงเพราะมันทนไม่ได้นะ
ความทุกข์มันบีบคั้นตลอด มันต้องเปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆ
แล้วร่างกายก็เป็นแค่วัตถุเป็นก้อนธาตุ
หายใจเข้าก็เอาธาตุเข้าไปในร่างกาย หายใจออกก็เอาธาตุออกมา
กินอาหารก็เอาธาตุเข้าไป ขับถ่ายก็เอาธาตุออกมา
ร่างกายเป็นแค่ก้อนธาตุเป็นวัตถุ ไม่ใช่ตัวเราหรอก เป็นแค่วัตถุอันนึง

จิตใจก็มีแต่ความไม่เที่ยง เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากเลย
เดี๋ยวก็ดูเดี๋ยวก็ฟังเดี๋ยวก็คิด
เดี๋ยวก็โลภเดี๋ยวก็โกรธเดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวไม่โลภไม่โกรธไม่หลง
เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย หมุนติ้วๆตลอดเวลา
จิตใจเราแสดงความไม่เที่ยง
ร่างกายแสดงความไม่เที่ยงยากกว่าจิตใจนะ
เพราะจิตนี้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เกิดดับรวดเร็ว
เพราะฉะนั้นจิตเนี่ยแสดงความไม่เที่ยงได้ชัดมากเลย
ร่างกายเนี่ยแสดงความทุกข์ได้ชัด ทุกขัง กายและเวทนาเนี่ยดูทุกข์ง่าย
ทั้งกายและเวทนาดูเป็นอนัตตาง่าย ทั้งกายทั้งจิตดูเป็นอนัตตาได้ง่าย
ทุกอันอนัตตาได้หมด ไม่ใช่เรา
ในส่วนที่เป็นรูปธรรมไม่ใช่ตัวเราเพราะมันเป็นวัตถุ
ในส่วนนามธรรมไม่ใช่เราเพราะมันบังคับไม่ได้ ดูง่ายๆเลยบังคับไม่ได้

สวนสันติธรรม
 
พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

 




บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters
Powered by SMF 1.1.17 | Simple Machines|Copyright © 20010 BY : thammaonline.com
บทความธรรมะรวมเรื่องกฏแห่งกรรมสมาธิ วิปัสนากรรมฐานพลังจิตกระดานถาม-ตอบ Sitemap

Google มาเยี่ยมเว็บเมื่อ เมษายน 04, 2024, 11:13:07 AM