เมษายน 25, 2024, 11:19:36 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระทศพลญาณ  (อ่าน 6512 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เด็กหน้าวัด
เด็กใหม่
นักบุญผู้ใจดี
*****

พลังความดี : 696


เพศ: ชาย
กระทู้: 13280
สมาชิก ID: 1


« เมื่อ: ธันวาคม 02, 2010, 09:08:14 AM »

Permalink: พระทศพลญาณ
พระทศพลญาณ
********************
        มนุษย์ส่วนใหญ่ต่างเสาะแสวงหาความรู้ต่างๆ เพียงเพื่อให้รู้วิธีการประกอบอาชีพ ที่จะนำมาซึ่งปัจจัยสี่สำหรับหล่อเลี้ยงร่างกาย ให้ดำรงอยู่ในโลกนี้อย่างสะดวกสบายเท่านั้น แต่ยังมีความรู้ที่ยิ่งไปกว่านั้น คือ ความรู้ที่สามารถขจัดปัดเป่าทุกข์ทั้งหลายได้ เป็นความรู้ที่เกิดจากการทำใจหยุดใจนิ่ง ที่ศูนย์กลางกายเพียงอย่างเดียว ยิ่งหยุดนิ่งมากเท่าไร  ความรู้จากภายในก็จะพรั่งพรูออกมามากเท่านั้น เป็นความรู้ที่เกิดจากปัญญาอันบริสุทธิ์ ที่จะนำพาเราไปสู่ความสุข และความสำเร็จในชีวิตตลอดไป
 
        มีวาระพระบาลีใน อรรถกถาขุททกนิกาย มหานิทเทศ ว่า

        “โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปในภายในพระพุทธญาณ ปลาและเต่าทุกชนิด ย่อมเป็นไปในภายในมหาสมุทร ฉันใด โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปในภายในพระพุทธญาณ ฉันนั้น นกทุกชนิดรวมทั้งครุฑเวนไตยโคตร ย่อมเป็นไปในขอบเขตของอากาศ ฉันใด พระพุทธสาวก ผู้เสมอด้วยพระสารีบุตรเถระโดยปัญญา ย่อมเป็นไปในขอบเขตแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้น”
 
        สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าด้านทิศตะวันตก นอกกรุงเวสาลี สมัยนั้น บุตรของสุนักขัตตลิจฉวีซึ่งได้ลาสิกขา เพราะไม่มีศรัทธาในธรรมวินัย ได้กล่าววาจาดูหมิ่นพระพุทธเจ้าว่า ธรรมอันยิ่งของมนุษย์ที่เป็นญาณทัสนะอันวิเศษ พอแก่ความเป็นอริยะของพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมด้วยการตรึกเอาเอง ไตร่ตรองด้วยการคิด แต่ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเพื่อประโยชน์ใด  ธรรมนั้นย่อมดิ่งไป เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่บุคคลผู้ปฏิบัติตาม
 
        พระสารีบุตรได้สดับข่าวดังกล่าวจึงไปกราบทูลเรื่องนี้กับพระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “สารีบุตร สุนักขัตตลิจฉวีบุตรเป็นโมฆบุรุษ มักโกรธ และวาจาที่เธอกล่าวนั้น ก็เพราะความโกรธ สุนักขัตตะคิดว่า จะพูดติเตียน แต่กลับกล่าวสรรเสริญคุณของตถาคต แท้จริงข้อนี้เป็นคุณของพระตถาคต ที่บุคคลใดกล่าวเช่นนี้ว่า ธรรมอันพระตถาคต แสดงเพื่อประโยชน์แก่บุคคลใด ธรรมนั้นย่อมดิ่งไป เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้ทำตาม
 
        สารีบุตร การที่สุนักขัตตะกล่าวเช่นนั้น เพราะไม่รู้ว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
 
        สารีบุตร การที่สุนักขัตตะกล่าวเช่นนั้น เพราะไม่รู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวทำเป็นหลายคนได้ หลายคนเป็นคนเดียวได้ ทำให้ปรากฏ หรือหายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพง หรือภูเขาก็ได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่าง ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือนดำลงไปในน้ำก็ได้ เดินไปบนน้ำเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทรงกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้
 
        สุนักขัตตะไม่รู้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงสดับเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ทรงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นหรือบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ จิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ  จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้นแล้ว”
 
        จากนั้นพระบรมศาสดาทรงแสดงทศพลญาณ ๑๐ ประการ ซึ่งทศพลญาณนี้มีเฉพาะในพระพุทธเจ้าเท่านั้น
 
        ประการที่ ๑. ฐานาฐานญาณ ปรีชาญาณหยั่งรู้ฐานะและอฐานะ คือ รู้กฎธรรมชาติเกี่ยวกับขอบเขตและขีดขั้นของสิ่งทั้งหลายว่า อะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ และแค่ไหนเพียงไร โดยเฉพาะเรื่องเหตุกับผล และกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม ซึ่งจะได้รับผลกรรมที่ดีและชั่วต่างกัน
 
        ประการที่ ๒. กรรมวิปากญาณ ปรีชาญาณหยั่งรู้ผลของกรรม คือ สามารถกำหนดแยกการให้ผลอย่างสลับซับซ้อน ระหว่างกรรมดีกับกรรมชั่วที่ต่างกรรมต่างวาระ ทรงมองเห็นรายละเอียด และความสัมพันธ์เกี่ยวโยง ในกระบวนการกิเลสกรรมวิบากอย่างชัดเจน
 
        ประการที่ ๓. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ ปรีชาญาณหยั่งรู้ข้อปฏิบัติ ที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง คือ สุคติ ทุคติ หรือพ้นจากคติ หรือปรีชาญาณหยั่งรู้ข้อปฏิบัติ ที่จะนำไปสู่ประโยชน์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ สัมปรายิกัตถประโยชน์ หรือปรมัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์อย่างยิ่ง ทรงรู้ว่า  เมื่อปรารถนาจะเข้าถึงคติหรือประโยชน์ใด จะต้องทำอย่างไรบ้าง จะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร
 
        ประการที่ ๔. นานาธาตุญาณ ปรีชาญาณหยั่งรู้สภาวะของโลกที่ประกอบด้วยธาตุชนิดต่างๆ คือ รู้สภาวะของธรรมชาติทั้งฝ่ายอุปาทินนกสังขาร และฝ่ายอนุปาทินนกสังขาร เช่น รู้จักส่วนประกอบต่างๆ ของชีวิต สภาวะของส่วนประกอบเหล่านั้น พร้อมทั้งลักษณะและหน้าที่ของแต่ละอย่าง เช่น การปฏิบัติหน้าที่ของขันธ์ อายตนะและธาตุต่างๆ เป็นต้น และรู้เหตุแห่งความแตกต่างกันของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน
 
        ประการที่ ๕. นานาธิมุตติกญาณ ปรีชาญาณหยั่งรู้อธิมุติ คือ รู้อัธยาศัย ความโน้มเอียง ความเชื่อถือ แนวความสนใจของสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น ที่เป็นไปต่างๆ กัน  เมื่อทรงกำหนดเช่นนี้ จึงสามารถสอนเวไนยสัตว์ให้ถูกจริตอัธยาศัยได้
 
        ประการที่ ๖. อินทริยปโรปริยัตตญาณ ปรีชาญาณหยั่งรู้ความยิ่งหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย คือ รู้ว่าสัตว์นั้นๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีอินทรีย์อ่อน แก่เพียงไร สอนง่าย หรือสอนยาก มีความพร้อมที่จะตรัสรู้หรือไม่ ทรงแทงตลอดหมดทั้งสิ้น
 
        ประการที่ ๗. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ทรงรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้วของการเข้าและออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลาย
 
        ประการที่ ๘. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือระลึกชาติในอดีตได้นับภพนับชาติไม่ถ้วน
 
        ประการที่ ๙. จุตูปปาตญาณ ปรีชาญาณหยั่งรู้การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ทรงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดีหรือทราม ได้ดีหรือตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ทรงรู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ ละโลกไปแล้ว เขาต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก  ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฎฐิ ละจากโลกนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
 
        ประการที่ ๑๐. อาสวักขยญาณ ญาณที่สามารถกำจัดอาสวะให้หมดสิ้นไป พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้ได้บรรลุอาสวักขยญาณตามพระองค์ไปได้ด้วย
 
        ทั้งหมดนี้เป็นอานุภาพอันไม่มีประมาณของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า ทศพลญาณ ผู้ไม่รู้มักกล่าวตู่พระพุทธองค์ด้วยคำที่ไม่เป็นจริง ตู่ด้วยความไม่พอใจบ้าง เพราะมีอคติหรืออิจฉาบ้าง แต่คำลบหลู่เหล่านั้นไม่อาจทำให้อานุภาพของพระพุทธองค์ลดลง เหมือนแสงจากดวงตะวันที่พ้นจากหมู่เมฆ ย่อมสว่างไสวเจิดจ้าเป็นนิตย์  เพราะฉะนั้น เราควรเชื่อมั่นในพุทธานุภาพ และทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้มีอานุภาพ อันเป็นอจินไตยไม่มีประมาณ เพราะจิตที่เลื่อมใสจะไปสวรรค์ได้ และจะให้ดี ต้องปฏิบัติให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน  ความสงสัยทั้งปวงจะได้หมดสิ้นไป มีเพียงความเลื่อมใสที่ไม่คลอนแคลนในพระรัตนตรัยเท่านั้น
 
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก.มหาสีหนาทสูตร   เล่ม ๑๘ หน้า ๓๗
 




บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters
Powered by SMF 1.1.17 | Simple Machines|Copyright © 20010 BY : thammaonline.com
บทความธรรมะรวมเรื่องกฏแห่งกรรมสมาธิ วิปัสนากรรมฐานพลังจิตกระดานถาม-ตอบ Sitemap

Google มาเยี่ยมเว็บเมื่อ มีนาคม 28, 2024, 05:38:42 AM