เมษายน 20, 2024, 01:03:44 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คติธรรมคำสอน เรื่องการปฏิบัติกรรมฐาน  (อ่าน 9649 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เด็กหน้าวัด
เด็กใหม่
นักบุญผู้ใจดี
*****

พลังความดี : 696


เพศ: ชาย
กระทู้: 13280
สมาชิก ID: 1


« เมื่อ: สิงหาคม 18, 2010, 09:41:19 PM »

Permalink: คติธรรมคำสอน เรื่องการปฏิบัติกรรมฐาน
คติธรรมคำสอน เรื่องการปฏิบัติกรรมฐาน

ยืน

ผู้ปฏิบัติยืนตรงแล้ว ไม่ต้องชิดเท้า เดี๋ยวจะล้มไป ยืนธรรมดา เอามือไพล่หลัง มือขวาจับข้อมือซ้าย วางตรงกระเบนเหน็บ ตั้งตัวตรง ๆ วาดมโนภาพว่า เรายืนรูปร่างอย่างนี้ เป็นมโนภาพ ผ่าศูนย์กลางลงไปถึงปลายเท้า.. .ยืน... มโนภาพ จิตก็ผ่า จากขม่อม (กระหม่อม) ลงไปสติตามควบคุมจิต ยืนถึงสะดือ แล้วสติตามจิตถึงสะดือทันไหม ทัน วรรคสอง ว่า หนอ...จากสะดือ ลง ไปปลายเท้า นี่จังหวะที่แน่นอน สติตามจิตลงไป ผ่าศูนย์กลาง ๙๐ องศาเลยนะ...

ลองดูนะ แล้วสำรวมปลายเท้าขึ้นมา บนศีรษะครั้งที่สอง ยืนดู (มโนภาพ) เท้าทั้งสองข้าง ยืน...ขึ้นมาถึงสะดือจุดศูนย์กลาง สติตามทันไหม ทัน วรรคสองจากสะดือ หนอ...ถึงขม่อมพอดี นี่ได้จังหวะ ถ้าทำอะไรผิดจังหวะใช้ไม่ได้...

ยืน...ถึงสะดือแล้ว สติตามไม่ทันเสียแล้ว จิตมันไวมาก เอาใหม่กำหนดใหม่ซี่ ได้ไหม ได้ เปลี่ยนแปลงได้ไม่เป็นไร สำรวมใหม่จากปลายเท้า หลับตาขึ้นมา มโนภาพจากปลายเท้าถึงสะดือ ยืน... ขึ้นมาเอาจิตขึ้นมาทบทวน เรียกว่า ปฏิโลม อนุโลม เป็นต้น สำรวมถึงสะดือแล้ว หนอ...ผ่าศูนย์กลางขึ้นมาเลย ผ่านลิ้นปี่ขึ้นมา ถ้าท่านมีสมาธิดี สติดีนะ มันจะซ่านไปทั้งตัว...

กำหนดยืนต้อง ๕ ครั้ง เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงมา (นับเป็นครั้งที่ ๑) เบื้องบนตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นไป (นับเป็นครั้งที่ ๒) หนอ ครั้งที่ ๕ ถึงปลายเท้า ลืมตาได้ ดูปลายเท้าต่อไป


ยืนกำหนด ต้องใช้สติกำหนดมโนภาพ อันนี้มีประโยชน์มาก แต่นักปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่ค่อยปฏิบัติจุดนี้ ปล่อยให้ล่วงเลยไปเปล่า โดยใช้ปากกำหนด ไม่ได้ใช้จิตกำหนดไม่ได้ใช้สติกำหนดให้เกิดมโนภาพ อันนี้มีความสำคัญสำหรับผู้ปฏิบัติมาก กำหนดจิต คือ ต้องใช้สติไม่ใช่ว่าแต่ปากยืนหนอ ยืนหนอ ยืนหนอ...

ไม่ง่ายเลย แต่ต้องทำซ้ำ ๆ ซาก ๆ ให้เคยชิน ให้สติคุ้นกับจิต ให้จิตคุ้นกับสติ ถึงจะเกิดสมาธิ เราจึงต้องมีการฝึกจิตอยู่ที่กระหม่อม วาดมโนภาพลงไปช้า ๆ ลมหายใจนั้นไม่ต้องไปดู แต่ให้หายใจยาว ๆ มันจะถูกจังหวะ แล้วตั้งสติ ตามจิตลงไปว่า ยืน...ที่กระหม่อม แล้ว หนอ...ลงไปที่ปลายเท้า ดูมโนภาพจะเห็นลักษณะกายของเรายืนอยู่ ณ บัดนี้ เห็นกายภายนอกน้อมเข้าไปเห็นกายภายใน...

คำว่า ยืนปักลงที่กระหม่อม แล้วสติตามลงไปเลย วาดมโนภาพ ยืน...ถึงสะดือ แล้ว ร่างกายเป็นอย่างนี้แหละหนอ จากสะดือ ลงไป ก็หนอ...ลงไปปลายเท้าอย่างนี้ทำง่ายดี สำรวมใหม่สักครู่หนึ่ง จึงต้องอย่าไปว่าติดกัน ถ้าว่าติดกันมันไม่ได้จังหวะ ขอให้ญาติโยมผู้ปฏิบัติทำตามนี้ จะได้ผลอย่างแน่นอน


วิธีปฏิบัตินี้ก็ให้กำหนดยืนหนอ ให้เห็นตัวทั้งหมด ให้นึกมโนภาพว่า ตัวเรายืนแบบนี้ ให้กึ่งกลาง ศูนย์กลางจากที่ศีรษะ ลงไประหว่างหน้าอก แล้วก็ลงไประหว่างเท้าทั้งสอง แล้วมันจะไม่มีความไหวติง ในเรื่องขวาหรือซ้าย ยืนนี่ กำหนดไปเรื่อย ๆ ช้า ๆ ให้จิตมันพุ่งไปตามสมควร จากคำว่ายืนหนอ


ยืนนี่ตั้งแต่ศีรษะหายใจเข้าหายใจเข้าไปเลย ให้ยาวไปถึงเท้า ยืนหายใจเข้ายาว ๆ สูดยาว ๆ อย่างที่ไสยศาสตร์เขาใช้กันเรียกว่า “คาบลม”...ไปถึงปลายเท้า แล้วก็ยืนสูดหายใจเข้ามาให้ยาวไปถึงกระหม่อม อัสสาสะ-ปัสสาสะ แล้วจิตจะเป็นกุศลทำให้ยาว รับรองอารมณ์ของโยม ที่เคยฉุนเฉียวจะลดลงไปเลย แล้วก็จิตจะไม่ฟุ้งซ่านด้วย... มูลกรรมฐานอยู่ตรงนี้ มูลฐานของชีวิตก็อยู่ตรงนี้ หายใจยาว ๆ ยืนหนอลงไป หายใจออกยาว ๆ ยืนหนอ อย่างนี้ เป็นต้น

เดิน

บางคน เดินจงกรม หวิวทันทีเวียนศีรษะ แต่แล้วเกาะข้างฝากำหนดเสียให้ได้ คือเวทนา จิตวูบลงไปแวบลงไปเป็นสมาธิ ขณะเดินจงกรม แต่เราหาได้รู้ไม่ว่าเป็นสมาธิ กลับหาว่าเป็นเวทนา เลยเป็นลมเลยเลิกทำไป ข้อเท็จจริงบางอย่างไม่ได้เป็นลม แต่เป็นด้วยสมาธิในการเดินจงกรม หรือมันอาจ เป็นลมด้วยก็ได้ ไม่แน่นอน

ฉะนั้น ขอให้ผู้ปฏิบัติกำหนดหยุดเดินจงกรม แล้วกำหนดหวิวเสียให้ได้ กำหนดรู้หนอเสียให้ได้... บางทีเดินจงกรมไปมีเวทนา อย่าเดิน หยุดก่อน แล้วกำหนดเวทนาเป็นสัดส่วนให้หายไปก่อน... เดินไปอีก หวิวเวียนศีรษะ คิดว่าไม่ดี หยุดกำหนด หวิวหนอซะ ตั้งสติไว้ให้ได้ให้ดีก่อนแล้วจึงเดินต่อไป... ขณะเดินจงกรมจิตออกไปข้างนอก หยุด กำหนด หยุดเสีย กำหนดจิตให้ได้ ที่ลิ้นปี่ กำหนดคิดหนอ คิดหนอ คิดหนอ ยืนหยุดเฉย ๆ ตั้งสติเสียให้ได้ แต่ละอย่างให้ช้า ๆ


ขณะเดินจงกรม มีเสียงอะไรมากำหนดเสียงหนอ ถ้าขณะเดินจงกรม มีเวทนา ปวดเมื่อยต้นคอ หยุดเดิน ยืนเฉย ๆ กำหนดเวทนาไป เอาสภาพความเป็นจริงมาแสดงออกว่า มันปวดมากน้อยเพียงใดต้องการอย่างนั้น ไม่ใช่กำหนดแล้วหายปวด กำหนดต้องการ จะให้รู้ว่ามันปวดขนาดไหน... ขณะเดิน จิตออก จิตคิด หยุด อย่าเดิน เอาทีละอย่าง กำหนดที่ลิ้นปี่อีก แล้วหายใจยาว ๆ คิดหนอ ๆ ๆ ๆ ที่ฟุ้งซ่านไปคิดนั้น เดี๋ยวคอมพิวเตอร์จะตีออกมาถูกต้อง อ๋อไปคิดเรื่องเหลวไหล รู้แล้ว เข้าใจแล้ว ถูกต้องแล้ว เดินจงกรมต่อไป ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เดินให้ช้าที่สุด เพราะจิตมันเร็วมาก จิตมันไวเหลือเกิน ทำให้เชื่องลง ทำให้คุ้นเคย ช้าเพื่อไวนะ เสียเพื่อได้ ต้องจำข้อนี้ไว้สั้น ๆ เท่านั้นเอง


พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ให้วัดตัวเรา วัดกาย วัดวาจา วัดใจ ทุกขณะจิต อย่างที่เดินจงกรมนี่ เป็นแบบฝึกหัดเพื่อให้ได้ อาวุธ คือ ปัญญา อาวุธสำคัญมาก คือ ปัญญา เท่านั้น



นั่ง

เดินจงกรมเสร็จแล้วควรนั่งสมาธิ ทำให้ติดต่อกันเหมือนเส้นด้าย ออกจากลูกล้ออย่าให้ขาด ทำให้ติดต่อไป นั่งสมาธิจะขัดสองชั้นก็ได้ ชั้นเดียวก็ได้ หรือขัดสมาธิเพชรก็ได้ แล้วแต่ถนัด ไม่ได้บังคับแต่ประการใด มือขวาทับมือซ้ายหายใจเข้าออกยาว ๆ...

ก่อนกำหนด พอง/ยุบหายใจเข้ายาว ๆ หายใจออกยาว ๆ แล้วสังเกตท้องหายใจเข้าท้องพองไหม หายใจออกท้องยุบไหม ไม่เห็นเอามือคลำดู เอามือวางที่สะดือแล้วหายใจยาว ๆ ท้องพอง เราก็บอกว่า พองหนอ พอ ท้องยุบ เราก็ บอกว่า ยุบหนอ ให้ได้จังหวะ...

ใหม่ ๆ อึดอัดมาก เพราะเราไม่เคย...บางคนมีนิมิตอย่างโน้น นิมิตอย่างนี้มันมากไป มากเรื่องไป เอาอย่างนี้ก่อนนะ เราหายใจเข้ายาว ๆ ที่ท้องพอง กำหนดพอง ไม่ทันหนอ ยุบแล้ว หรือหายใจออกยาว ๆ ที่ท้องยุบ กำหนดยุบ ไม่ทันหนอ พองขึ้นมาอีกแล้ว วิธีปฏิบัติทำอย่างไร วิธีแก้ก็พอง คนละครึ่งซิ ถ้าพองครึ่งไม่ได้ หนอครึ่งไม่ได้ เอาใหม่เปลี่ยนใหม่ได้เปลี่ยนอย่างไร พองแล้วหนอไปเลย ยุบแล้วลงหนอให้ยาวไปเลย เดี๋ยวท่านจะทำได้ไม่ขัดข้องไม่อึดอัดแน่ ใหม่ ๆ นี่ย่อมเป็นธรรมดา ถ้านั่งไม่เห็นพองยุบ มือคลำไม่ได้ นอนลงไปเลย นอนหงายเหยียดยาวไปเลย เอามือประสานท้อง หายใจยาว ๆ แล้วว่าตามมือนี้ไป พองหนอ ยุบหนอ ให้คล่อง พอคล่องแล้ว ไปเดินจงกรมมานั่งใหม่ เดี๋ยวท่านจะชัดเจน


พองหนอ ยุบหนอ บางครั้ง ตื้อไม่พองไม่ยุบ...กำหนดรู้หนอ หายใจเข้ายาว ๆ หายใจออกยาว ๆ ให้ได้ที่ แล้วจึงใช้สติกำหนดต่อไปว่า พองหนอ ยุบหนอ ปัญญาเกิดสมาธิดี ก็ทำให้พองหนอ ยุบหนอ สั้น ๆ ยาว ๆ แล้วทำให้แวบออกข้าง ๆ ทำให้จิตวนอยู่ในพองยุบ ขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างนี้ถือว่าดีแล้ว... พองหนอ ยุบหนอ เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง ไม่ออกทางพอง ไม่ออกทางยุบ และจิตก็แวบออกไป แวบเข้ามา เดี๋ยวก็จิตคิดบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง สับสนอลหม่านกัน อย่างนี้ถือว่าได้ประโยชน์ในการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติอย่าทิ้ง ผู้ปฏิบัติต้องตามกำหนดต่อไป


การหายใจเข้าออกยาวหรือสั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ข้อเดียว คือ กำหนดได้ในปัจจุบัน หากเรากำหนดไม่ได้ เร็วไป ช้าไป กำหนดไม่ทัน ก็กำหนดใหม่ อันนี้ไม่ต้องคำนึงว่าพองยาวหรือยุบยาว ยาวไปหรือสั้นไป เราเพียงแต่รู้ว่ากำหนดได้ในปัจจุบัน หายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องยุบก็กำหนดเรื่อย ๆ ไป อย่างนี้เท่านั้นก็ใช้ได้


พองยุบตอนแรกก็ชัดดี พอเห็นหนักเข้าก็เลือนลาง บางทีแผ่วเบา จนมองไม่เห็นพองยุบ ถ้ามันตื้อไม่พองไม่ยุบ ให้กำหนดรู้หนอ หายใจยาว ๆ รู้หนอ รู้หนอ ตั้งสติไว้ตรงลิ้นปี่ รู้ตัวแล้วก็กลับมากำหนด พองหนอ ยุบหนอ เดี๋ยวชัดเลย จิตฟุ้งซ่านมากไหม ถ้ามีบ้างก็กำหนด
 

กำหนด

ตัวกำหนด คือ ตัวฝืนใจ เป็นตัวธัมมะ (ธัมมะ แปลว่าฝืนใจ ฝืนใจได้ดีได้) เป็นตัวปฏิบัติ คนเรา ถ้าปล่อยไปตามอารมณ์ของตนแล้วมันจะเห็นแต่ความถูกใจ จะไม่เห็นความถูกต้อง อยู่ตรงนี้นะ


กรรมฐานสอน ง่าย แต่มัน ยาก ตรงที่ท่านไม่ได้ กำหนด ไม่ได้เอาสติมาคุมจิตเลย...ผู้ปฏิบัติธรรม ที่ไม่ได้กำหนดไม่ใช้สติ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติเลย ว่างเปล่า ไม่ได้ผล คนเรามีสติอยู่ตรงนั้น... ต้องมีสติทุกอิริยาบถ ต้องกำหนดทั้งนั้น


กำหนดอยาก กำหนดโน่น กำหนดนี่ มันจะมากไปเอาแต่น้อยก่อน เพราะเดี๋ยวจะกำหนดไม่ได้ เอาทีละอย่าง เดี๋ยวก็ได้ดีเอง แล้วค่อยกำหนดต้นจิตทีหลัง ต้นจิต คือ ตัวอยาก อยากหยิบหนอ อยากหยิบหนอ นี่ต้นจิต เป็นเจตสิกเอาไว้ทีหลัง ค่อยเป็น ค่อยไปก่อน ค่อย ๆ ฝึก ให้มันได้ขั้นตอน ให้มันได้จังหวะก่อน แล้วฝึกให้ ละเอียดทีหลัง ถ้าเรากำหนดละเอียดเลย ขั้นตอนไม่ได้ ก็เป็นวิปัสสนึกไปเลย พองยุบก็ไม่ได้


การศึกษาภาคปฏิบัตินี่ยากมาก คือ อารมณ์หลายอย่างมาแทรกแซงเรา ก็ขอเจริญพรว่า ให้กำหนดทีละอย่าง ศึกษาไปทีละอย่าง ทีนี้มันฟุ้งซ่าน ความวัวยังไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรกแซงตลอดเวลา เพราะไม่ได้ปฏิบัติมานาน เช่น มีเวทนากำหนดทีละอย่าง ยิ่งปวดหนัก ๆ เดี๋ยวมันจะเกิดอนิจจังไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์จริง ๆ นะ ทุกข์นี่คือตัวธัมมะ เราจะพบความสุขต่อเมื่อภายหลัง แล้วเวทนาก็เกิด ขึ้นสับสนอลหม่านกัน ไอ้โน่นแทรก ไอ้นี่แซง ทำให้เราขุ่นมัว ทำให้เราฟุ้งซ่านตลอดเวลา เราก็กำหนดไปเรื่อย ๆ ทีนี้ถ้าปัญญาเกิดขึ้นเป็นขั้นตอน มันก็จะรู้ในอารมณ์นั้นได้อย่างดีด้วยการกำหนด มันมีปัญหาอยู่ว่า เกิดอะไรให้กำหนดอย่างนั้น อย่าไปทิ้ง อริยสัจ ๔ แน่นอน เกิดทุกข์แล้ว หาที่มาของทุกข์ เอาตัวนั้นมาเป็นหลักปฏิบัติ แล้วจะพบอริยสัจ ๔ แน่นอนโดยวิธีนี้ อันนี้ขอเจริญพรว่า ค่อย ๆ ปฏิบัติ กำหนดไปเรื่อย ๆ พอจิตได้ที่ ปัญญาสามารถตอบปัญหาสิบอย่างได้เลยในเวลาเดียวกัน เดี๋ยวคอมพิวเตอร์สามารถจะแยกประเภทบอกเราได้ อารมณ์ฟุ้งซ่านต้องเป็นแน่เพราะเราเพิ่งปฏิบัติไม่นาน


กำหนดได้เมื่อใด สติมีเมื่อใด สามารถจะระลึกเหตุการณ์ในอดีตได้โดยชัดแจ้ง จากคำกำหนดว่า คิดหนอ มีประโยชน์มาก ถ้าเราสติดี ปัญญาเกิดความคิดของกรรมจะปรากฏ แก่นิมิตให้เราทราบได้ว่า เราจะใช้กรรมวันพรุ่งนี้แล้ว และเราก็จะได้ประโยชน์ในวันพรุ่งนี้แล้ว นี่อดีตแสดงผลงานปัจจุบัน ปัจจุบันแสดงผลงานในอนาคต... ที่เรารู้สรรพสำเนียงเสียงนก กำหนดเสียงหนอ อ๋อนกเขาร้อง ด้วยเหตุผล ๒ ประการ มันบอกได้อย่างนี้ เราเดินผ่านต้นไม้ สติดี สัมปชัญญะดี ต้นไม้จะบอกอารมณ์แก่เราได้ ว่าขณะนี้เป็น อย่างไร


บางทีเราไม่รู้ตัวว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น เราก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร ถ้าเรามีสติเราก็กำหนดตรงลิ้นปี่ รู้หนอ รู้หนอ รู้หนอ พอสติดีปัญญาเกิด เราก็รู้อะไรขึ้นมาเหมือนกัน อันนี้ไม่ใช่วิธีฝึก แต่เป็นวิธีปฏิบัติที่เกิดเฉพาะหน้า


กรรมฐาน ต้องทำซ้ำ ๆ ซาก ๆ เพิ่ม ๆ เติม ๆ คิดหนอบ่อย ๆ ถ้าโกรธก็กำหนด เสียใจก็กำหนด ดีใจก็กำหนด อย่าประมาทอาจองต่อสงครามชีวิต เดี๋ยวจะปลงไม่ตก


มันจะมีความสงบได้แค่ไหนไม่สำคัญ สำคัญที่เรากำหนดได้ในปัจจุบันหรือไม่เท่านั้น แล้วปัญญาจะเกิดเองตามลำดับ แล้วความคุ้นเคยก็จะมาสงบต่อในภายหลัง


ที่จะเน้นกันมากคือ เน้นให้ได้ปัจจุบัน สำหรับพองหนอ ยุบหนอ เพราะตรงนี้เป็นจุดสำคัญมาก ถ้าทำได้คล่องแคล่ว ในจุดมุ่งหมายอันนี้รับรอง อย่างอื่นก็กำหนดได้


การกำหนดไม่ทัน วิธีแก้ทำอย่างไร กำหนดรู้หนอ รู้หนอ ถ้ามันงูบลงไปต้องกำหนด ไม่อย่างนั้นนิสัยเคยชินทำให้พลาด ทำให้ประมาทเคยตัว


อย่างคำว่า เห็นหนอ เห็นหนอ เห็นหนอ นี่นะมีประโยชน์มาก อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหล จะเห็นอะไรก็ตั้งสติไว้ จนกว่าเราจะได้มติของชีวิตว่าเป็นปัจจัตตังแล้ว มีความรู้ในปัญญาแล้ว เราเห็นอะไร ปัญญา จะบอกเอง แต่การฝึกเบื้องต้นนี่ ต้องฝึกกันเรื่อยไป ถึงญาติโยมกลับไปบ้านไปยังเคหะสถาน หรือจะประกอบการงานของโยม ก็ไม่ต้องใช้เวลาว่าง ใช้งานนั่นแหละเป็นกรรมฐาน


บางคน นั่งกรรมฐานตลอดกระทั่งได้ผลสมาบัติ ไม่มีนิมิตเลย บางคนนิมิตไหลมาเป็นไข่งู ไหลมาเป็นภาพยนตร์เลย กำหนดเห็นหนอ อย่าไปดูมัน เห็นหนอ เห็นหนอ เห็นหนอ ไม่หาย กลับภาพจริงครั้งอดีตชาติ รำลึกชาติได้ นิมิตจะบอกได้ในญาณ ๔


หนอ นี่รั้ง จิต ให้มี สติ หนอตัวนี้สำคัญ ทำให้เรามีสติ ทำให้ความรู้ตัวเกิดขึ้น โดยไม่ฟุ้งซ่านในเรื่องเวทนาที่มันปวด แล้วเราก็ตั้งสติต่อไป


ถ้าวันไหนฟุ้งซ่านมาก ไม่ใช่ ไม่ดีนะ ดีนะมันมีผลงานให้กำหนด แล้วก็ขอให้ท่านกำหนดเสีย ฟุ้งซ่านก็กำหนด ตั้งอารมณ์ไว้ให้ดี ๆ กำหนดฟุ้งซ่านหนอ กำหนดฟุ้งซ่านหนอ กำหนดฟุ้งซ่านหนอ หายใจยาว ๆ ตามสบาย สักครู่หนึ่งท่านจะหายแน่นอน บางคนดูหนังสือปวดลูกตา อย่าให้เขาเพ่งที่จมูก ต้องลงไปที่ท้อง หายทุกราย บางทีปวดกระบอกตา ดูหนังสือไม่ได้เลย ร่นลงมากำหนดที่ท้อง ก็จะว่องไวคล่องแคล่วขึ้น แล้วจะหายไปเอง


ทวาร ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่มาของ นรกสวรรค์ จึงต้องกำหนดจิต ทวาร ๓ ทวารกาย ทวารวาจา ทวารใจ เป็นที่มาของ บุญบาป จึงต้องสำรวม


ตัวกำหนดจิตสำคัญมาก จะทำงาน เขียนหนังสือก็กำหนด จะกินน้ำก็กำหนด จะเดินก็กำหนด จะหยิบอะไรก็ตั้งสติไว้ โกรธก็เอาสติไปใส่ เสียใจก็เอาสติไปใส่ ให้รู้ว่าเสียใจเรื่องอะไร โกรธเรื่องอะไร เราจะรู้ด้วยตัวเองว่า เราสร้างกรรมอะไร และจะแก้ปัญหาอย่างไร


ถ้าเราโกรธ เราไม่สบายใจ กลุ้มอกกลุ้มใจ อย่าไปฝากความกลุ้มค้างคืนไว้ อารมณ์ค้าง เช้าขึ้นมาทำงานจะเสียหาย หายใจยาว ๆ แล้วกำหนดตรงลิ้นปี่ว่า โกรธหนอ โกรธหนอ โกรธหนอ รับรองหายโกรธ โกรธแล้วไม่กำหนด ฝากความโกรธ เก็บไว้ในจิตใจตายไปลงนรกนะ... ในทำนองเดียวกัน กำหนดเสียใจหนอ เสียใจหนอ เสียใจหนอ หายใจยาว ๆ ร้อยครั้งพันครั้ง ความเสียใจจะหายไปเลย ดีใจเข้ามาแทนที่ สร้างความดีต่อไป


เวทนา

ผู้ปฏิบัติธรรมที่มีเวทนา ไม่เคยกำหนด ปล่อยมันไปตามเรื่องตามราว อย่างนี้ใช้ได้หรือ? เลยรู้ไม่จริงในเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ต้องไปอรรถาธิบายวิชาการให้ฟัง


ถ้าเจริญกรรมฐานไม่ปวด ไม่เมื่อยแล้ว จิตไม่ออก ใช้ไม่ได้ มันต้องสับสนอลหม่าน ะต้องปวดเมื่อยไปทั่วสกลกาย นั่นแหละได้ผล


เวทนา ต้องฝืนต้องใช้สติไปพิจารณา เกิดความรู้ว่าปวดขนาดไหน ปวดอย่างไร แล้วก็ภาวนากำหนดตั้งสติไว้ เอาจิตเข้าไป จับดูการปวด การเคลื่อนย้ายของเวทนา เดี๋ยวก็ชา เดี๋ยวก็สร่าง บังคับมันไม่ได้


กำหนดเวทนา ถ้าหากว่า พองหนอ ยุบหนอ แล้วเกิดเวทนา ต้องหยุด พองยุบไม่เอา เอาจิตปักไว้ ตรงที่เกิดเวทนา เอาสติตามไปดูซิว่ามันปวดแค่ไหน มันจะมากน้อยเพียงใด ไม่ใช่ปวดหนอ แล้วหายเลย ไม่หาย... พอยึดปวดหนอ โอ้โฮ ยิ่งปวดหนัก ตายให้ตาย ปวดหนักทนไม่ไหวแล้ว จะแตกแล้ว ก้นนี่จะร้อนเป็นไฟแล้ว ทนไม่ไหวแล้ว ตายให้ตาย กำหนดไป กำหนดไป สมาธิดี สติดี เวทนาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ซ่า! หายวับไปกับตา... ขอให้ท่าน อดทน ฝึกฝนในอารมณ์นี้ให้ได้ เวลาเจ็บป่วย ท่านจะได้เอาจิตแยกออก เสียจากป่วยเจ็บ จิตไม่ป่วย ไม่เป็นไรนะ


แต่เรื่องวิปัสสนานี่ มีอย่างหนึ่งที่น่าคิด คือ ปัญญาที่จะเกิดขึ้นได้นั้น มันมีกิเลสมากมายหลายอย่าง ที่เกิดขึ้นในตัวเราทั้งหมด เราจะรู้กฎแห่งกรรมความเป็นจริง จากสภาพเวทนานั้นเอง... ปัญญาที่จะเกิดนั้น เกิดขึ้นโดยความรู้ตัว โดยสติสัมปชัญญะ ภาคปฏิบัติจากการกำหนดนั่นเอง เวทนาที่ปวดเมื่อยนั้น มันปวดตามโน้นตามนี้ เราก็หยุดเอาทีละอย่าง อย่างที่อาตมากล่าวแล้ว กำหนดเวทนาให้ได้ กำหนดได้เมื่อใด มากมายเพียงใด ซาบซึ้งเพียงนั้น มันเกิดเวทนา อย่างอื่นขึ้นมาก็เป็นเรื่องเล็กไป... บางครั้งอาจนึกขึ้นได้ว่าไปทำเวรกรรมอะไรไว้ ไม่ต้องไปคำนึงถึงกรรมนั้นเลย ข้อปฏิบัติเพื่อไม่ให้มีอารมณ์ ฟุ้งซ่านไปอยู่ในกรรมนั้น ก็ด้วยการกำหนดเวทนานั้นเอง


ถ้าเราเจริญกรรมฐาน เราจะรู้กฎแห่งกรรมได้ตอนมีเวทนา คนไหนอดทนต่อเวทนาได้ กำหนดผ่านเวทนาได้ เราจะได้รู้ว่าทุกข์ทรมานที่ผ่านนั้น ไปทำกรรมอะไรไว้... นี่แหละท่านทั้งหลาย ทำให้มันจริง จะเห็นจริง ทำไม่จริง จะเห็นจริงได้อย่างไร ต้องเห็นจาก ตัวเราออกมาข้างนอก รู้ตัวว่าเรามีเวรมีกรรมประการใด ก็ใช้หนี้ โดยไม่ปฏิเสธทุกข้อหา จิตอโหสิกรรมได้ ยินดีรับเวรรับกรรมได้โดยไม่มีปัญหาใด ๆ


ปวดหนอ นี่เป็นสมถะ ไม่ใช่วิปัสสนา จำไว้ให้ได้ ปวดหนอ นี่ยึดบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะว่ามีรูป มันจึงมีเวทนาเกิดสังขารปรุงแต่งมันจึงปวด ปวดแล้วกำหนด ปวดหนอ ปวดหนอ ปวดหนอ ยิ่งปวดหนัก ถ้าไม่กำหนดเลย ก็ไม่ปวดหรอก แต่วิธีปฏิบัติต้องกำหนด จะได้รู้ว่าเวทนามันเป็นอย่างไร นี่ตัวธัมมะอยู่ที่นี่ ตัวธัมมะอยู่ที่ทุกข์ ถ้าไม่ทุกข์จะไม่รู้อริยสัจ ๔ นะ เอ้าลองดูซิ ถ้าเกิดเวทนาแล้วเลิกโยมจะไม่รู้อริยสัจ ๔ รู้แต่ทุกข์ข้างนอก รู้แต่ทุกข์จร ทุกข์ประจำไม่รู้เลยนะ ทุกข์ประจำนี่ต้องเอาก่อน ปวดหนอ ปวดหนอ นี่ทุกข์ประจำ ปวดหนอ ปวดหนอ โอ๊ยจะตายเลย บางคนนั่งทำไปเหลืออีก ๑๕ นาที จะครบ ๑ ชั่วโมง หรืออีก ๕ นาที จะครบครึ่งชั่วโมง ที่ตั้งใจไว้ จะตายทุกครั้งเลย เอ้าตายให้ตาย ตายให้ตาย ปวดหนอปวดหนอ โอ้โฮมันทุกข์อย่างนี้นี่เอง พิโธ่เอ๋ยกระดูกจะแตกแล้ว แล้วที่ก้นทั้งสองนี่ร้อนฉี่เลย เหมือนหนามมาแทงก้น โอ้โฮมันปวดอย่างนี้นี่เองหนอ ปวดหนอ ปวดหนอ กำหนดไป เป็นไรเป็นกัน พอใกล้เวลาครบกำหนดที่ตั้งสัจจะไว้จะตายเลยนะ ลองดู ลองดู ต้องฝืนใจ


ที่เราทำกรรมฐานนั้น เวทนามันสอนเรา... เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ปวดหนักเข้า ปวดหนักเข้า แตกเลย มันมีจุดแตกออกมานะโยมนะ แล้วมันจะหายปวดทันที...ใครจะทำถึงขั้นไหนก็ตาม ต้องผ่านหลัก ๔ ประการ กาย เวทนา จิต ธรรม ทุกคนต้องมีเวทนาทุกคน แต่มีเวทนาแล้วเรากำหนดได้ ตั้งสติไว้ให้ได้ไม่เป็นอะไรเลย และเวลาเจ็บระหวยป่วยไข้จะไม่เสียสติ จะไม่เสียสติเลยนะ และเราทำวิปัสสนานี่ มันมีเวทนาหนักยิ่งกว่าก่อนจะตาย เวลาก่อนตายนี่มัน จะหนักเหลือเกิน


ไปวัดกระซิบเบา ๆ ฟังเขาสอน
ชีวิตเราเกิดมาไม่ถาวร
อย่ามัวนอนหลงเล่นไม่เป็นการ
ไฟสามกองกองเผาเราเสมอ
อย่าเลินเล่อควรทำพระกรรมฐาน.....


ไหน ๆ เกิดมาชีวิตต้องดับ คือ ตาย
ใกล้ตายญาติมิตรบอกให้คิดถึงพระอรหัง
รู้ยากที่สุด คือ คุณพระพุทธัง
เพราะกำลัง เวทนา ทุกข์กล้าเอย


เวทนาจะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย จะห้ามไม่ให้เกิด ก็ห้ามไม่ได้ ครั้นเมื่อหมดเหตุปัจจัยก็จะดับไปเอง หมดไปเอง...บางคนไม่รู้ พอปวดก็เลิกไปเลย ไม่เอาแล้วชอบสบาย รับรองท่านจะไม่รู้กฎแห่งกรรม เดี๋ยวจะว่าอาตมาหลอกไม่ได้นะ อาตมาผ่านมาแล้ว


เวทนา คือ ครู ครูมาสอนไม่เรียนสอบตก (ปวดเลิก เมื่อย เลิก ฟุ้งซ่านเลิก) ท่านจะไม่ได้อะไรเลยนะ


หากนั่งครบกำหนดแล้วยังมีเวทนาคาอยู่ อย่าเพิ่งเลิก ให้นั่งต่อไป จนกว่าเวทนาจะเบาบาง ค่อยเลิก


ขอเจริญพรว่า กรรมฐาน สามารถรู้เหตุการณ์ และโรคภัยไข้เจ็บได้ ใครเป็นโรคอะไร ใจเข้มแข็ง ตายให้ตายหายทุกราย


ลูกสาวหลวงพ่อ พ่อเป็นจับกัง แม่รับจ้างซักรีด มาอยู่ช่วยงาน และปฏิบัติด้วยเป็นเวลา ๑ เดือนเต็ม ๆ ปฏิบัติกรรมฐาน ด้วยความอดทนสูง ถึงขนาดตายให้ตาย เขาเป็นโรคโปลิโอ แต่กลับกลายหายได้ พ่อแม่ก็มีงานมากขึ้น ออกจากวัดไปเป็น เถ้าแก่เนี้ย มีลูกออกมาดีหมด จบการศึกษาต่างประเทศทุกคน และหน้าที่การงานก็ดีด้วย


สรุป

ผู้มีปัญญาโปรดฟัง ปฏิบัติอยู่เท่านี้ ไม่ต้องไปทำมาก ยืนหนอ ให้สติกับจิตเป็นหนึ่งเดียว ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ให้ได้ปัจจุบัน พองหนอ ยุบหนอ ให้ได้ ปัจจุบัน เท่านี้เหลือกินเหลือใช้ เหลือที่จะพรรณนา


ส่งกระแสจิตทางหน้าผาก ชาร์จไฟเข้าหม้อที่ลิ้นปี่ จำตรงนี้เป็นหลักปฏิบัติ ๗ วัน ยืนหนอให้ได้ เห็นหนอให้ได้ พองหนอ ยุบหนอ กำหนดให้ได้เท่านี้ เดี๋ยวอย่างอื่นจะไหลมาเหมือนไข่งู


การปฏิบัติกรรมฐาน ไม่ต้องไปสอนวิชาการ เพราะไม่ต้องการให้รู้และไม่ต้องดูหนังสือ ปฏิบัติโดยเคร่งครัด ให้มันผุดขึ้นในดวงใจใสสะอาดและหมดจด


เวลาเครียด อย่าทำสมาธิ เลือดลมไม่ดี ห้ามทำสมาธิ ต้องไปผ่อนคลายให้หายเครียด จนภาวะสู่ความเป็นปกติ ถึงจะมาเจริญ กรรมฐานได้ การเจริญพระกรรมฐาน การนั่งสมาธิ ต้องเป็นคนที่ปกติ ถ้าไม่ปกติ อย่าไปทำ


ไม่ว่าคนฉลาดหรือคนสติปัญญาต่ำ ก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น มีความศรัทธา ที่จะประพฤติปฏิบัติ มีความเพียรพยายาม มีความอดทน มีสัจจะ และดำเนินรอย ตามการปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นต้น แต่ เรื่องของบุญวาสนา ที่ติดตัวมาแต่อดีต ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง


การเจริญกรรมฐาน ต้องการให้มีปัญญาแก้ไขปัญหา จำตรงนี้เอาไว้ เพราะกรรมฐาน เป็นวิชาแก้ปัญหาชีวิต เป็นวิชาแก้ทุกข์ ต้องเรียนรู้เอง ซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบ


คบหาสมาคมกับคนที่ขยันหมั่นเพียร หลีกเลี่ยงบุคคลที่ เหลาะแหละเกียจคร้าน มั่นใจว่า สติปัฏฐาน ๔ นี้ เท่านั้น เป็นทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ล้วนปฏิบัติมาแล้วทั้งสิ้น


เว้นจากการสมาคมกับบุคคลที่ช่างพูด ช่างเจรจา ชอบคุย ต้องเว้นไปออกสมาคมกับผู้ที่รักษาความสงบระงับ

 

จากหนังสืออนุสาสนีปาฏิหาริย์ รวบรวมโดย คุณชินวัฒก์ รัตนเสถียร




บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters
Powered by SMF 1.1.17 | Simple Machines|Copyright © 20010 BY : thammaonline.com
บทความธรรมะรวมเรื่องกฏแห่งกรรมสมาธิ วิปัสนากรรมฐานพลังจิตกระดานถาม-ตอบ Sitemap

Google มาเยี่ยมเว็บเมื่อ เมษายน 05, 2024, 12:35:41 AM