เมษายน 19, 2024, 10:29:56 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1] 2 3 ... 31  ทั้งหมด   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน  (อ่าน 407813 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« เมื่อ: พฤศจิกายน 27, 2014, 10:32:14 PM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๑ (อสุภะกรรมฐาน)

- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้มองเห็นเป็นมารดา เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นป้า เป็นน้า เป็นอา เป็นเครือญาติ (ภารทวาชสูตร)
- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้ระลึกเจริญในอานาปานสติ ให้มีความรู้ตัวในปัจจุบันรู้ว่ากำลังตามรู้ลมหายใจ รู้ว่ากำลังกายใจเข้า รู้ว่ากำลังหายใจออก รู้กองลมทั้งปวง จิตจดจ่ออยู่ที่ลมตรงปลายจมูก หน้าอก หรือ ท้องน้อยเป็นต้น ย่อมถึงความคลายกำหนัดในกายสังขารและจิตสังขารเป็นต้นได้(กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, คิริมานนทสูตร, สัญญา ๑๐)



กายคตาสติสูตร

             [๒๙๔]พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กายคตาสติอัน ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
             ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี  นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
(ก็เพื่อให้ทั้งกายและใจมั่นคง ไม่เลื่อนไหลลงสู่ความง่วงงุนซึมเซา หรือภวังค์ง่ายๆ)
ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า  เธอย่อมมีสติ หายใจออก  มีสติ หายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว  หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น  หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น 
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก  ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท  มีความเพียร  (เมื่อ)ส่งตนไปในธรรมอยู่ อย่างนี้  ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ 
เพราะละความดำริพล่านนั้นได้  จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ

             [เรียกเฉพาะว่า อานาปานสติ  พึงรู้ระลึกว่า เป็นการใช้สติเป็นสำคัญไปในกายที่หมายถึงลมหายใจอันเป็นกายสังขารอย่างหนึ่ง ที่พรั่งพร้อมทั้งสัมมาสมาธิที่หมายถึงมีความตั้งมั่น  ยังมิได้มีจุดประสงค์ในฌานสมาธิระดับประณีตลึกซึ้ง ในขั้นนี้หรืออานาปานสติจึงควรประกอบด้วยสติ  นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงจะได้ไม่ให้เลื่อนไหลลงภวังค์หรือนิมิตได้ง่ายๆ  เพราะไม่มีเจตนาลงลึกไปในฌานสมาธิในระดับประณีตลึกซึ้งแต่อย่างใด  ถ้าเคลิบเคลิ้มหรือเลื่อนไหลลงภวังค์หรือหลับหรือเกิดนิมิตขึ้นอยู่เสมอๆ ก็อย่าหลับตาให้ลืมตา หรือแม้ลุกขึ้นยืนปฏิบัติก็ยังได้,   อนึ่งพึงสังเกตุว่า เหตุเพราะสติระลึกอยู่กับลมหายใจได้ดี จึงหมายถึงย่อมไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปคิดปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่าน หรือก็คือการละความคิด(ดำริ)พล่านออกไปปรุงแต่งภายนอกกายสังขารคือลมหายใจนั่นเอง  จึงเป็นไปตามหลักเหตุปัจจัยปฏิจจสมุปบันธรรมนั่นเอง  จิตจึงเป็นธรรมเอกตั้งมั่นได้,   เมื่อพิจารณาโดยแยบคายย่อมได้ทั้งความเพียร สติ สมาธิ และปัญญา]



ราหุโลวาทะสูตร
อานาปานสติภาวนา

            [๑๔๖] ดูกรราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติภาวนาเถิด เพราะอานาปานสติที่บุคคล
เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล มีอานิสงส์ใหญ่. ก็อานาปานสติอันบุคคลเจริญอย่างไร
ทำให้มากอย่างไร จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่? ดูกรราหุล ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี
อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติ
หายใจออก มีสติหายใจเข้า. เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว
ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว.  เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น
ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียก
ว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจออก ย่อม
สำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก ย่อม
สำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจออก ย่อม
สำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง
หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียก
ว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจาก
ราคะหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจออก ย่อมสำเหนียก
ว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่
สละคืน หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หายใจเข้า. ดูกรราหุล
อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
ดูกรราหุล เมื่ออานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ลมอัสสาสะ
ปัสสาสะ อันมีในภายหลัง อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติทราบชัดแล้ว ย่อมดับไป หาเป็น
อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติไม่ทราบชัดแล้ว ดับไปไม่ได้ดังนี้.



- เมื่อเราได้น้อมนำมาพิจารณาปฏิบัติอย่างนี้ เอาลมหายใจมาเป็นอารมณ์ ได้รับอานิสงส์..คือ รู้และเห็นว่าการอยู่กับปัจุบันมีสติรู้ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอยู่ในปัจจุบันอยู่ทุกขณะนี้ประเสริฐมาก มีอานิสงส์มาก เป็นความสงบสุขอันโล่งเบาเย็นไม่เร่าร้อน ทำให้เรารู้สึกถึงความแช่มชื่นปราโมทย์ ไม่เร่าร้อนจากการที่ราคะเมถุนถูกสลัดทิ้งไป
- มีความอิ่มเอมเป็นสุขเข้าถึงความสงบกายและใจประดุจมีสมาธิอันมีกำลังมากเข้าปกคลุมก่ายใจเราอยู่ทุกขณะ และความคิดอสุศลธรรมอันลามกจัญไรใดๆก็หายไปไม่กำเริบเกิดขึ้น แม้พยายามจะหวนตรึกนึกถึงก็นึกไม่ออก นึกได้แต่ธรรมอันงานอันปราศจากราคะเท่านั้น ถึงความไม่ติดใจข้องแวะในสิ่งไรๆอารมณ์ใดๆ วางเฉยนิ่งว่างอยู่ ความกลัวก็ไม่มี ความเกลียดก็ไม่มี ไม่พอใจก็ไม่มี แต่แต่จิตที่เบิกบานอันยินดีในกุศลธรรมทั้งปวงแม้ในขณะลืมตาหรือหลับตา
- เมื่อว่างจากกิจการงานไรๆแล้ว มีความรู้ตัวอยู่ มีจิตแนบอยู่ที่ลมหายใจ ก็เข้าสู่ความนิ่งว่างมีแต่ความสำเหนียกไม่มีความตรึกนึก มีแต่สุขที่พรั่งพรูออกมาอย่างเกิดมาไม่เคยพบเจอเลยใจชีวิต จนถึงความสงบว่างมีแต่จิตรู้จิต มีแต่จิตเห็นจิตนิ่งว่างแช่อยู่ มีสัมปะชัญญะรู้ตัวอยู่เกิดแยกจากความติดแช่ในสภาวะธรรมนั้นๆ จนจะหมายใจไว้ว่าจะทำอย่างไรจิตก็จะเพิกไปทันที ไม่มีความตรึกนึกคิดอันใดให้ยุ่งเหยิงวุ่นวายแค่สำเหนียกรู้อยู่ แลดูอยู่ รู้ตัวอยู่เท่านั้น
- เมื่อออกมาจากจุดนั้นแล้วก็ประดุจดั่งมีความสงบจดจ่อแน่นิ่งอันปราศจากราคะปกคลุมอยู่ทั่วกายทั้งกลางวันและกลางคืน ทรงอยู่ได้มากสุด 4 วัน 3 คืน ไม่ติดใจสิ่งไรๆปารถนาเพียงจักบวชเท่านั้น
- เมื่อมีอานาปานสติตั้งอยู่เฉพาะในภายใน จิตจะเพิกไปทางใด ก็ให้ได้เห็นธรรมทั้งภายในและภายนอก เกิดธรรมเอกผุดขึ้นย่อมรู้ได้เห็นได้เสมอๆ ถึงซึ่งวิราคะอยู่ ณ ที่นั้น









« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 25, 2015, 10:24:33 PM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 27, 2014, 10:51:51 PM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๒ (อสุภะกรรมฐาน)

- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เข้าไปตั้งในอานาปานสติไว้ แล้วระลึกเจริญในอสุภะกรรมฐาน เป็นซากศพผุพังเน่าเปื่อยย่อยสลายไป ในภายนอก ให้เห็นเป็นของไม่งาน ไม่น่าใคร่ปารถนายินดี กายนั้นๆแม้เมื่อก่อนจะงดงามแค่ไหนก็ไม่คงอยู่นานก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย พองอืด เขียวคล้ำ เน่าเปื่อยย่อยสูญสลายไป ต่อให้งามแค่ไหนที่สุดก็อยู่ที่ความผุพังเน่าเปื่อย แล้วก็ตายและก็ดับสูญคืนสู่ดินไปบังคับให้กายอันงามนั้นคงอยู่ไม่เสื่อมไม่สูญไปก็ไม่ได้ดังนี้เป็นต้น ซึ่งพระตถาคตจะตรัสสอนให้จับเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งคือ กระดูกโดยส่วนเดียว หนังที่เน่าเปื่อยโดยส่วนเดียว หรือเนื้อที่เน่าเปื่อยโดยส่วนเดียว น้ำเหลืองจากศพโดยส่วนเดียว จากสภาพใดสภาพหนึ่งในอสุภะ ๑๐ นั้น เช่น จากศพที่อืดเขียวบวม หรือ จากศพที่เน่าเหม็นน้ำเลื้อน้ำหนองไหล เป็นต้น มาพิจารณา(อสุภสูตร, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน,นางสิริมา [๑๑๙])



๖. อสุภสูตร

             [๒๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้พิจารณาเห็นอารมณ์
ว่าไม่งามในกายอยู่ จงเข้าไปตั้งอานาปาณสติไว้เฉพาะหน้าในภายใน และจง
พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวงอยู่เถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอ
ทั้งหลายพิจารณาเห็นอารมณ์ว่าไม่งามในกายอยู่ ย่อมละราคานุสัยในเพราะความ
เป็นธาตุงามได้ เมื่อเธอทั้งหลายเข้าไปตั้งอานาปาณสติไว้เฉพาะหน้าในภายใน
ธรรมเป็นที่มานอนแห่งวิตกทั้งหลาย (มิจฉาวิตก) ในภายนอก อันเป็นไปใน
ฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ย่อมไม่มี เมื่อเธอทั้งหลายพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
ในสังขารทั้งปวงอยู่ ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น ฯ


                          ภิกษุผู้พิจารณาเห็นอารมณ์ว่าไม่งามในกาย มีสติเฉพาะใน
                          ลมหายใจ มีความเพียรทุกเมื่อ พิจารณาเห็นซึ่งนิพพาน
                          อันเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ภิกษุนั้นแล ผู้เห็นโดยชอบ
                          พยายามอยู่ ย่อมน้อมไปในนิพพานเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้ง
                          ปวง ภิกษุนั้นแล ผู้อยู่จบอภิญญา สงบระงับล่วงโยคะเสียได้
                          แล้ว ชื่อว่าเป็นมุนี ฯ                                                   

จบสูตรที่ ๖



กายคตาสติสูตร

             [๒๙๙]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งใน ป่าช้า
อันตายได้วันหนึ่ง หรือสองวัน หรือสามวัน ที่ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้ม
จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้ เป็นธรรมดามีความเป็นอย่างนี้  ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้
เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ ฯ
(นวสีวถิกาบรรพ แสดงอาการของศพไว้ ๙ ระยะหรือแบบ)
             [๓๐๐]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งใน ป่าช้า  อันฝูงกาจิกกิน(ลูกนัยตา ฯ)อยู่บ้าง
ฝูงแร้งจิกกิน(เนื้อหนัง ตับ ไต ฯ)อยู่บ้าง  ฝูงนกตะกรุมจิกกิน(ไส้ใหญ่ ไส้น้อย ฯ)อยู่บ้าง  หมู่สุนัขบ้านกัดกิน(แขน ขา ฯ)อยู่บ้าง 
หมู่สุนัขป่ากัดกิน(กัดแทะกระดูก อวัยวะน้อยใหญ่ ฯ)อยู่บ้าง  สัตว์เล็กสัตว์น้อยต่างๆชนิดฟอนกิน(แทะเล็มส่วนต่างๆทั่วกาย)อยู่บ้าง
จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้ เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้   ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
เมื่อภิกษุนั้น ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้
เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ
             [๓๐๑]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งใน ป่าช้า  ยังคุมเป็นรูปร่างอยู่ด้วยกระดูก มีทั้งเนื้อและเลือดเส้นเอ็นผูกรัดไว้......
             เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า  ยังคุมเป็นรูปร่างด้วยกระดูก ไม่มีเนื้อ มีแต่เลือดเปรอะเปื้อนอยู่ เส้นเอ็นยังผูกรัดไว้......
             เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า  ยังคุมเป็นรูปร่างด้วยกระดูกปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว แต่เส้นเอ็นยังผูกรัดอยู่...... 
             เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า  เป็นท่อนกระดูก ปราศจากเส้นเอ็นเครื่องผูกรัดแล้ว กระจัดกระจายไปทั่วทิศต่างๆ คือ
กระดูกมืออยู่ทางหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางหนึ่ง กระดูกแข้งอยู่ทางหนึ่ง กระดูกหน้าขาอยู่ทางหนึ่ง กระดูกสะเอวอยู่ทางหนึ่ง
กระดูกสันหลังอยู่ทางหนึ่ง กระดูกซี่โครงอยู่ทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกอยู่ทางหนึ่ง กระดูกแขนอยู่ทางหนึ่ง กระดูกไหล่อยู่ทางหนึ่ง
กระดูกคออยู่ทางหนึ่ง กระดูกคางอยู่ทางหนึ่ง กระดูกฟันอยู่ทางหนึ่ง กะโหลกศีรษะอยู่ทางหนึ่ง
จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้   ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มี ความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้
เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ ฯ
             [๓๐๒]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งใน ป่าช้า  เป็นแต่กระดูก สีขาวเปรียบดังสีสังข์......
             เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า  เป็นท่อนกระดูก เรี่ยราดเป็นกองๆ มีอายุเกิน ปีหนึ่ง......
             เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า  เป็นแต่กระดูก ผุเป็นจุณ  จึงนำเข้ามาเปรียบ เทียบกายนี้ว่า
แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้ เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้  ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้  ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้
เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ



- เมื่อเราได้พิจารณาอย่างนี้ เวลาที่ตัวเรารู้ว่ามีจิตเป็นราคะเกิดขึ้น ก็จะตั้งอานาปานสติไว้ในภายในก่อน มีพุทโธระลึกถึงคุณอันเป็นผู้รู้, ผู้ตื่นจากโมหะ, ผู้เบิกบาน เป็นลมหายใจเข้าออกเป็นตั้งแห่งจิต ทำให้จิตเบาโล่งสงบเย็นขึ้น ทุเลาความเร่าร้อนลงได้บ้างแล้ว มีความอบอุ่นจากสมาธิยังจิตให้ตั้งมั่นอยู่ จากนั้นก็ได้ยกเอาศพที่เน่าเปื่อยแหวกภายในให้เห็นอวัยวะน้อยใหญ่ภายในมีหนอนชอนไชอยู่บ้าง ถูกหมู่สัตว์ยื้อแย่งกัดกินอวัยวะภายในอยู่บ้าง(หวนระลึกภาพตามที่เคยไปล้างป่าช้ากับมูลนิธิร่วมกตัญญูแล้วเห็นศพในสภาพนั้นๆบ้าง หรือตอนบวชได้ไปสวดศพเห็นหน้าศพอืดพองบ้าง) ซึ่งจะยกมาพิจารณาเพียงอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือสภาพศพแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น อานิสงส์ที่ได้รับ.. คือ ให้เราเห็นเพศตรงข้ามสักแต่เป็นเพียงซากศพ เห็นเป็นโครงกระดูกมีหนังแห่งติดหุ้มอยู่เท่านั้นบ้าง
- เมื่อพิจารณาอย่างนั้นจนแยบคายในสภาวะที่หนังแห้งหุ้มติดกระดูกนั้น ก็เกิดอานิสงส์..ให้เห็นเป็นเพียงส่วนสะดูกขาวขุ่นเท่านั้น
- เมื่อพิจารณาเพียงกระดูกมากเข้าๆ จนจับเอาพิจารณาโดยส่วนที่เป็นกระดูกเชิงกรานกระบังลมโดยส่วนเดียวทุกครั้งที่เป็นสัญญาเกิดขึ้นเมื่อทำสมาธิระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าว่าด้วยคุณเป็นผู้รู้ ผู้ตืน ผู้เบิกบานด้วยธรรม ผนวกกับลมหายใจเข้าออก บริกรรมพุทโธไป ก็เกิดอานิสงส์ว่า..เมื่อหายใจเข้าเห็นกระดูกเคลื่อน หายใจออกกระดูกก็เคลื่อน
- จิตจึงคลายกำหนัดมีความสงบนิ่งอยู่มีสภาวะที่สงบว่างปกคลุมดูจิตมีกำลังมากตั้งมั่นอยู่ แต่เบากายไม่ตรึงหน่วงจิต มีสติสัมปะชัญญะรู้อยู่ทุกขณะทั้งลมหายใจและทรงสภาวะธรรมอันพิจารณาเห็นเป็นอสุภะนั้นอยู่
- เห็นความย่อยสลายของกาย รูปขันธ์อันเป็นธาตุดินก็คืนสู่ธาตุดิน ไม่คงอยู่นาน ไม่เที่ยง ไม่อาจจะยื้อรั้งให้คงอยู่กับเราได้
- กายนั้นๆแม้เมื่อก่อนจะงดงามแค่ไหนก็ไม่คงอยู่นานก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย พองอืด เขียวคล้ำ เน่าเปื่อยย่อยสูญสลายไป ต่อให้งามแค่ไหนที่สุดก็อยู่ที่ความผุพังเน่าเปื่อย แล้วก็ตายและก็ดับสูญคืนสู่ดินไปบังคับให้กายอันงามนั้นคงอยู่ไม่เสื่อมไม่สูญไปก็ไม่ได้ดังนี้เป็นต้น




« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 03, 2014, 06:06:09 PM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 28, 2014, 11:19:20 PM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๓ (อสุภะกรรมฐาน ว่าด้วย อาการทั้ง ๓๒ ประการ)


- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้ระลึกเจริญในอานาปานสติ ให้มองโดย อสุภะเป็นซากศพผุพังเน่าเปื่อยย่อยสลายไป ในภายนอก จนเกิดปัญญาเห็นเป็นอาการทั้ง ๓๒ ประการ ทั้งภายในตนและภายนอกตน(ผู้อื่นที่เรามองเห็น) (กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, ทวัตตติงสปาโฐ)



กายคตาสติสูตร

[๒๙๗]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมพิจารณากายนี้แล ข้างบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป
ข้างล่างแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้
ผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  เนื้อ  เอ็น  กระดูก  เยื่อในกระดูก  ม้าม  
หัวใจ  ตับ  พังผืด  ไต  ปอด  ไส้ใหญ่  ไส้น้อย  อาหารใหม่  อาหารเก่า  (มันสมอง)
ดี  เสลด  น้ำเหลือง  เลือด  เหงื่อ  มันข้น  น้ำตา  เปลวมัน  น้ำลาย  น้ำมูก  ไขข้อ  มูตร



            [สิ่งต่างๆเหล่านี้ ล้วนแต่ปฏิกูล ไม่งาม แต่เมื่อมาเป็นเหตุปัจจัยประกอบกันเป็นกลุ่มก้อนตัวตนหรือฆนะขึ้น มีผม ขน เล็บ ฟัน หนังอันแสนสกปรกมาปกปิดห่อหุ้ม และยังเป็นมายาเครื่องล่อลวงให้เห็นเป็นไปว่าเป็น มวลรวมหรือตัวตน(ฆนะ)ที่สวยงามขึ้นมาอีกด้วย  แต่เมื่อจำแนกแยกชำแหละออกเป็นส่วนๆด้วยปัญญา ก็ย่อมยังแลเห็นได้ว่าโดยเนื้อแท้แล้ว ล้วนประกอบมาแต่สิ่งที่ไม่งาม เป็นปฏิกูล ไม่สะอาด  และยังล้วนต้องคืนกลับสู่สภาวะเดิมๆด้วยอำนาจพระไตรลักษณ์ เหมือนกันหมดสิ้นทุกบุคคลเขาเรา - ทวัตติงสาการ]



             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไถ้มีปากทั้ง ๒ ข้างเต็มด้วยธัญญชาติต่างๆ ชนิด คือ
ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วทอง งา และข้าวสาร  บุรุษผู้มีตาดี แก้ไถ้นั้นออกแล้ว
พึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าวเปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วทอง นี้งา นี้ข้าวสาร ฉันใด  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แล ข้างบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป ข้างล่างแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้
ผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  เนื้อ  เอ็น  กระดูก  เยื่อในกระดูก  ม้าม  
หัวใจ  ตับ  พังผืด  ไต  ปอด  ไส้ใหญ่  ไส้น้อย  อาหารใหม่  อาหารเก่า  (มันสมอง)
ดี  เสลด  น้ำเหลือง  เลือด  เหงื่อ  มันข้น  น้ำตา  เปลวมัน  น้ำลาย  น้ำมูก  ไขข้อ  มูตร
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้  ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้
เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ  (แสดงภาพรวม)



             [ปฏิกูลมนสิการ การพิจารณากายให้รู้ความจริงว่า เมื่อแยกแยะชำแหละพิจารณาโดยละเอียดแต่ละส่วนด้วยปัญญาแล้ว จะเห็นส่วนประกอบต่างๆของร่างกายทั้ง ๓๒ (ทวัตติงสาการ) ล้วนไม่งาม ประกอบด้วยแต่สิ่งปฏิกูล ไม่สะอาด   ก็เพราะเมื่อประกอบกันเป็นตัวตนเป็นสังขารร่างกายโดยมวลรวมหรือฆนะแล้ว ก็เกิดมายาล่อลวงให้แลเห็นเป็นไปว่าเป็นสิ่งสวยงาม จึงไม่สามารถแลเห็นตามความเป็นจริงได้
             ฝ่ายไถ้ที่มีปาก ๒ ข้าง อีกปากหนึ่งนั้นก็คือก้นรั่ว ก็ยังนำมาพิจารณาให้เกิดปัญญาได้อีกว่า จึงเติมไม่รู้จักเต็ม จึงกินไม่รู้จักพอ เป็นไถ้อันแสนปฏิกูลสกปรกชนิดที่บรรจุเท่าใดก็ไม่รู้จักเต็ม จึงต้องหมั่นเติมให้เต็มให้อิ่มอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นภาระเวร,เป็นภาระกรรมที่ต้องคอยดูแลต้องรักษาไปตลอดกาลนานจนสิ้นกาละ  ทางหนึ่งพึงเข้าทางปาก อีกทางหนึ่งพึงขับถ่ายออกมา ก็แสนปฏิกูลเหลือกำลัง  ภายในไส้เล็กก็ล้วนคลุกเคล้าเป็นปฏิกูลสั่งสมไปด้วยซากพืช อีกทั้งอสุภะซากศพของสัตว์น้อยใหญ่ทั้งปวง น้ำลาย น้ำย่อย น้ำดี ฯ. คลุกเคล้ากันแลไม่น่าดู เหม็นเปรี้ยวไม่น่าดอมดม ไม่สวยงามประกอบกันแลเป็นปฏิกูลยิ่งนัก ภายในจึงเป็นไปดุจดั่งสุสานใหญ่ที่แสนปฏิกูล ที่หมักหมมกันจนเป็นคูถเป็นมูตรอันยิ่งเน่าเหม็นยิ่งๆขึ้นไปภายในไส้ใหญ่ จนย่อมไม่มีใครอยากลิ้มหรือดอมดมอีกต่อไป เป็นดั่งนี้สิ้นทั้งในกายตนแลผู้อื่นล้วนสิ้น]



- ด้วยพระธรรมคำสอนนี้เราได้พิจารณาปฏิบัติโดยมีลมหายใจตั้งไว้ภายใน เห็นรู้รูปโดยมีอาการทั้ง ๓๒ ในเบื้องหน้า ได้เห็นว่าอาการทั้งหมดเหล่านี้สงเคราะห์ประกอบรวมกันขึ้นมาโดยแบ่งหน้าที่กันทำงานต่างๆกันไปมีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบจึงเกิดเป็นตัวตน คนใดๆ สัตว์ใดๆขึ้นมา

๑. ทั้งๆที่รูปขันธ์ที่ไม่ว่าเราหรือใครๆได้เข้ามาอาศัยอยู่นี้ ก็มีเพียงแค่อาการทั้ง 32 ประการ ที่สงเคราะห์ประกอบกันทำงานร่วมกันอยู่เท่านั้น มีแต่ความเสื่อมโทรมอยู่ทุกวัน สักแต่รอให้ถึงเวลาที่จะดับสูญไป ด้วยเหตุดังนี้มันจึงมีไว้อาศัยเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น ไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเที่ยงไม่ได้เลย ดังนี้จึงเรียกว่า รูปขันธ์ไม่เที่ยงไม่คงอยู่ สักแต่มีไว้อาศัยใช้ทำในกิจการงานใดๆเพียงชั่วคราว สักแต่มีไว้ระลึกรู้ดูสภาวะและสภาพที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน เสื่อมโทรม และ ดับไปเท่านั้น เข้าไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เลย เพราะมันไม่เที่ยง เมื่อเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งอันไม่เที่ยงมีแต่จะเสื่อมโทรมสลายไปทุกขณะเวลา มันก็ไม่พึงได้ตามใจปารถนา มันจึงมีแป็นทุกข์

๒. รูปขันธ์ มันก็มีแค่ อาการทั้ง 32 ประการเหล่านี้รวมกันแยกกันอยู่ก็ไม่ได้ เพราะเมื่อแยกกันอยู่ก็ไม่อาจทำหน้าที่ของกันและกันได้ มีแต่จะยังความเสื่อมโทรมและสูญสลายมาให้ ลองหวนระลึกถึงอวัยวะทั้งหลายที่เขาแช่ดองไว้ในโหลแก้วตามโรงพยาบาลหรือศูนย์วิทยาศาสตร์ เมื่อแยกกันออกมาแล้วมันก็หยุดทำงานมีแต่สภาพที่คงนิ่งอยู่ไม่มีความเคลื่อนไหวทำงานใดๆใช่มั้ยครับ และแม้เขาจะดองอยู่ในฟอร์มาลีนหรือแช่เย็นไว้มันก็ยังความเสื่อมโทรมแปรเปลี่ยนและสูญสลายไปทุกๆขณะจะช้าเร็วอยู่ที่การดูแลรักษาของเราใช่ไหมครับ ดังนั้นรูปขันธ์หรืออาการทั้ง 32 ประการเหล่านี้มันจึงไม่เที่ยง

๓. เพราะมีอาการทั้ง 32 ประการเหล่านี้รวมกันและยังทำงานในหน้าที่ของกันและกันอยู่มันจึงมีคนนั้นคนนี้ มีสัตว์นั้นๆ มีสิ่งของนั้นๆได้ รูปขันธ์ หรือ อาการทั้ง 32 ประการนี้เราจะไปบังคับยื้อยึดฉุดรั้งใดๆให้มันเป็นไปดั่งใจได้ไหม มันก็ไม่ได้ใช่มั้ยครับ ห้ามไม่ให้เจ็บไม่ให้ปวดก็ไม่ได้ ห้ามไม่ให้แก่ไม่ให้เสื่อมโทรมสูญสลายไปก็ไม่ได้ แล้วควรหรือไม่ที่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูปขันธ์ ว่าเป็นตัวตน ว่านี่เป็นเรา นี่เป็นของเรา นี่เป็นเขา นี่เป็นของเขา ก็ด้วยเพราะเหตุดังนี้ รูปขันธ์ จึงชื่อว่าไม่มีตัวตน ไม่ใช่ของเรา

๔. หากมีเพียงแค่อาการใดอาการหนึ่งจาก 32 ประการนี้ ก็ไม่อาจจะเรียกว่าเป็นคนหรือสัตว์ได้ ดังนี้แล้วเราจะไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่สักแต่เพียงมีไว้แค่อาศัยอยู่ชั่วคราว สิ่งที่สักแต่เพียงอาศัยการสงเคราะห์ประกอบร่วมกันโดยมีอาการที่เรียกว่า ผม  ขน  เล็บ  ฟัน และ หนังที่หุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบปกปิดอาการอันเน่าเหม็นภายในไว้นี้ว่าเป็นสิ่งที่มีตัวตน มีเขา มีเรา นี่เป็นเขา นี่เป็นเรา ได้หรือไม่

๕. ความเข้าไปปารถนาเอากับสิ่งอันไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน มันเป็นทุกข์ เราจึงควรเพิกถอนความสำคัญมั่นหมายของใจอันยึดมั่นในอาการทั้ง 32 หรือ รูปขันธ์ เหล่านี้ออกไปเสีย พึงเห็นมันเป็นของไม่เที่ยง เป็นสิ่งไม่มีตัวตน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมโทรม ดับไป เพียงมีไว้ระลึกรู้ไม่ได้มีไว้เสพย์ในกิเลสตัณหาจากรูปขันธ์นั้นจนเกิดเป็นความยึดมั่นถือมั่นอุปาทาน

๖. เมื่อได้ทำความเข้าใจให้เห็นตามจริงดังนี้แล้ว จิตย่อมน้อมวิเคราะห์ลงในธรรม แล้วเห็นว่า เราไม่มีในรูป รูปไม่ใช่เรา
เราไม่มีในรูปนั้นเป็นไฉน รูป คือ ร่างกายของเรานี้ มีอาการทั้ง 32 ประการ พึงพิจารณาให้เห็นดังนี้ว่า

  ผมหรือที่เป็นเรา, ขนหรือที่เป็นเรา, เล็บหรือที่เป็นเรา, หนังหรือที่เป็นเรา, เนื้อหรือที่เป็นเรา, เอ็นหรือที่เป็นเรา
  กระดูกหรือที่เป็นเรา, เยื่อในกระดูกหรือที่เป็นเรา, ม้ามหรือที่เป็นเรา, หัวใจหรือที่เป็นเรา, ตับหรือที่เป็นเรา
  พังผืดหรือที่เป็นเรา, ไตหรือที่เป็นเรา, ปอดหรือที่เป็นเรา, ไส้ใหญ่หรือที่เป็นเรา, ไส้น้อยหรือที่เป็นเรา
  อาหารใหม่หรือที่เป็น, อาหารเก่าหรือที่เป็นเรา, น้ำดีหรือที่เป็นเรา, เสลดหรือที่เป็นเรา, น้ำเหลืองหรือที่เป็นเรา
  เลือดหรือที่เป็นเรา, เหงื่อหรือที่เป็นเรา, มันข้นหรือที่เป็นเรา, น้ำตาหรือที่เป็นเรา, เปลวมัน(มันเหลว)หรือที่เป็นเรา
  น้ำลายหรือที่เป็นเรา, น้ำมูกหรือที่เป็นเรา, น้ำมันไขข้อหรือที่เป็นเรา, น้ำมูตรหรือที่เป็นเรา, (มันสมอง)หรือที่เป็นเรา

- ก็เมื่อรูปขันธ์ คือ อาการทั้ง 32 ประการทั้งหลายเหล่านี้  อันเราได้พิจารณาใน อนุโลม ปฏิโลม โดยแยบคายแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีเราหรือมีสิ่งใดที่เป็นเราอยู่ในรูปขันธ์ คิแ อาการทั้ง 32 ประการเหล่านั้น ด้วยเหตุดังนี้ "เราจึงไม่มีในรูป" (อนัตตา)
- ก็เมื่อรูปขันธ์ คือ อาการทั้ง 32 ประการทั้งหลายเหล่านี้  อันเราได้พิจารณาใน อนุโลม ปฏิโลม โดยแยบคายแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีรูปขันธ์ คือ อาการใดๆใน 32 ประการเหล่านี้ที่จะเป็นเรา ด้วยเหตุดังนี้ "รูปจึงไม่ใช่เรา" (อนัตตา)

- ก็เมื่อรูปขันธ์ คือ ร่างกายของเรานี้ อาศัยอาการทั้ง 32 ประการทั้งหลายเหล่านี้รวมกันอยู่ก็จึงได้สมมติเอาว่าเป็นเรา ก็เมื่อแยกอาการทั้ง 32 ประการออกมามี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้นนั้นออกมาจากรูปขันธ์ แยกออกมากองๆไว้อย่างนี้แล้ว เราจะเห็นรูปขันธ์มีอยู่ในเราหรือใครๆบ้างไหม มันก็หาไม่ได้ใช่ไหม ที่จะเห็นได้นั้นก็มีแต่กองสิ่งเน่าเหม็น ไม่มีร่างกายไรๆในเราหรือใครๆ รูปขันธ์ก็ไม่มีในเราและตัวตนบุคคลใดเหลืออีก ด้วยเหตุดังนี้ "รูปจึงไม่มีในเรา" (อนัตตา)
- ก็เพราะ รูปขันธ์ คือ อาการทั้ง 32 ประการทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีตัวตนอันที่จะไปบังคับใดๆได้ อาการทั้ง 32 ประการนี้ จึงมีความเสื่อมโทรมไปทุกๆขณะเวลา

- เมื่อเห็นดังข้อที่ ๑-๖ นี้แล้ว เราก็ย่อมรู้ว่า รูปขันธ์ คือ อาการทั้ง 32 ประการเหล่านี้ มันมีความแปรเปลี่ยนเสื่อมโทรมไปทุกขณะ ไม่นานก็เสื่อมสลายแล้วดับไปเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงอยู่นาน จะสูญสลายไปช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา สภาพแวดล้อม สภาพธรรมที่ปรุงแต่งทั้งภายในภายนอกและกาลเวลา มันเป็นกองทุกข์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในรูป รูปไม่มีในเรา รูปไม่ใช่เรา รูปไม่ใช่ของเรา สักแต่มีไว้ระลึกรู้ มีไว้อาศัยชั่วคราว เมื่อเราเข้าไปปารถนาหมายมั่นในรูปขันธ์ไปมันก็เสียแรงเปล่า ปารถนาไปทำไมให้มันเป็นทุกข์เปล่าๆ หากเมื่อเราไม่ปารถนาที่จะเอาความทุกข์ก็เพิกถอนความสำคัญมั่นหมายยึดมั่นถือมั่นในรูปขันธ์ทิ้งไปเสีย ถอนความยึดมั่นถือมั่นออกจากสิ่งอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน เราก็จักไม่ทุกข์อีก




« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 04, 2014, 02:05:54 PM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 30, 2014, 03:23:48 PM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้)


- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, ภารทวาชสูตร, คิริมานนทสูตร สัญญา ๑๐)

๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร # ๑
อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง

            [๓๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ
บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร เรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลายผู้มีอายุ. ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระสารีบุตรแล้ว.
             พระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย รอยเท้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งแห่งสัตว์
ทั้งหลายผู้เที่ยวไปบนแผ่นดิน รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมถึงการประชุมลงในรอยเท้าช้าง
รอยเท้าช้างชาวโลกย่อมกล่าวว่า เป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น เพราะรอยเท้าช้างเป็นของใหญ่
แม้ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมด
ย่อมถึงการสงเคราะห์เข้าในอริยสัจสี่ ฉันนั้นเห็นเหมือนกันแล. ในอริยสัจสี่เหล่าไหน? คือ ใน
ทุกขอริยสัจ ในทุกขสมุทัยอริยสัจ ในทุกขนิโรธอริยสัจ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
             [๓๔๑] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน? คือ แม้ความเกิดเป็นทุกข์
แม้ความแก่เป็นทุกข์ แม้ความตายเป็นทุกข์ แม้ความโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย ความ
ทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ แม้ความที่ไม่ได้สิ่งที่ตนอยากได้ ก็เป็นทุกข์ โดยย่อ
อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อุปาทานขันธ์ห้าเป็นไฉน? คืออุปาทานขันธ์
คือ รูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือ
วิญญาณ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อุปาทานขันธ์คือรูปเป็นไฉน? คือ มหาภูตรูป ๔ และรูป
ที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็มหาภูตรูป ๔ เป็นไฉน? คือปฐวีธาตุ อาโปธาตุ
เตโชธาตุ วาโยธาตุ.

ปฐวีธาตุ

             [๓๔๒] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ปฐวีธาตุเป็นไฉน? คือ ปฐวีธาตุที่เป็นไปภายใน
ก็มี ปฐมวีธาตุที่เป็นไปภายนอกก็มี. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปฐวีธาตุ ที่เป็นไปภายในเป็น
ไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็น
ของหยาบ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม
หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของ
หยาบอย่างอื่น นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุ เป็นไปภายใน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปฐวีธาตุอันใด
แล เป็นไปภายใน และปฐวีธาตุอันใด เป็นไปภายนอก นั่นเป็นปฐวีธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็น
ปฐวีธาตุนั้น นั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็น
นั่น นั่นไม่เป็นตนของเรา. บัณฑิตครั้นเห็นปฐวีธาตุนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
อย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ ย่อมยังจิตให้คลายกำหนัดในปฐวีธาตุ. ดูกรท่านผู้มี
อายุทั้งหลาย สมัยที่ปฐวีธาตุที่เป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อมจะมีได้แล ในสมัยนั้น ปฐวีธาตุ
อันเป็นภายนอกจะเป็นของอันตรธานไป. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่าความที่แห่ง
ปฐวีธาตุอันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็น
ของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็น
ของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้. ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้ว ว่าเรา
ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็น
ธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักไม่
ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถตัณหามานะและทิฏฐิในปฐวีธาตุ อันเป็นภายใน
นั้นจะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะด่า จะตัดพ้อ กระทบ
กระเทียบ จะเบียดเบียน ภิกษุนั้นไซร้. ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนาอันเกิดแต่
โสตสัมผัสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกขเวทนานั้นแล อาศัยเหตุจึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมี
ไม่ได้ ทุกขเวทนานี้ อาศัยอะไรจึงมีได้ ทุกขเวทนาอาศัยผัสสะจึงมีได้. ภิกษุนั้น ย่อมเห็นว่า
ผัสสะเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า เวทนาเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สัญญาเป็นของไม่เที่ยง
ย่อมเห็นว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง จิตอันมี
ธาตุเป็นอารมณ์นั่นเทียวของภิกษุนั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเสื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ด้วยดี ย่อม
หลุดพ้น. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้น ด้วยอาการ
ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ คือด้วยการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยการประหาร
ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยการประหารด้วยศาตราบ้าง. ภิกษุนั้นย่อมรู้
ชัดอย่างนี้ว่า กายนี้เป็นสภาพเป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการ
ประหารก้อนดินบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหาร
ด้วยศาตราบ้าง. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในพระโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยดังนี้ว่า ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย แม้หากว่า พวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะใหญ่น้อยทั้งหลายด้วย
เลื่อยอันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้าย ในพวกโจร แม้นั้น ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่า
ทำตามคำสั่งสอนของเราด้วยเหตุนั้น ดังนี้. อนึ่ง ความเพียรอันเราปรารภแล้ว จักเป็นคุณชาติ
ไม่ย่อหย่อน สติอันเราเข้าไปตั้งไว้แล้ว จักเป็นคุณชาติไม่หลงลืม กายอันเราให้สงบแล้ว
จักเป็นสภาพไม่กระวนกระวาย จิตอันเราให้ตั้งมั่นแล้ว จักเป็นธรรมชาติมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว
คราวนี้ การประหารด้วยฝ่ามือทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยก้อนดินทั้งหลาย
จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยท่อนไม้ทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหาร
ด้วยศาตราทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี ตามทีเถิด คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ เราจะ
ทำให้จงได้ ดังนี้. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้
ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมไม่
ตั้งอยู่พร้อมได้. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ
ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่
อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม
ไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้ว ย่อมสลดใจ ย่อมถึง
ความสลดใจ แม้ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้
ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ไม่ตั้งอยู่
ได้ด้วยดี. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ
ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า
อยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัย
กุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้. ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า
เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่
อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดีไซร้. ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้ปลื้มใจ
เพราะเหตุนั้น. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มี
พระภาคเป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว.

อาโปธาตุ

             [๓๔๓] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุเป็นไฉน? คือ อาโปธาตุที่เป็นไปภายใน
ก็มี อาโปธาตุที่เป็นไปภายนอกก็มี. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุที่เป็นไปภายในเป็น
ไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายในเป็นของเฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ ถึงความ
เอิบอาบ  คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก
ไขข้อ น้ำมูตร ก็หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน
เป็นของเอิบอาบ ถึงความเป็นของเอิบอาบอย่างอื่น นี้เรียกว่า อาโปธาตุเป็นไปภายใน. ดูกร
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และอาโปธาตุอันใด เป็นไปภายนอก
นั้นเป็นอาโปธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็นอาโปธาตุนั้นนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นตนของเรา. ครั้นเห็นอาโปธาตุนั่น ด้วย
ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุ ย่อมยังจิตให้คลาย
กำหนัดในอาโปธาตุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่อาโปธาตุ ที่เป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อม
จะมีได้แล อาโปธาตุ อันเป็นภายนอกนั้น ย่อมพัดเอาบ้านไปบ้าง พัดเอานิคมไปบ้าง พัดเอา
เมืองไปบ้าง พัดเอาชนบทไปบ้าง ย่อมพัดเอาประเทศแห่งชนบทไปบ้าง. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
สมัยที่น้ำในมหาสมุทรย่อมลึกลงไปร้อยโยชน์บ้าง สองร้อยโยชน์บ้าง สามร้อยโยชน์บ้าง
สี่ร้อยโยชน์บ้าง ห้าร้อยโยชน์บ้าง หกร้อยโยชน์บ้าง เจ็ดร้อยโยชน์บ้าง ย่อมมีได้แล. ดูกร
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่เจ็ดชั่วลำตาลบ้าง หกชั่วลำตาลบ้าง ห้าชั่ว
ลำตาลบ้าง สี่ชั่วลำตาลบ้าง สามชั่วลำตาลบ้าง สองชั่วลำตาลบ้าง ชั่วลำตาลหนึ่งบ้าง ย่อมมี
ได้แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่ ได้เจ็ดชั่วบุรุษบ้าง หกชั่วบุรุษ
บ้าง ห้าชั่วบุรุษบ้าง สี่ชั่วบุรุษบ้าง สามชั่วบุรุษบ้าง สองชั่วบุรุษบ้าง ประมาณชั่วบุรุษหนึ่ง
บ้าง ย่อมมีได้แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สมัยที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่ กึ่งชั่วบุรุษบ้าง
ประมาณเพียงสะเอวบ้าง ประมาณเพียงเข่าบ้าง ประมาณเพียงข้อเท้าบ้าง ย่อมมีได้แล. ดูกร
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำแม้ประมาณพอเปียกข้อนิ้วมือจะไม่มีในมหาสมุทร ก็ย่อมมีได้
แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่า ความที่แห่งอาโปธาตุอันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่งมากถึง
เพียงนั้นเป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความ
เป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรากฏ
ได้. ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่
ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความ
เสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักไม่ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้
ความยึดถือด้วยสามารถตัณหามานะและทิฏฐิ ในอาโปธาตุอันเป็นภายนอกนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้น
เลย. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึง
พระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดี
ไซร้ ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณ
เท่านี้แล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว.




« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 04, 2014, 03:48:41 PM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #4 เมื่อ: ธันวาคม 02, 2014, 09:53:46 AM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้)

- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, ภารทวาชสูตร, คิริมานนทสูตร สัญญา ๑๐)


๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร # ๒
อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง

เตโชธาตุ(ไฟ)

            [๓๔๔] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เตโชธาตุเป็นไฉน? คือ เตโชธาตุที่เป็นไปภายใน
ก็มี เตโชธาตุที่เป็นไปภายนอกก็มี. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เตโชธาตุที่เป็นไปภายในเป็น
ไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน ถึง
ความเป็นของเร่าร้อน คือ สิ่งที่เป็นเครื่องอบอุ่นแห่งกาย สิ่งที่เป็นเครื่องทรุดโทรมแห่งกาย
สิ่งที่เป็นเครื่องเร่าร้อนแห่งกาย สิ่งที่เป็นเครื่องถึงความแปรปรวนไปด้วยดีแห่งของที่กินแล้ว
ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว และของที่ลิ้มรสแล้ว ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน
เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน ถึงความเป็นของเร่าร้อน อย่างอื่น นี้เรียกว่า เตโชธาตุ
อันเป็นไปภายใน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เตโชธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และเตโชธาตุ
อันใด เป็นภายนอก นั่นเป็นเตโชธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็นเตโชธาตุนั้นนั่น ด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นของเรา. บัณฑิต
ครั้นเห็นเตโชธาตุนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายใน
เตโชธาตุ ย่อมยังจิตให้คลาย กำหนัดในเตโชธาตุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัย
ที่เตโชธาตุอันเป็นไปภายนอก กำเริบ ย่อมจะมีได้แล เตโชธาตุอันเป็นภายนอกนั้น ย่อม
ไหม้บ้านบ้าง ย่อมไหม้บ้านเมืองบ้าง ย่อมไหม้นิคมบ้าง ย่อมไหม้ชนบทบ้าง ย่อมไหม้ประเทศ
แห่งชนบทบ้าง. เตโชธาตุอันเป็นภายนอกนั้นมาถึงหญ้าสด หนทาง ภูเขา น้ำ หรือภูมิภาค
อันเป็นที่รื่นรมย์ ไม่มีเชื้อ ย่อมดับไปเอง. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่ชนทั้งหลายแสวง
หาไฟด้วยขนไก่บ้าง ด้วยการขูดหนังบ้าง ย่อมมีได้แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่า
ความที่แห่งเตโชธาตุ อันเป็นไปภายนอกนั้นซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้นเป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้
ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้
ความเป็นของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้. ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้าไปถือ
เอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็น
ของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวน
ไปเป็นธรรมดา จักไม่ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถตัณหามานะ
และทิฏฐิในเตโชธาตุนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุ
นั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้
อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดีไซร้. ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น.
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านั้นแล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอัน
ภิกษุทำให้มากแล้ว.

วาโยธาตุ(ลม)

             [๓๔๕] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็วาโยธาตุเป็นไฉน? คือ วาโยธาตุที่เป็นไปภายใน
ก็มี วาโยธาตุที่เป็นภายนอกก็มี. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็วาโยธาตุที่เป็นไปภายในเป็น
ไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา ถึง
ความเป็นของพัดไปมา คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมอันอยู่ในท้อง ลมอันอยู่
ในลำไส้ ลมอันแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็หรือสิ่งใด
สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา ถึงความ
เป็นของพัดไปมา อย่างอื่น นี้เรียกว่า วาโยธาตุเป็นไปภายใน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ก็วาโยธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และวาโยธาตุอันใด เป็นไปภายนอก นั่นเป็น
วาโยธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็นวาโยธาตุนั้นนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นตนของเรา. บัณฑิตครั้นเห็นวาโยธาตุนั้น ด้วย
ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ ย่อมยังจิตให้คลาย
กำหนัดในวาโยธาตุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่วาโยธาตุอันเป็นไปภายนอกกำเริบ
ย่อมจะมีได้แล วาโยธาตุอันเป็นภายนอกนั้น ย่อมพัดเอาบ้านไปบ้าง ย่อมพัดเอานิคมไป
บ้าง ย่อมพัดเอานครไปบ้าง ย่อมพัดเอาชนบทไปบ้าง ย่อมพัดเอาประเทศแห่งชนบท
ไปบ้าง. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่ชนทั้งหลาย แสวงหาลมด้วยพัดใบตาลบ้าง ด้วย
พัดสำหรับพัดไฟบ้าง ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน แม้ในที่ชายคา หญ้าทั้งหลายก็ไม่ไหว ย่อม
มีได้แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่าความที่แห่งวาโยธาตุ อันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่ง
ใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้
ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรา-
*กฏได้. ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้ายึดถือเอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้ง
อยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็น
ของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักไม่ปรากฏเล่า เมื่อ
เป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถตัณหามานะและทิฏฐิในวาโยธาตุนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย.
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะด่า จะตัดพ้อ จะกระทบกระเทียบ จะ
เบียดเบียนภิกษุนั้นไซร้. ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนาอันเกิดแต่โสตสัมผัสนี้
เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกขเวทนานั้นแล อาศัยเหตุพึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมีไม่ได้
ทุกขเวทนานี้อาศัยอะไร จึงมีได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยผัสสะ จึงมีได้. ภิกษุนั้นย่อมเห็นว่า
ผัสสะเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า เวทนาเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สัญญาเป็นของ
ไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง
จิตอันมีธาตุเป็นอารมณ์นั่นเทียวของภิกษุนั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ด้วยดี
ย่อมหลุดพ้น.

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 08, 2014, 10:15:29 PM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #5 เมื่อ: ธันวาคม 02, 2014, 09:54:10 AM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้)

- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (มหาหัตถิปโทปมสูตร)


๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร # ๓
อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง

การทำตามพระโอวาท

             ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่า
ปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ คือ ด้วยการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยการประหารด้วย
ก้อนดินบ้าง ด้วยการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยการประหารด้วยศาตราบ้าง. ภิกษุนั้น
ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายนี้เป็นสภาพเป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง เป็นที่เป็น
ไปแห่งการประหารด้วยก้อนดินบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง เป็นที่เป็น
ไปแห่งการประหารด้วยศาตราบ้าง. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในพระโอวาท อันเปรียบ
ด้วยเลื่อยดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ว่าพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะ
ใหญ่น้อยทั้งหลาย ด้วยเลื่อยอันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้ายในพวกโจรแม้
นั้น. ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่าทำตามคำสอนของเราด้วยเหตุนั้น ดังนี้. อนึ่ง ความเพียรอันเรา
ปรารภแล้ว จักเป็นคุณชาติไม่ย่อหย่อน สติอันเราเข้าไปตั้งไว้แล้ว จักเป็นคุณชาติไม่หลงลืม
กายอันเราให้สงบแล้ว จักเป็นสภาพไม่กระวนกระวาย จิตอันเราให้ตั้งมั่นแล้ว จักเป็น
ธรรมชาติมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว คราวนี้ การประหารด้วยฝ่ามือทั้งหลาย จงเป็นไปใน
กายนี้ก็ดี การประหารด้วยก้อนดินทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยท่อนไม้
ทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยศาตราทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี
ตามทีเถิด คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้เราจะทำให้จงได้ ดังนี้. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึง
พระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้พร้อม. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ
ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่
ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราแล้วหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึง
พระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี
ดังนี้. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้ว ย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ
แม้ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึก
ถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ไม่ตั้งอยู่ได้
ด้วยดี. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ
ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธ-
*เจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัย
กุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์
อย่างนี้ อุเบกขาอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ด้วยดีไซร้. ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น.
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันภิกษุ
ทำให้มากแล้ว.

ผู้เห็นธรรม

             [๓๔๖] ดูกรท่านมีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยไม้และอาศัยเถาวัลย์ ดินเหนียวและหญ้า
แวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่า เป็นเรือนฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยกระดูก
และอาศัยเอ็นเนื้อและหนังแวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่า รูป ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรท่าน
ผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า จักษุอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และรูปทั้งหลาย
อันเป็นภายนอกย่อมไม่มาสู่คลองจักษุ ทั้งความกำหนดอันเกิดแต่จักษุและรูปนั้นก็ไม่มี ความ
ปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่จักษุ และรูปนั้น ก็ยังมีไม่ได้ก่อน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้ง
หลาย หากว่า จักษุอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และรูปทั้งหลายอันเป็น
ภายนอก ย่อมมาสู่คลองจักษุ แต่ความกำหนดอันเกิดแต่จักษุ และรูปนั้นไม่มี ความปรากฏ
แห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่จักษุ และรูปนั้นก็ยังมีไม่ได้ก่อน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
แต่ว่าในกาลใดแลจักษุอันเป็นไปในภายในเป็นของไม่แตกไม่ทำลายแล้ว และรูปทั้งหลายอันเป็น
ภายนอก ย่อมมาสู่คลองจักษุ ทั้งความกำหนดอันเกิดแต่จักษุและรูปก็ย่อมมีในกาลนั้น ความ
ปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่จักษุและรูปนั้น ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้. รูปแห่ง
สภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด รูปนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์ คือ รูป
เวทนาแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด เวทนานั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ในอุปาทานขันธ์
คือ เวทนา สัญญาแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด สัญญานั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์
ในอุปาทานขันธ์ คือ สัญญา สังขารแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นเหล่าใด สังขารเหล่านั้น ย่อม
ถึงความสงเคราะห์ในอุปาทาน คือ สังขาร วิญญาณแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด วิญญาณนั้น
ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์ คือ วิญญาณ. ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า
การสงเคราะห์ การประชุมพร้อม หมวดหมู่แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ย่อมมีได้ ด้วยประ
การอย่างนี้. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อ
ว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ดังนี้. ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ใด
อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ชื่อว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรมแล. ความพอใจความอาลัย ความยินดี ความ
ชื่นชอบ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อันใด อันนั้นชื่อว่าทุกขสมุทัย การกำจัดความกำหนัดด้วย
สามารถความพอใจ การละความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อันใด
อันนั้นชื่อว่าทุกขนิโรธแล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล. คำสอนของ
พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว.
             ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า โสตะอันเป็นไปในภายในเป็นของไม่แตกทำลาย
แล้ว ฯลฯ
             ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ฆานะอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลาย
แล้ว ฯลฯ
             ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชิวหา อันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลาย
แล้ว ฯลฯ
             ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า กายอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลาย
แล้ว ฯลฯ
             ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า มนะอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลาย
แล้ว และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันเป็นภายนอก ย่อมไม่มาสู่คลอง ทั้งความกำหนดอันเกิด
แต่มนะ และธรรมารมณ์นั้น ก็ไม่มี ความปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่มนะและ
ธรรมารมณ์นั้น ก็ยังมีไม่ได้ก่อน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า มนะอันเป็นไปในภาย
ใน เป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันเป็นภายนอก ย่อมมาสู่คลอง
แต่ความกำหนดอันเกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้นไม่มี ความปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอัน
เกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้น ก็ยังมีไม่ได้ก่อน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แต่ว่าในกาลใด
แล มนะอันเป็นไปในภายในเป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันเป็นภาย
นอก ย่อมมาสู่คลอง ทั้งความกำหนดอันเกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้น ก็ย่อมมี ในกาล
นั้น ความปรากฏแห่งส่วนแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้น ย่อมมีได้
ด้วยอาการอย่างนี้. รูปแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด รูปนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ใน
อุปาทานขันธ์คือรูป เวทนาแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด เวทนานั้น ย่อมถึงความ
สงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์คือเวทนา สัญญาแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด สัญญานั้น
ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์คือสัญญา สังขารทั้งหลายแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้น
เหล่าใด สังขารเหล่านั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์คือสังขาร วิญญาณ
แห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด วิญญาณนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์
คือวิญญาณ. ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า การสงเคราะห์ การประชุมพร้อม
หมวดหมู่แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ย่อมมีได้ ด้วยประการอย่างนี้. อนึ่ง พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้น
ชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ดังนี้. ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ใด อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ชื่อว่า
ปฏิจจสมุปปันนธรรมแล. ความพอใจ ความอาลัย ความยินดี ความชื่นชอบ ในอุปาทาน-
*ขันธ์ ๕ เหล่านี้อันใด อันนี้ชื่อว่าทุกขสมุทัย การกำจัดความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจ
การละความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันใด อันนั้นชื่อว่า
ทุกขนิโรธแล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มี
พระภาค เป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว.
             ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวธรรมปริยายนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชม ยินดีภาษิต
ของท่านพระสารีบุตรแล้วแล.


จบ. มหาหัตถิปโทปมสูตรที่ ๘
-----------------------------------------------------

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 08, 2014, 10:15:00 PM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #6 เมื่อ: ธันวาคม 02, 2014, 10:39:28 AM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้)

- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, จตุธาตุววัฏฐาน)


จตุธาตุววัฏฐาน

จตุธาตุววัฏฐาน หรือเรียกว่า ธาตุกรรมฐาน หมายความว่า การพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ที่ปรากฏในร่างกายจนกระทั่งเห็นเป็นแต่เพียงกองแห่งธาตุ โดยปราศจากความจำว่าเป็นหญิง ชาย เรา เขา สัตว์ บุคคลใดๆ เสีย องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ในมหากุศลจิต มหากิริยาจิต

คำว่า ธาตุ หมายถึง การธำรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นมหาภูตรูป เพราะเป็นรูปใหญ่ เป็นประธาน เป็นที่รองรับรูปทั้งหมดที่เหลือ คือ เพราะการรวมกันของธาตุดิน ความแข็งจึงเกิดได้ เพราะการรวมกันของธาตุน้ำ ความเอิบอาบจึงเกิดได้ เพราะการรวมกันของธาตุไฟ ความร้อนจึงเกิดได้ และเพราะการรวมกันของธาตุลม ความเบาแห่งการเคลื่อนไหวจึงเกิดได้

การกำหนดจตุธาตุววัฏฐานนี้ ผู้เจริญจะต้องพิจารณาธาตุ ๔ ที่มีอยู่ภายในตน ธาตุ ๔ ที่มีอยู่ภายตนนี้ มี ๔๒ คือ ธาตุดิน ๒๐ ธาตุน้า ๑๒ ธาตุไฟ ๔ ธาตุลม ๖

 

วิธีการกำหนดโดยความเป็นธาตุ มีดังนี้

๑. การกำหนดธาตุโดยไม่แยกกัน
- พึงพิจารณาว่า ปฐวีธาตุเหล่านี้ ถูกเกาะกุมไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ถูกทำให้อุ่นโดยเตโชธาตุ ถูกค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ ธาตุ ๓ (คือ อาโป เตโช วาโย) ถูกรวมเข้าด้วยกันอย่างนี้

- อาโปธาตุอาศัยอยู่ในปฐวีธาตุ ถูกทำให้อุ่นโดยเตโชธาตุ ถูกค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ ธาตุ ๓ (คือ ปฐวี เตโช วาโย) ถูกยึดไว้ด้วยกันรวมกันได้อย่างนี้

- เตโชธาตุอาศัยอยู่ในปฐวีธาตุ ถูกยึดไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ถูกค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ ธาตุ ๓ (คือ ปฐวี อาโป วาโย) ถูกทำให้อุ่นอย่างนี้

- วาโยธาตุอาศัยอยู่ในปฐวีธาตุ ถูกยึดไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ถูกทำให้อุ่นโดยเตโชธาตุ ธาตุ ๓ (คือ ปฐวี อาโป เตโช) ถูกค้ำจุนไว้อย่างนี้
      - ธาตุ ๓ (น้ำ ไฟ ลม) อาศัยปฐวีธาตุ ถูกยึดไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ธาตุ ๓ จึงไม่กระจัดกระจาย
      - ธาตุ ๓ (ดิน น้ำ ลม) อุ่นโดยเตโชธาตุ จึงไม่มีกลิ่น
      - ธาตุ ๓ (ดิน น้ำ ไฟ )ค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ จึงดำเนินไปและอยู่รวมกันได้ ไม่แตก กระจัดกระจาย


สรุป ธาตุทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

๒. การกำหนดธาตุโดยเหตุและปัจจัย
- พิจารณาโดยเหตุ ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร เป็นปัจจัยสร้างธาตุขึ้นมา

เหตุ ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร
- ธาตุทั้ง ๔ ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากกรรม กรรมนี้แหละทำให้มีการเกิดด้วยอำนาจของชนกกรรม ทำ
ให้กรรมและวิบากของกรรมเป็นไป และทำให้เกิดปัจจัยต่างๆที่เข้าไปอุดหนุนเกื้อหนุนให้ธาตุ ๔ เป็นไป


- ธาตุ ๔ นี้ เกิดมาจากจิต ทำให้ปัจจัยต่างๆ เป็นไป ปฏิสนธิจิตทำให้รูป คือ ธาตุทั้ง ๔ เกิดพร้อม
กันกับจิต
 
- ธาตุ ๔ นี้ ตั้งอยู่ได้ไม่เน่าเสียไป ก็ด้วยการอุปการะของ อุตุ คือไออุ่นที่หล่อเลี้ยงธาตุทั้ง ๔

- ธาตุ ๔ นี้ มีอาหารเป็นผู้หล่อเลี้ยงให้ตั้งอยู่และเจริญได้

๓. การกำหนดธาตุโดยลักษณะ
- ลักษณะของปฐวีธาตุ คือ ความแข็ง
- ลักษณะของอาโปธาตุ คือ การซึมซาบ
- ลักษณะของเตโชธาตุ คือ ความเย็น ร้อน
- ลักษณะของวาโยธาตุ คือ ไหว เคลื่อนไปมา


   เมื่อสิ่งใดปรากฏชัดในการรับรู้ในขณะที่มีสติสัมปชัญญะก็ให้ระลึกรู้โดยความเป็นเพียงธาตุเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวิต เป็นเพียงแต่สภาวะของธรรมชาติ คือ ธาตุดิน น้ำไฟ ลม  


๔. การกำหนดธาตุโดยความเสมอกันและไม่เสมอกัน
- ปฐวีธาตุและอาโปธาตุ เสมอกันเพราะความมีน้ำหนัก
- ส่วนเตโชธาตุและวาโยธาตุ เสมอกันเพราะความเบา
- อาโปธาตุและเตโชธาตุ ไม่เสมอกัน อาโปธาตุสามารถกำจัดความแห้งของเตโชธาตุได้
- ปฐวีธาตุและวาโยธาตุ ไม่เสมอกัน เพราะปฐวีธาตุขัดขวางการออกไปของวาโยธาตุ วาโยธาตุก็สามารถทำลายปฐวีธาตุได้


๕. การกำหนดธาตุโดยความเป็นหุ่น
- เปรียบเหมือนการทำหุ่นจำลองเป็นมนุษย์สตรี บุรุษ แล้วมีเชือกสาหรับชักเพื่อให้หุ่นนั้น เดิน ยืนนั่ง นอน เต้นรำ

  หุ่นนี้ คือ ร่างกาย ผู้ทำหุ่นคือ กิเลสในอดีต ที่เป็นเหตุให้กายนี้ถูกสร้างขึ้นจนสมบูรณ์ เชือก คือ เส้นเอ็น ดินเหนียว คือ เนื้อ สีที่ทำ คือ ผิวหนัง ช่องทั้งหลายคืออากาศ เพราะอาศัยอาภรณ์ เครื่องประดับต่างๆ จึงได้ชื่อว่าบุรุษหรือสตรี การเคลื่อนไหวไปได้ของหุ่นก็ด้วยวาโยธาตุที่เกิดจากจิตที่คิดจะเดิน ยืน คู้เข้า เหยียดออก สนทนาพูดจำได้

  มนุษย์หุ่นเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับวิญญาณธาตุ ตกอยู่ในอำนาจความโกรธ ความโศกเศร้า ความทุกข์ เพราะอวิชชา พวกเขาหัวเราะสนุกสนานหรือเล่นด้วยกันได้ มีอาหารรักษาหุ่นเหล่านี้ไว้ และชีวิตินทรีย์รักษาไว้ ทำให้หุ่นเหล่านี้เดินไป ที่สุดแห่งชีวิตทำให้หุ่นแตกกระจัดกระจาย และเมื่อกรรมและกิเลสยังมีอยู่ หุ่นใหม่ก็จะเกิดขึ้นอีก การเกิดขึ้นครั้งแรกของหุ่นนั้นไม่สามารถรู้ได้ จุดสุดท้ายของหุ่นนั้นใครๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ ผู้ปฏิบัติพึงกำหนดกายนี้โดยเปรียบกับหุ่นว่าอาการเหล่านี้ กิจกรรมเหล่านี้ว่า “ไม่มีสัตว์ ไม่มีชีวะ เป็นเพียงแต่สภาวะ”

๖. พิจารณาธาตุโดยความเป็นอารมณ์
- เมื่อพิจารณาธาตุ ๔ โดยประการต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาโดยความเป็นนามและรูป คือ ธาตุทั้งหลายเป็นรูป จิตพร้อมเจตสิกต่างๆ ที่พิจารณารูปเหล่านั้นโดยความเป็นจริง เป็นนาม แล้วพิจารณาต่อไปอีกว่า นามรูปเป็นทุกข์ เป็นตัณหา เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ แล้วกำหนดรู้ว่า ความดับทุกข์ได้ต้องดับที่ตัณหา มรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นหนทางไปสู่ความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง

นิมิต ภาวนา และ มรรค ผล ที่ได้จากการเจริญจตุธาตุววัฏฐาน
   การเจริญจตุธาตุววัฏฐานนี้ ไม่มีอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต คงมีแต่บริกรรมนิมิตอย่างเดียว คือธาตุทั้ง ๔ ที่มีอยู่ในร่างกายตนนั้นเอง

  ส่วนภาวนานั้นได้ ๒ อย่าง คือ บริกรรมภาวนาและอุปจารภาวนา สำหรับอัปปนาภาวนาอันเป็นตัวฌานนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะธาตุทั้ง ๔ นี้เป็นสภาวะล้วนๆ ผู้เจริญต้องใช้ปัญญาอย่างแรงกล้า จึงจะรู้เห็นในสภาวะเหล่านี้ได้ เหตุนี้สมาธิของผู้เจริญจึงไม่มีกาลังพอที่จะถึงฌาน

   ดังนั้น หากว่าการพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ที่มีอยู่ในกายตน โดยมีปัญญาเป็นประธานนี้ทำให้พิจารณาธาตุ ๔ โดยความเกิดดับ ก็จะทำให้ผู้ที่เจริญธาตุ ๔ นั้นสามารถสำเร็จมรรคผลได้

อานิสงส์ของจตุธาตุววัฏฐาน
๑. เห็นความไม่ใช่ตัวตน (อนัตตลักษณะ)
๒. ละความเห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ชาย หญิงได้
๓. ไม่กลัวภัยต่างๆ
๔. สามารถตัด ระงับ ความพอใจและไม่พอใจได้ มีจิตมั่นคงไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา
๕. ทำให้เป็นผู้มีปัญญากว้างขวาง
๖. เข้าถึงพระนิพพาน
๗. ถ้าไม่เข้าถึงพระนิพพานในภพนี้ ก็จะไปสู่สุคติ


จบจตุธาตุววัฏฐาน



อ้างอิง
บทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ ชุดที่ ๙ สมถกรรมฐาน ตอนที่ ๓
บรรณานุกรม
๑) ปรมัตถโชติกะ หลักสูตรชั้นมัชฌิมอภิธรรมิกะโท : พระสัทธัมมโชติกะ : อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย : โรงพิมพ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทิพยวิสุทธิ์ ; พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๓๙
๒) วิมุตติมรรค พระอุปติสสเถระ รจนา
พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) และคณะแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ ของพระเอฮารา พระโสมเถระ และพระเขมินทเถระ
๓) วิสุทธิมรรค ๑๐๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง
๔) พระสูตร และ อรรถกถา แปลขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่มที่ ๗ ภาคที่ ๑- ๒
๕) การเจริญสมาธิ ตามแนวทางพระพุทธศาสนา BUDDHIST MEDITATION ผศ.ดร.นฤมล มารคแมน
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๔
ขอบคุณภาพจาก http://pixserv.clipmass.com,http://www.packagetourtravel.com,http://image.ohozaa.com



ขอขอบพระคุณที่มาจาก ท่าน raponsan
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.msg19399#msg19399



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 08, 2014, 10:20:10 PM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #7 เมื่อ: ธันวาคม 02, 2014, 10:43:55 AM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้)

- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, จตุธาตุววัฏฐาน)



จตุธาตุววัฏฐาน ๔ # ๑
   
สำหรับวันนี้ จะขอพูดเรื่องสมถภาวนาจนจบ คำว่าจบในที่นี้หมายความว่าจะเว้นอรูปฌานทั้ง ๔ เสีย เพราะถือว่าไม่มีความจำเป็น สำหรับวันนี้ก็จะพูดเรื่องจตุธาตุววัฏฐานสี่ หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า ธาตุ ๔  สำหรับกรรมฐานบทนี้เป็นกรรมฐานพิจารณา ไม่ใช่กรรมฐานภาวนา คำว่าภาวนาหมายความว่า จับคาถาบทใดบทหนึ่งเข้ามาภาวนาให้จิตทรงตัว

 แต่ว่าสำหรับกรรมฐานกองนี้เป็นกรรมฐานพิจารณา เป็นกรรมฐานที่เหมาะสำหรับท่านที่เป็นพุทธจริต คำว่าพุทธจริตเป็นอารมณ์รู้ หมายถึงว่าคนทุกคนก็มีด้วยกันทุกคน เวลาใดที่มีอารมณ์ปลอดโปร่งเห็นว่าโลกเป็นทุกข์ อัตภาพร่างกายมีสภาพเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงเป็นท่ามกลาง มีความแตกสลายไปในที่สุด เห็นว่าเป็นอนิจจังหาความเที่ยงไม่ได้ เป็นทุกขังเป็นความทุกข์ อนัตตามันจะสลายตัว

ถ้าอารมณ์ของเราเกิดขึ้นอย่างนี้ เห็นว่าร่างกายไม่เป็นเรื่องเป็นราว มีความตายไปในที่สุด ชื่อว่าเวลานั้นอารมณ์จิตเราเป็นพุทธจริต เป็นจิตที่ตกอยู่ในความฉลาด

   ฉะนั้นกรรมฐานบทหนึ่งในพุทธจริตที่เรายังไม่ได้พูดกันมาก็เหลือจตุธาตุววัฏฐานสี่ คือท่านให้พิจารณาว่า ร่างกายของเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ เอามาผสมกันเข้าเป็นเรือนร่าง แล้วก็มีอากาศธาตุ มีวิญญาณธาตุเข้ามาสิงรวมเป็นธาตุ ๖ ประการด้วยกัน เนื้อแท้เดิมจริงๆ มันมี ๔

   ธาตุดินได้แก่ของที่แข็ง มีหนัง มีเนื้อ มีกระดูก เป็นต้น
   ธาตุน้ำได้แก่น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำลาย ปัสสาวะ เป็นต้น
   ธาตุไฟได้แก่ความอบอุ่นในร่างกาย
   ธาตุลมได้แก่การที่พัดไปมาในร่างกาย มีลมหายใจเป็นต้น


   รวมความว่าร่างกายนี้ต้องมีธาตุ ๔ ประกอบกัน ทั้งธาตุแต่ละธาตุก็ต้องมีความแข็งแรงสม่ำเสมอกัน ร่างกายของเราจึงจะมีความสมบูรณ์พูนสุข อันการที่ร่างกายป่วยไข้ไม่สบายแสดงว่าธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งมันบกพร่อง มีการทรงตัวไม่เสมอกัน เหมือนกับเรามีโต๊ะ ๔ ขา แต่ขาหนึ่งมันหักหรือมันร่อยไปเสียก็แสดงว่าตั้งไม่สนิท ถ้ามันร่อยลงไป ๒ ขา ก็แสดงว่าเอียงลงไปแล้ว

แม้แต่ก้านกล้วยมันก็หนัก ร่างกายของเราก็เหมือนกัน มีความสมบูรณ์แข็งแรงปกติใช้งานได้สะดวก ก็ได้แก่ธาตุทรงตัวสม่ำเสมอกัน เมื่อธาตุส่วนใดส่วนหนึ่งมีความทรุดโทรมเรียกว่าพอเสื่อมตัวลงไป ร่างกายก็ต้องแสดงถึงการทรุดโทรมให้ปรากฏ แล้วในที่สุดธาตุแต่ละธาตุทั้ง ๔ ธาตุนี้มันก็จะต้องสลายตัวไป

   ถึงเวลาตายเราจึงว่าธาตุลมหายไป
   ธาตุไฟหายไป เหลือ ๒ ธาตุ คือธาตุน้ำกับธาตุดิน
   ในเมื่อมีดินกับน้ำ ไม่มีความอบอุ่นเข้าประคับประคอง น้ำก็ละลายดิน ดินก็เกิดอาการยุ่ย เกิดอาการอืดพองขึ้นมา หนังเปื่อยเนื้อเปื่อย เน่า ทว่าไม่เน่าเปล่ามีการส่งกลิ่นเหม็น แล้วก็ค่อยสลายตัวไปทีละน้อยละน้อย

   ธาตุน้ำแห้งไป ธาตุดินก็ยุบตัวลงสลายไป
   เป็นอันว่าร่างกายของเราประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีความเสื่อมไปลดน้อยถอยลงไปทีละน้อยๆ เราจะเห็นว่าความเป็นเด็กเกิดขึ้น เรามีการเจริญขึ้นด้วยธาตุ จนถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวแสดงว่าธาตุ ๔ ประกอบสมบูรณ์

   พออายุมากลงความสมบูรณ์กับเวลาที่เสื่อมลงไปยามแก่มาถึง สิ่งที่เข้าไปปรนเปรอไม่พอกับสิ่งที่เสื่อมสลายตัวไป ของที่เต็มอยู่มันก็พร่องคือว่าเนื้อหนัง เนื้อมันน้อยลงหนังก็เริ่มเหี่ยว ความเปล่งปลั่งไม่ปรากฏ มีการสลายตัวของธาตุดินมองเห็นชัด


   แล้วในที่สุดธาตุดินก็สลายตัวทรงไม่ได้ กายทรงตัวอยู่ไม่ได้ นี่มันตาย มานั่งพิจารณาดู ร่างกายเราเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ขณะใดที่ธาตุทั้ง ๔ ไม่สามัคคีกันเมื่อไหร่ก็พังเมื่อนั้น

   แล้วมาดูการพิจารณาดูธาตุ ๔ เพื่อประโยชน์อะไร พิจารณาเพื่อตัดความเมาในธาตุคือร่างกายเสีย ว่าเราจะไปนั่งเมามันในร่างกายของเราว่า มันจะทรงตัวนั้นมันไม่มี เราจะหาความผ่องใสในร่างกายตลอดกาลตอลดสมัยมันก็ไม่มี หาความแข็งแรงหาการคล่องตัวตลอดไปมันก็ไม่มี   

     เพราะธาตุทั้ง ๔ นี้มันจะทรงตัวความแข็งแรงไม่เสมอกัน มันจะพร้อมเพรียงกันก็อยู่ชั่วขณะหนึ่ง สักวันหนึ่งปีหนึ่งอาจจะหลายครั้งที่มีธาตุบางอย่างกะพร่องกะแพร่งร่อยหรอไปเสื่อมตัวลงไป อาหารป่วยมันก็เกิด นี่มองเห็นสภาวะของธาตุมันไม่ดี มันไม่ทรงตัว

   แล้วก็มองดูต่อไปด้วยว่าธาตุนี้มันเกิดมาแล้วมันไม่ทรงตัว ในที่สุดมันเป็นอย่างไร มันก็พังสลายตัวไปในที่สุด แล้วเราจะไปนั่งมัวเมาในธาตุเพื่อประโยชน์อะไร ธาตุ ๔ ไม่ทรงตัว ธาตุของเราไม่ทรงตัว ธาตุของบุคคลอื่นก็ไม่ทรงตัว การปรารถนาในการมีคู่ครองก็เพราะว่าเรามีโมหจริต คือ ความโง่ไม่ได้คิดถึงความเป็นจริง

เพราะการมีคู่ครองนี้สร้างความเป็นห่วงให้เกิดขึ้น มีอารมณ์ยึดถือให้เกิดขึ้น ความจริงเราปรารถนาจะเปลื้องความทุกข์ แต่การแสวงหาร่างกายของบุคคลอื่นๆ มาคู่กับร่างกายเรา หวังจะเป็นคู่ครองซึ่งกันและกัน มันไม่ใช่เปลื้องทุกข์มันเพิ่มทุกข์  ต้องรับภาระร่างกายของเราเองด้วย รับภาระร่างกายของบุคคลอื่นด้วย ทีแรกเราก็ทุกข์แต่ตัวเรา

เมื่อเอาบุคคลอื่นเข้ามาเราก็ทุกข์ เพื่อบุคคลอื่นอีกทุกข์เพราะอยู่เป็นคนคู่ไม่พอ ความโง่ยังสร้างต่อไป อยากจะมีลูก อยากจะมีลูกผู้หญิง อยากจะมีลูกผู้ชาย อยากจะมีหลาน นี่มันเป็นอาการของความโง่ไม่มีที่สิ้นสุด สร้างความห่วง สร้างอุปาทาน สร้างความยึดมั่นผูกพันในสิ่งที่ไม่ทรงตัว ฉะนั้นในความทุกข์ไม่มีถึงที่สุด หาที่จบก็ไม่ได้

   องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทรงบรรลุอภิเสกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว องค์สมเด็จพระประทีบแก้วเห็นโทษของการมัวเมาอยู่ในธาตุ ๔ มัวเมาในธาตุของตัวหรือว่าเมาในธาตุของบุคคลอื่นด้วย คนเมาแต่ธาตุของตัวยังพอดี เรียกว่าทุกข์น้อย ถ้าเมาในธาตุของบุคคลอื่นด้วยเรียกว่าทุกข์หนักขึ้นไป ถ้ายิ่งเมาอยากจะมีลูก เมาอยากจะมีหลาน เมาอยากจะมีเหลนก็ยิ่งหนักเข้าไปอีกเท่าตัว

พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ภาระหะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้งหาเป็นภาระอันหนัก แต่เพียงธาตุ ๔ ของเราประกอบเข้าเรียกว่าขันธํห้า เท่านี้ก็ปรนเปรอมันไม่ไหวอยู่แล้ว ไปเลี้ยงมันทั้งวันมันก็ไม่รู้จักอิ่ม มันก็ไม่รู้จักพอ ปรนเปรอมันตลอดกาลตลอดสมัย มันก็ไม่มีความหยุดยั้งในความต้องการ บำรุงร่างกายขนาดไหนก็ดีมันก็ไม่วายจะทรุดโทรม ประคับประคองเท่าไรก็ตามมันก็ไม่พ้น ที่จะตายไม่พ้นที่จะพัง นี้คือร่างกายของเราคนเดียว

พระพุทธเจ้าท่านก็บอกหนักแสนหนัก มันแบกจะไม่ไหวอยู่แล้ว ต้องไปแบกร่างกายของบุคคลอื่นเข้า  เราจะเป็นคนโง่หรือคนฉลาด มันเพิ่มทุกข์ แสดงว่าอารมณ์โง่มันเกิดขึ้น

   การที่จะตัดความโง่ตัวนี้ได้ก็ต้องปลดร่างกายของคนอื่นทิ้ง แล้วก็หาทางมาปลดร่างกายของเรา มานั่งนึกดูว่าเราคนเดียวเราก็ยังแย่  หาที่สุดของความทุกข์ไม่ได้ ถ้าเราไปแบกเข้าอีกขันธ์ห้าหนึ่งก็หนักอีกเท่าตัว เพียงแต่ตัวของเราก็เอาชีวิตไม่รอด

เดิมทีเราถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวร่างกายสมบูรณ์บริบูรณ์ เวลาที่อายุกาลผ่านวัยไป มาถึงอายุกาลผ่านวัยไป มาถึงอายุนี้แล้วความเสื่อมมันก็ปรากฏ องค์สมเด็จพระบรมสุคตบอกวางร่างกายของบุคคลอื่นเสียเป็นปัจจัยของความทุกข์ เห็นเรามาแบกแต่ร่างกายของเราแต่ผู้เดียว


   เมื่อต้องมาแบกร่างกายของเราคนเดียวก็นั่งมองดูว่ามันหนักหรือมันเบา มันหนักไปด้วยภาระทั้งปวงต้องหาอาหารมาให้อิ่ม เวลานี้จะกินอย่างนี้ เวลาโน้นจะกินอย่างโน้น เวลานั้นต้องกินอย่างนั้น ความอยากของมันไม่สิ้นสุด

หนักเฉพาะการกินก็หนักแย่อยู่แล้ว เครื่องประดับประดาเครื่องแต่งตัวมันก็อยากจะได้ไอ้นั่น มันก็อยากได้ไอ้นี่ อาหารแต่ละชิ้น ผ้าแต่ละชิ้นที่จะได้ก็ได้มาด้วยความทุกข์ความเหนื่อยยาก เอามาหนักเท่านี้ก็ยังไม่พอ ประเดี๋ยวก็ป่วยโน่นประเดี๋ยวก็ป่วยนี่ ป่วยอย่างนั้น ป่วยอย่างนี้ ต้องรักษาพยาบาลมัน อาการป่วยก็เป็นทุกข์

การจะหาเงินมารักษาก็แสนจะทุกข์ แสนจะเหนื่อยยาก นั่นก็เป็นอาการของความทุกข์ของร่างกาย มันดีตรงไหน และถึงแม้จะประคับประคองประการใดก็ดี จะรักษาอย่างไรก็ดี บำรุงอย่างไรก็ดี ในที่สุดมันก็ตาย

   ในเมื่อมันจะต้องตายแบบนี้ เราจะไปแบกมันทำไมต่อไป ถ้าเรายังจะต้องเกิดอีกเราก็แบกมันรูปนี้ตลอดไป เราเลิกแบกมันเสียดีกว่า โยนมันทิ้งไป การที่โยนมันทิ้งก็ไม่ได้หมายความว่า จะไปเชือดคอตาย ผูกคอตายโยนทิ้ง ไม่ใช่อย่างนั้น โยนมันออกไปเสียจากใจจะได้ไม่ต้องห่วงมันมากนัก ถือว่ามันเป็นที่อาศัยชั่วคราว

ขณะใดที่เรายังอาศัยมันอยู่ ก็ประคับประคองมันตามหน้าที่ ให้มีความรู้สึกว่านี่เราทำตามหน้าที่เท่านั้น เราไม่ได้รักมันเราไม่ได้ห่วงมัน ขณะที่เรายังอาศัยมันอยู่ ถ้ามันทรุดโทรมมากเกินไปแบบเดียวกับบ้านที่อาศัย ปล่อยให้หลังคารั่วปล่อยให้พื้นผุ

ผลที่สุดเราเองก็เป็นผู้ลำบากมากเกินไป ทั้งๆ ที่รู้ว่าบ้านมันเก่าอยู่ทุกวัน หลังคารั่วพอฝนมันรั่วแดดส่อง หาอะไรมาปกปิดกันความร้อนชั่วขณะ พื้นมันผุก็หาสิ่งของเท่าที่จะซ่อมแซมได้มาซ่อมแซมมัน ประคับประคองมันไว้ แต่ว่าไม่ได้รักมัน

กำหนดจิตว่าเมื่อถึงเวลาที่จะต้องจากกันเมื่อไร เราก็จะไม่ห่วงใยขันธ์ห้านี้เป็นอันขาดและเราก็ไม่ต้องการมันอีก เพราะเราไปพบมันอีกเมื่อไรก็จะพบกับความทุกข์แบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

   วิธีที่เราไม่ต้องการจะพบมันก็พิจารณาสักกายทิฏฐิ พิจารณาว่ามันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในมัน มันไม่มีในเรา ธาตุ ๔ มันเป็นเรือนร่างที่เราอาศัยชั่วคราว เราไม่เห็นว่ามันสวยที่ไหน ไม่เห็นว่ามันดีที่ไหน มันเต็มไปด้วยความทุกข์ 

ขึ้นชื่อว่าธาตุแบบนี้เราไม่ต้องการมันอีก คิดไว้อย่างนี้เสมอ เราไม่ต้องการมันอีก คิดไว้อย่างนี้เสมอ เราไม่ต้องการธาตุ ๔ เป็นเรือนร่างต่อไป ขึ้นชื่อว่าความเกิดที่มีธาตุ ๔ ไม่มีสำหรับเรา

   และแล้วต้องหาทางอ้อมต่อไปว่า ถ้าเราจะไม่ต้องมาเกิดจะทำอย่างไร
   อันดับแรกเราต้องตัดโลภะความโลภ โดยการให้ทาน อย่างนี้ต้องมีอารมณ์เป็นปกติ ไม่ใช่จะมานึกว่าจะไม่เกิด จะไม่เกิด มันเป็นไปไม่ได้หรอก เราต้องตัดมัจฉริยะ ความตระหนี่ ตัดโลภะความโลภ อย่าให้มันข้องอยู่ในใจ อย่าทะเยอทะยานเกินไปจะมีความผูกพันในทรัพย์สินเกินไป ตายแล้วไม่มีใครเอาไปได้ เมื่อตัดความโลภ โดยการให้ทานโดยการบริจาค จิตจะได้มีความเบา


   เราต้องตัดโทสะ ความโกรธ โดยการทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ เราต้องตัดตัวยึดถือ คืออุปาทานในขันธ์ห้าเสีย ได้แก่การพิจารณาพบความจริงของร่างกายว่ามันเป็นทุกข์ ความผูกพันมันจึงจะไม่มี

   นี่ถ้าเราพิจารณาแบบนี้ชื่อว่าพิจารณาทั้งด้านสมถะและวิปัสสนาร่วมกัน สมถภาวนาจำจะต้องมีอยู่เสมอ แต่สมถะจะทรงตัวได้ต้องอาศัยวิปัสสนาญาณประคับประคอง วิปัสสนาญาณจะติดอยู่กับจิตใจของเราได้ตลอดกาลตลอดสมัยก็ต้องมีสมถะเป็นเครื่องสนับสนุน ทั้ง ๒ อย่างนี้แยกกันไม่ออก ถ้าแยกกันเหลือส่วนใดส่วนหนึ่ง เราก็ซวยเต็มที เพราะความดีมันจะไม่ทรงตัว


   การพิจารณาธาตุ ๔ เราควรจะเห็นว่าถ้าเราพิจารณาแล้วก็ควรจะน้อมเข้าไปสู่อสุภกรรมฐานในตัวด้วย เพราะธาตุ ๔ นอกจากมันจะไม่ทรงตัวเป็นปกติ ยังมีความไม่เที่ยงมีการเปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์มีการสลายตัวไปในที่สุด และยังเต็มไปด้วยความสกปรกโสมมอีกด้วย เป็นของน่าเกลียดของโสโครก นี่มองกรรมฐานจุดใดจุดหนึ่งแล้วอ้อมลงไปหาจุดจบเพื่อเป็นการทำลายจิตที่ผูกพันไว้ได้ ฉะนั้น การเจริญพระกรรมฐานจึงจำเป็นจะต้องรู้กรรมฐานหมดทั้ง ๔๐ อย่าง ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องศึกษาให้ครบแล้วก็
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 29, 2015, 01:48:08 PM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #8 เมื่อ: ธันวาคม 04, 2014, 03:29:25 PM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้)

- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, จตุธาตุววัฏฐาน)



จตุธาตุววัฏฐาน ๔ # ๒
   
   ต่อไปสำหรับท่านที่ปรารถนาจะเจริญพระกรรมฐานเพื่อฝึกทิพจักขุญาณ โดยใช้บทภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ บทนี้สำคัญมากถ้าใช้เป็นทิพจักขุญาณจะมีความแจ่มใสเป็นพิเศษ ในตอนต้นก็ขอให้ทุกท่านให้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยเสียก่อน

การพิจารณาในสมถะบทใดก็ตามนั้นและวิปัสสนาญาณก็ดีเป็นของดีมากถ้ายังทรงจิตอยู่ได้ จิตไม่วอกแวกไม่คลาดเคลื่อนไปให้พิจารณาไปเสมอๆ จะเป็นการตัด ถ้าเราเจริญกรรมฐานเราต้องการตัดกิเลสจริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ ถ้าตัดได้ตัดให้มันหมดไป

เมื่อเห็นว่าพิจารณาจิตมันจะซ่านเกินไปก็จับคำภาวนา รักษาอารมณ์ให้ทรงตัว ในอันดับแรกเราเคยภาวนาว่าอย่างไรให้ทรงตัว ก็ภาวนาอย่างนั้นเสียก่อนจนกว่าจิตจะสบายถึงที่สุด

เมื่อมีความอิ่มของจิตดีเรียบร้อยแล้ว จิตเรียบเป็นระเบียบดีจึงจับคำว่า นะ มะ พะ ทะ ภาวนาต่อไปแทน แต่เมื่อภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ ไม่ใช่จะอยากเห็นโน่น อยากเห็นนี่ อยากให้ปรากฏความสว่าง ถ้าทำอย่างนี้ไม่มีผล ให้รักษาอารมณ์ตน

โดยเฉพาะ ใช้คำภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ อย่างเดียว จะมืดจะสว่างอย่างไรก็ช่าง อะไรจะปรากฏหรือไม่ปรากฏก็ช่าง ไม่สนใจ สนใจรักษาคำว่า นะ มะ พะ ทะ อย่างเดียว พอจิตเป็นสมาธิทรงตัวดีแล้ว ถึงขั้นอุปจารสมาธิอารมณ์จิตจะสว่างไสว หลับตาจะมีความรู้สึกเหมือนว่าเรานั่งอยู่ในเวลากลางวัน มันมีความสว่างทั่วตัว

ถ้าบังเอิญจิตเป็นทิพจักขุญาณเห็นภาพใดๆ ตามที่เราต้องการ จะมีความแจ่มใสเป็นพิเศษ เห็นชัดแม้แต่ผมแต่หนวดเส้นเล็กๆ ก็สามารถจะมองเห็นได้ คุณประโยชน์ของการเจริญกรรมฐานกองนี้ก็เพื่อว่าจะได้ทรงวิชชาสาม สามารถค้นคว้าพิจารณาหาความจริงในหลักเกณฑ์ของพุทธศาสนาได้อย่างแท้จริง

   ต่อจากนี้ไปขอให้บรรดาภิกษุสามเณร พุทธบริษัทชายหญิงพากันตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาต่อไป จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา




ที่มา หนังสือ กรรมฐาน 40 ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
ขอบคุณภาพจาก
www.bknowledge.org,www.kmitl.ac.th,http://1.bp.blogspot.com,www.watermis.com,www.212cafe.com



ขออนุญาตสรุปตามความเข้าใจของผม(หมายถึงตัวท่าน raponsan สรุป)

  จตุธาตุววัฏฐาน เป็นกรรมฐานที่ต่างจากกรรมฐานอื่นๆ ตรงที่เป็นกรรมฐานพิจารณา เป็นการพิจารณาธาตุกรรมฐาน เหมาะสำหรับผู้มีพุทธจริต(ปัญญาจริต) ต้องคิด ต้องนึก ต้องใคร่ครวญ จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ให้ดีก่อน ทำให้หลายคนอาจคิดว่ายาก

   ผมนึกถึงคำว่า" วิปัสสนึก"ขึ้นมาได้ ผมได้มีโอกาสคุยกับแม่ชีทศพร ถามท่านว่า ทำไมผมขึ้นวิปัสสนาไม่ได้
ท่านตอบว่า สมาธิคุณแข็งไป วิปัสสนาต้องมีวิปัสสนึกก่อน

  ถึงตรงนี้บางคนอาจแย้งว่า การนึกไม่ใช่วิปัสสนา ผมเห็นด้วยครับ
   แต่อารมณ์กรรมฐาน ผมว่าน่าจะมาจากจริตวาสนาบารมีของคนนั้นๆ ไม่น่าจะมีอะไรที่ตายตัว


   กลับมาเรื่องวิปัสสนึก การพิจารณาธาตุในลักษณะนี้ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ จะได้สมถะ
   ความหมายของผมก็คือ วิปัสสนึกเป็น สมถะนั่นเอง
   (ขอไม่คุยวิปัสสนา เนื่องจากไม่สันทัด)

  การพิจาณาธาตุตามแนวอภิธรรม มี ๖ วิธีด้วยกัน
     ๑. การกำหนดธาตุโดยไม่แยกกัน
     ๒. การกำหนดธาตุโดยเหตุและปัจจัย
     ๓. การกำหนดธาตุโดยลักษณะ    
     ๔. การกำหนดธาตุโดยความเสมอกันและไม่เสมอกัน
     ๕. การกำหนดธาตุโดยความเป็นหุ่น
     ๖. พิจารณาธาตุโดยความเป็นอารมณ์


  การพิจารณาธาตุตามแนวนี้ จะไ้ด้เพียงอุปจารสมาธิเท่านั้น
   แม้จะได้แค่อุปจารสมาธิ ก็เพียงพอสำหรับการวิปัสสนาเพื่อพ้นทุกข์แล้วครับ
   ขอคุยเท่านี้ครับ รู้สึกอึดอัด




ผมแนบไฟล์ บทความเรื่อง "การพิจารณาธาตุกรรมฐาน" มาให้ดาวน์โหลดครับ

http://www.madchima.org/forum/index.php?action=dlattach;topic=5260.0;attach=1855


ขอขอบพระคุณที่มาจาก ท่าน raponsan
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.msg19400#msg19400
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.msg19401#msg19401
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 08, 2014, 10:28:03 PM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #9 เมื่อ: ธันวาคม 04, 2014, 03:57:48 PM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (อาการทั้ง ๓๒ ประการ สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔)


- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, ภารทวาชสูตร, คิริมานนทสูตร สัญญา ๑๐)

กายคตาสติสูตร

[๒๙๗]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมพิจารณากายนี้แล ข้างบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป
ข้างล่างแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้
ผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  เนื้อ  เอ็น  กระดูก  เยื่อในกระดูก  ม้าม 
หัวใจ  ตับ  พังผืด  ไต  ปอด  ไส้ใหญ่  ไส้น้อย  อาหารใหม่  อาหารเก่า  (มันสมอง)
ดี  เสลด  น้ำเหลือง  เลือด  เหงื่อ  มันข้น  น้ำตา  เปลวมัน  น้ำลาย  น้ำมูก  ไขข้อ  มูตร

(ท์วัตติงสาการะปาโฐ คือ อาการทั้ง 32 ประการนี้ คือ กายคตาสติจะมีแต่เพียงในพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่มี เป็นการพิจารณาโดยแยบคายที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนดึงเข้าได้ถึง ฌาณ ๔ เข้าสมถะเห็นเป็น อสุภะ ธาตุ กสิน ก็ได้ เข้าสู่วิปัสนาเห็นเป็นเพียงธาตุหรือรูปนามก็ได้ ในอนุสสติ ๑๐ บทท์วัตติงสาการะปาโฐ คือ กายคตาสติ ส่วนในหมวดที่พระพุทธเจ้าจัดรวมว่าเป็นการพิจารณากายคตาสตินั้น ท์วัตติงสาการะปาโฐ จะเป็น ปฏิกูลบรรพ เป็นการพิจารณาส่วนหนึ่งในกายคตาสติที่รวมเข้ากัน 7 หมวด คือ อานาปานสติบรรพ๑ อิริยาบถบรรพ๑ สัมปชัญญะบรรพ๑ ปฏิกูลมนสิการบรรพ๑ ธาตุมนสิการบรรพ๑ นวสีวถิกาบรรพ๑ และ สัมมาสมาธิ คือ รูปฌาณ๔ หรือ กายานุสติปัฏฐาน นั้นเอง)



- ก็กายเรานี้เป็นอย่างนี้แล กายเขาที่เราเสพย์อารมณ์กำหนัดราคะอยู่ก็เป็นดังนี้แล เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา อันมีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบเป็นของไม่สะอาดดังนี้แล กายเราและกายเขานี้ก็เป็นเช่นนี้แล สิ่งเหล่านี้ที่รวมอยู่ในกายเราและเขา
- เมื่อไม่มีเรา_ในรูปขันธ์คือกายนี้(เมื่อพิจารณาแยกออกเป็นอาการทั้ง ๓๒ ประการออกมา) และ รูปขันธ์คือกายนี้_ไม่มีในเรา(เมื่อแยกกายออกเป็นอาการทั้ง ๓๒ ประการ ก็ไม่อยู่เป็นร่างกายเป็นรูปขันธ์ได้ รูปขันธ์จึงไม่มีในเรา)
- ดังนั้นเราจักพึงหวังเอาปารถนาในอาการทั้ง 32 เหล่านั้นในเขาก็ไม่เกิดประโยชน์ไรๆนอกจากทุกข์อันรุ่มร้อนมัวหมองใจ จากการปารถนายึดมั่นถือมั่นในของไม่สะอาดเหล่านั้นดังนี้

เจริญจิตขึ้นพิจารณาในบุคคคลที่เราเห็นอยู่ที่กำลังเกิดราคะอยู่นี้ว่า กายของเขานี้มีสภาพอย่างไรซึ่งประกอบไปด้วยอาการทั้ง ๓๒ อันเป็นที่ประชุมกันชองธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ (อากาศ วิญญาณ) อย่างไรบ้าง

- เบื้องต้นเราต้องทำความเข้าใจดังนี้ก่อนว่า



ขอขอบคุณที่มาของรูปจากคุณณัฐพลศร ตามกระทู้นี้ครับ
 http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.0



เมื่อเราเจริญปฏิบัติพิจารณาตามตัวเรานี้ได้เห็นทางพิจารณาและได้สัมผัสดังนี้

๑. ขั้นตอนพิจารณาปฏิบัติในธาตุดิน เราจะรู้อย่างไรว่าธาตุเหล่านี้คือธาตุดิน เพราะที่มองเห็นมันก็เป็นคนทั้งตัว ตับ ไต กระเพาะ เล็บ มันก็เป็นอย่างที่เรารู้มาตั้งแต่เด็กจะให้มองเป็นดินยังไง
    " ข้อนี้พระตถาคตให้เอาเอกลักษณ์ของธาตุ คือ สภาพคุณลักษณะของธาตุดินเป็นอารมณ์ นั่นคือ รู้ในสภาพที่อ่อนและแข็ง ไม่ต้องไปรู้สภาพอะไรอื่นให้รับรู้สภาพนี้จากจากการสัมผัสรู้สึกถึงอาการที่เป็นเอกลักษณ์หรือคุณลักษณะของธาตุดินเท่านั้น(ถ้าทางวิปัสนานี้ท่านจะให้รู้จนเห็นไม่มีตัวตนบุคคลใดสักแต่เป็นเพียงรูปนาม ธาตุดินก็คือรูป เป็นมหาภูตรูป๔)"
    " ทีนี้เราลองจับดูหนังของเรามันก็อ่อนนุ่มใช่ไหม นั่นคือคุณสมบัติของธาตุดิน คือ มีความอ่อนนุ่มหรือแข็ง ดังนั้นหนังจึงเป็นธาตุดิน ผมก็มีลักษณะอ่อนนุ่มนั้นก็เป็นลักษณะของธาตุดิน เล็บมันแข็งใช่ไหมดังนั้นเล็บก็เป็นธาตุดิน เนื้อก็อ่อนนุ่มเนื้อจึงเป็นธาตุดิน หากเป็น ตับ ไต ไส้ กระเพาะอาหาร เราอาจจะยังไม่เคยจับใช่ไหม แต่คนกับสัตว์ก็เหมือนกันเราคงพอจะได้สัมผัสกันว่า มันมีความอ่อนนุ่มและแข็งเท่านั้น กระดูกก็แข็งก็แสดงว่าอวัยวะภายในมีตับ ไต กระดูกเป็นต้น คือธาตุดินที่มีอยู่ในกายเรา ก่อตัวรวมกัมกับน้ำบ้าง ลมบ้าง ไฟบ้าง อากาศศบ้างขึ้นเป็นรูปร่างเป็นอวัยวะต่างๆและตัวของคน สัตว์ขึ้นมานั่นเอง ร่างกายเราจึงประกอบด้วยธาตุดิน ด้วยประการฉะนี้"
    - หากอยากรู้ว่ากายเรานี้ อวัยวะชิ้นนั้นๆคือธาตุใดก็ให้ลองไปซื้อเครื่องใน หมู วัว เป็ด ไก่ เอามาจับๆและเพ่งพิจารณาดูว่ามันมีสภาพอย่างไร เวลาจับๆบีบๆนี่มัน อ่อนนุ่ม หรือ แข็ง เป็นใหญ่ในทุกพื้นที่ที่จับใช่ไหม นั่นแสดงว่าอวัยวะชิ้นนั้นคือธาตุดินนั่นเอง
    - หากอยากรู้ว่าอวัยวะที่เป็นธาตุดินมีดินรวมตัวกันขึ้นเป็นรูปทรงนั้นๆ มันเกิดขึ้นเพราะเหตุใดหนอเป็นปัจจัยปรุงแต่ง มีธาตุใดๆรวมอยู่บ้างหนอ ก็ให้ลองหลับตาแล้วจับๆบีบๆดูที่อวัยวะชิ้นนั้น เราจะได้รับความรู้สึกว่าเหมือนมีบางสิ่งที่มีสภาพอันเอิบอาบ ซึมซาย เกาะกุม เคลื่อนตัวไหลออกมาจากอวัยวะชิ้นนั้นๆ เมื่อเรามองดูก็จะเห็นเป็น น้ำเลือด น้ำหนอง มันข้น เป้นต้น เช่น หั่นดูมีเลือดหรือน้ำเหลืองภายในบ้าง มันก็คือธาตุน้ำนั่นเอง-นั่นก็แสดงว่าธาตุดินจะก่อตัวกันขึ้นเป็นรูปร่างแบบใดๆได้ก็ต้องมีน้ำเป็นตัวเกาะกุมดินเข้ารวมกันให้มีรูปทรงลักษณะเช่นนั้น เมื่อบีบเคลื่อนสภาพมันดูคือลองเอาเครื่องในหรือก้อนเนื้อจุ่มลงไปในน้ำแล้วล้องบีบดูจะเห็นเหมือนมีลมเคลื่อนตัวทำให้ผุดขึ้นเป็นฟองในน้ำบ้าง นั่นก็แสดงว่าธาตุดินจะก่อตัวกันขึ้นเป็นรูปร่างแบบใดๆได้ก็ต้องมีลมร่วมอยู่เพื่อพยุงรูปทรงในส่วนนั้นให้คงสภาพอยู่ด้วย เมื่ออวัยวะที่สดใหม่อยู่ก็จะมีความอุ่นมีอุณหภูมิประมาณหนึ่งในอวัยวะส่วนนั้นบ้าง-นั่นก็แสดงว่าธาตุดินจะก่อตัวกันขึ้นเป็นรูปร่างแบบใดๆได้ก็ต้องมีต้องอาศัยธาตุไฟเพื่อเผาผาญหลอมรวมให้อยู่ร่วมเกาะกุมกันด้วย เมื่อเราสังเกตุหรือผ่าดูอวัยวะชิ้นนั้นๆจะเห็นว่ามันมีช่องอณุเล็กๆแทรกอยู่เต็มไปหมดบ้าง-นั่นก็แสดงว่าธาตุดินจะก่อตัวกันขึ้นเป็นรูปร่างแบบใดๆก็ตาม ก็ต้องมีอากาศธาตุเแทรกอยู่ในทุกอณุของดินเพื่อให้มันเป็นช่องสำหรับความยืดหยุ่นเคลื่อนตัวและแทรกซึมระบายเกาะกุมรวมให้ธาตุอื่นๆได้นั่นเอง

      อันนี้จะเห็นว่า ในอวัยวะภายในหรือชิ้นเนื้อหนึ่งๆจะประกอบไปด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ อันประครองอาศัยกันอยู่เพื่อรวมตัวกันขึ้นเป็นธาตุนั้นๆเป็นรูปทรงของอวัยวะส่วนนั้นส่วนนี้อยู่ภายในกายเราเพื่อทำหน้าที่ต่างๆในสถาวะที่สมดุลย์กันจะขาดกันไม่ได้จึงสามารถดำเนินไปทำหน้าที่ซึ่งกันและกันต่อไปได้ ดั่งตับ ไต ไส้ กระดูก เป็นต้น
    - จากนั้นลองเอาอวัยวะหรือชิ้นเนื้อเหล่านั้น ไปวางทิ้งไว้ในที่ใดๆก็ตามมี พอระยะเวลาผ่านไปก็จะเห็นว่า เมื่อน้ำเหือดแห้งลงสภาพดินของอวัยวะส่วนนั้นๆแทนที่จะอ่อนนุ่มกลับกลายเป็นแข็งแม้ยังคงสภาพดินอยู่แต่ความอ่อนนุ่มก็ไม่คงอยู่แล้ว เมื่อขาตธาตุน้ำการเกาะกุมรวมกันของสภาพธุาตทั้งหลายอันจะทำให้คงอยู่ในสภาพเดิมของดินก็ไม่มีแล้ว เมื่อลมหายไปความทรงตัวอยู่ของธาตุดินก็ไม่มีแล้ว เมื่อไฟดับไปความหลอมรวมสภาพไรๆของดินก็ไม่มีแล้ว
    - จากนั้นไม่นานธาตุดินที่เป็นอวัยวะส่วนนั้นๆก็เสื่อมโทรมแปรเปลี่ยนและดับสลายไปในที่สุด

๒. แม้ในธาตุน้ำ ลม ไฟ ก็พิจารณาในกายอย่างนี้เป็นต้นส่วนเอกลักษณ์คุณลักษณะใดๆของธาตุ น้ำ ลม ไฟ ก็มีดังรูปที่ผมคัดลอกมาจากท่านณัฐพลศรแล้วจึงไม่ต้องอธิบายซ้ำซ้อนนะครับ จะยกตัวอย่างเพียงคราวๆที่พอไว้เป็นแนวคิดพิจารณาดังนี้
    ๒.๑ ก็ดูจากภายนอก เช่น ปัสสาวะที่เราฉี่ออกมา น้ำมูกที่เราสั่งออกมา น้ำตาที่ไหลออกมา น้ำเลือด น้ำหนองที่ไหลออกมาลองสัมผัสดูว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เอกลักษณฺ์ของมันคือ ความเอิบอาบ ซาบซ่าน เกาะกุม เหมือนกันหมดใช่ไหม นั่นคือเอกลักษณ์ของธาตุน้ำ ในกายเรานี้ก็ประกอบไปด้วยน้ำอันเกาะกุมซาบซ่านให้คงสภาพกายรวมกันไว้อยู่ฉะนี้แล
    ๒.๒ เมื่อเราดูภายนอกคงเคยเห็นลมพัดเข้าออกถ้ำหรือภายในบ้านมันเคลื่อนตัวตรึงไหวพัดผ่านเราไปอย่างไร แม้ในกายเราก็มีอย่างนั้นภายในกายเราเหมือนถ้ำหรือบ้านให้ลมพัดผ่านเคลื่อนตัว ดั่งลมในกระเพาะอาหารมันจะมีความพัดขึ้นเคลื่อนตัวออกมาทำให้เราเรอออกมา หรือ ลมที่พัดลงลมในสำไส้ที่ออกมาเป็นตดเราจะรู้ความเคลื่อนตัวตึงไหวของมันได้ใช่ไหมครับ อันนี้เราทุกคนรู้สึกได้
    ๒.๓ เมื่อเราดูภายนอกเราย่อมเห็นไปที่เผาไหม้ เผาผลาญ ลุกโชนหลอมละลายรวมตัวกันไม่ว่าสิ่งใดๆทั้ง หิน เหล็ก น้ำมัน ไม้บ้าง มันหลอมได้หมดทุกอย่าง สภาพที่เราพอจะรู้สึกกับไฟได้คือมีสภาพร้อน แผดเผา ทำให้แสบร้อนบ้าง หรือ ภายนอกที่เป็นสภาพอากาศอุณหภูมิมันก็มีสภาพที่ทำให้ทั้งร้อน อบอุ่น และ เย็น ดังนี้ แม้ในกายเราไฟอันเป็นธาตุที่หล่อหลอมอยู่ก็มีสภาพเช่นนี้ คอยย่อยเผาผลาญอาหารบ้าง คอยปรับสภาพอุณหภูมิ หรือ ความอบอุ่น ร้อน เย็นในกายบ้าง ลองจับแขน จับแกล้ม เอามือแตะหน้าผาก หรือเอามือไปรองฉี่ที่เราเพิ่งฉี่ออกมา หรือเมื่อเลือดออกลองเอามือไปแต่เลือดดู จะเห็นว่ามันมีสภาพอุ่นบ้าง ร้อนบ้าง เย็นบ้างเป็นต้นออกมาจากกายเรานี้ เมื่อสภาพที่ไฟมีมากอันไม่สมดุลย์กับธาตุอื่นในกายก็เป็นเหตุให้เป็นไข้ ตัวร้อนบ้างเป็นต้น
 
ลองพิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆก็จะเห็นความแยกเป็นธาตุในกายเราอันแม้ยังทรงบัญญัติอยู่ก็ตาม ดังตัวอย่างการพิจารณาของธาตุดินที่เป็นอวัยวะทั้งหลายในกายเรา ที่มีเกิดขึ้นในกายเราอย่างนี้ เราก็จะเริ่มเห็นว่ากายเหล่านี้มันประกอบไปด้วยธาตุ ๕ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศอันเป็นที่ว่าง-ช่องว่างหรือเป็นรูกวงในกายเรานี้ อาศัยกันเกิดขึ้นเพื่อยังทรงสภาพหลอมรวมเกาะกุมเคลื่อนตัวพยุงกันอยู่ มีวิญญาณธาตุอันเป็นธาตุรู้ดังนี้ จึงรวมเป็น ๖ ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ หลอมรวมอาศัยกันขึ้นมาเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ไม่มีตัวตนบุคคลใดที่เป็นนอกจากนี้ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรเปลี่ยนเสื่อมโทรม และ สูญสลายดับไปในที่สุด เหมือนพิจารณาเห็นในอสุภะกรรมฐานเราจักเห็นความเสื่อมโทรมและสูญสลายไปในที่สุดของร่างกาย อวัยวะ อาการทั้ง 32 ไรๆ อันเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ทั้งปวงในกายนี้ จำแนกอยู่เป็นประจำเนืองๆจะเข้าเห็นได้ถึงธาตุภายในกายด้วยประการเบื้องต้นดังนี้

เพิ่มเติมการพิจารณาธาตุด้วยการเพ่งกสินธาตุเทียบเคียง

- อีกประการหนึ่งการจะให้มองเห็นเป็นธาตุนั้น โดยอาศัยการเพ่งกสิน เพื่อดับกามคุณ๕ เห็นเป็นธาตุ เช่น เพ่งธาตุดิน มีผลออกมาจะเห็นร่างกายของคนเป็นดินไปหมด (ซึ่งอานิสงส์จากการเพ่งกสินดินนี้ผมพบเจอมาด้วยตนเอง) ลองเพ่งกสินดินดูด้วยน้อมระลึกให้เห็นโทษของกามคุณ๕ เพื่อให้ละกามราคะได้ ให้เจริญเพ่งในกสินดังนี้ครับ
๑. โดยให้พึงเอาวงกสินดินมาเพ่งจนจดจำได้แม้ลืมตาหลับตาแล้วเพ่งระลึกไป จากนั้นก็พึงเพ่งดูรูปหรือนิมิตของวงกสินนั้นไปเรื่อยๆ พร้อมบริกรรมว่า ปฐวี กสินัง ดินๆๆๆๆ เริ่มแรกให้ทำเช่นนี้ไปก่อนจนสามารถเพ่งดวงกสินแล้วจิตรวมสงบลงได้ ในนิมิตที่เพ่งนั้นเราก็สามารถบังคับให้เล็กใหญ่ตามใจได้ เมื่อเราจะพึงระลึกนึกถึงเมื่อไหร่ก็เห็นนิมิตภาพวงกสินนั้นได้ทันที แล้วพึงเห็นภาพนิมิตนั้นได้นานตามปารถนา ทำให้ได้ตามนี้ก่อน
๒. ทีนี้เมื่อเรามองดูกายตนก็เพ่งดูเทียบพร้อมรำลึกถึงภาพดวงกสินดินนั้น แล้วบริกรรมว่า ปฐวี กสินัง ดินๆๆๆๆ เริ่มต้นอย่างนี้ไปเป็นการใช้กสินให้เห็นเป็นธาตุไม่ใช่เอาอภิญญา ซึ่งผมพลิกแพลงใช้เพื่อละกามราคะ อาจจะต่างจากครูบาอาจารย์ที่สอนในวิธีเจริญอภิญญา ซึ่งท่านสามารถทำน้ำให้เป็นดินได้ ทำดินให้เป็นน้ำได้
(รายละเอียดการเพ่งในแบบอภิญญาทั้งหลายมีสอนจากครูบาอาจารย์มากมาย โดยเฉพาะของพระราชพรหมญาณ ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์สายอภิญญา)





« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 04, 2014, 07:30:28 PM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #10 เมื่อ: ธันวาคม 04, 2014, 04:31:31 PM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๒

เมื่อตรึกนึกคิด หวนคำนึงถึงปรุงแต่งผัสสะทางใจแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ)



- พระตถาคตตรัสสอนว่า ให้เห็นว่าสักแต่เเพียงสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้เป็นไป
- พระตถาคตตรัสสอนว่า ให้เห็นว่าสักแต่เป็นเพียงความคิด
- พระตถาคตตรัสสอนว่า ให้เห็นว่าสักแต่เป็นเพียงธรรมารมณ์ที่เป็นอกุศลลามกจัญไรที่ไม่ควรเสพย์ ดังนั้นให้มีสติรู้แยกแยะถูกผิด ดีชั่ว แล้วเลือกสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ปราศจากทุกข์ นั่นคือ เลือกธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์
- พระตถาคตตรัสสอนว่า ให้ละความพอใจยินดีและไม่พอใจยินดี อันทำให้เกิดความกำหนัดฝักใฝ่หมกมุ่นถวิลหาใคร่ที่จะเสพย์เมถุนกับบุคคลที่เรานั้นกำลังตรึกนึกคิดถึงเขาอยู่นั้นๆไปเสีย ละความตรึกนึก และ บุคคลเรื่องราวที่ตรึกนึกนั้นๆไปเสีย เหล่านั้นไปเสีย สิ่งที่นึกนั้นไม่จริงสักแต่เป็นเพียงนิมิตที่เราปรุงแต่งเรื่องราวสร้างขึ้นโดยอาศัยความจำได้จำไว้ปรุงแต่งประกอบเข้าไปเท่านั้น โดยทั้งๆที่ความจริงแล้ว เขาไม่ได้มายุ่งเกี่ยวหรือกระทำการใดๆรู้สึกใดๆกับเราเลย เราบ้าเสพย์ความคิดตนเองไปเท่านั้นทั้งที่ไม่จริง ติดอยู่ในโลกแห่งความคิดหรือโลกส่วนตัวนั้นๆก็เป็นดั่งคนบ้าขาดสติลุ่มหลงเพ้อฝันเท่านั้น กลับมาอยู่กับปัจจุบันโลกแห่งความจริง



ด้วยวิเคราะห์เห็นตามพระธรรมคำสอนดังนั้นแล้ว ตัวเราจึงตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจโดยหมาย วิธีดับราคะ เมื่อเกิดความตรึกนึกคำนึงถึง ดังนี้คือ

- ธรรมดาสิ่งที่ล่วงมาแล้ว สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ย่อมอาศัยความตรึกนึกอันไปไปในราคะกำหนัดในเมถุน(ความมีเพศสัมพันธ์)ทำให้เกิดความปรุงแต่งเสพย์อารมณ์อันเป็นไปในราคะตามความติดใจเพลิดเพลินนั้นๆ ดังนั้นเมื่อจะละก็ละที่ความคิด
- เมื่อพิจารณาเห็นในธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์ตามจริงดังนั้น ตัวเราจึงเห็นโทษของอกุศลวิตก จึงได้ตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจโดยหมายใน เนกขัมมวิตก ความตริในทางพรากจากกาม , ความนึกคิดในทางเสียสละ ไม่ติดในการปรนปรือสนองความอยากของตน ดังนี้คือ

๑. เริ่มแรกสุดเลยให้พึงละอกุศลและทำกุศลให้เกิดขึ้น ด้วยถือใน เนกขัมมะ คือ การบวช ถ้าปุถุชนฆราวาสทั่วไปก็ให้ตั้งจิตมั่นบวชใจ ซึ่งจะทำได้สำเร็จดีนั้น เราก็ต้องมี ศรัทธา คือ ความเชื่อด้วยปัญญาพิจารณาเห็นได้จากความเป็นเหตุเป็นผลตรวจสอบได้ตามจริง ไม่มีความครางแครงใจสงสัยอีก โดยเริ่มจาก เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก่อน เมื่อเชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็ต้องเชื่อในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่าศีลเป็นฐานที่ตั้งแห่งกุศล ศีลเป็นรากฐานของทุกอย่าง เพรามีศีล สมาธิจึงเกิดมีได้ เพราะมีสมาธิ ปัญญาญาณจึงเกิดมีได้ เพราะมีปัญญา(สัมมาญาณรวมถึงโพชฌงค์ ๗) วิมุตติความหลุดพ้นจึงมีได้..ดังนี้ เปรียบดั่งต้นไม้  เพราะมีรากอยู่จึงจะเจริญงอกงามแผ่กิ่งก้านสาขาออกดอกออกผลได้ เปรียบศีลเป็นดั่งรากต้นไม้ หากรากดีแน่นหนา ลำต้นของต้นไม้จึงจะเจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาได้ เปรียบสมาธิเป็นดั่งลำต้นของต้นไม้นั้น เมื่อมีศีลที่ดีหยั่งรากลึกแน่นหนาสมาธิจึงจะเจริญงอกงามแผ่กระจายงอกงามดุจกิ่งก้านสาขาขึ้นปกคลุมลำต้นให้งดงามใหญ่โตเป็นร่มเงาขึ้นมาได้ เปรียบดอกผลเป็นดั่งปัญญาญาณ เพราะมีกิ่งก้านสาขาเติบโตขึ้นมาแผ่กระจากปกคลุมจึงเกิดผลิดอกออกผมขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีสมาธิคือกิ่งก้านสาขา มีแต่ลำต้นก็ไม่มีทางหรือเป็นไปได้ยากที่ต้นไม้นั้นจะผลิดอกออกผล เพราะดอกผลของต้นไม้นั้นย่อมขึ้นอยู่ตามกิ่งก้านใบสาขาที่แผ่กระจายออกมา ดังนั้นถ้าไม่มีสมาธิก็ยากที่จะเกิดปัญญารู้เห็นตามจริงโดยปราศจากความคิดอนุมานคาดคะเนได้ ดังนั้นเมื่อรู้เห็นดังนี้ มีความศรัทธาในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็ต้องเชื่อและศรัทธาตามจริงว่า ศีล เป็นฐานให้เกิดสมาธิ ศีลที่บริบูรณ์ดีแล้วจึงจะสร้างสมาธิได้ เมื่อศรัทธาอย่างนี้ก็จะเกิดเป็นกำลังใจ เรียกว่า พละ มีศรัทธาพละเป็นต้น ทำให้เรามีความตั้งจิตมั่นที่จะดำรงในศีล เกิดเป็นวิริยะพละ กำลังใจแห่งความเพียรที่จะกระทำ ยิ่งถ้าทำแลเวได้ผลดีก็ก่อให้เกิดฉันทะอิทธิบาท ๔ พอใจยินดีที่จะมีศีลดำรงศีล ยิ่งเป็นศีลข้อใดที่เราให้ความสำคัญไว้มากอยากจะให้เกิดความบริสุทธิ์มีมากในศีลข้อนั้น แล้วเมื่อเราทำได้ก็ยิ่งจะทำใหัเรามีความยินดีมากที่เราทำได้นั้น เป็นบ่อเกิดแห่ง วิริยะอิธิบาท ๔ นั้นมีเต็มกำลังใจเสริมให้มีวิริยะพละมากขึ้นไปอีก ทำให้เกิดมีใน จิตตะ และ วิมังสา แห่งอิทธิบาท ๔ สืบต่อมา ทำให้เกิดขึ้นมาซึ่ง สัมมัปปะธาน ๔ คือ ความเพียรที่จะละอกุศลที่ยังไม่เกิดหรือเกิดขึ้นแล้ว และ สร้างกุศลให้เกิดขึ้นแล้วคงรักษาไว้ไม่ให้เสื่อม โดยอาศัยสติคอยระลึกรู้แลดูจิตตนตลอดเวลา มีสัมปะชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบันขณะ เป็นผลให้เกิดมีสติสัมปะชัญญะที่พอควร ทำให้เกิดสมาธิที่พอควรได้ด้วย เหตุดังนี้เป็นต้น

ทีนี้ก็ให้เราตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจว่า

๑.๑ ถือเนกขัมมะ คือ บวช ตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจว่า เราจักถือศีลข้อ อพรหมะจริยา เวระมณี สิกขา คือ จะละเว้นซึ่งสิ่งไรๆที่จะพรากพรหมจรรย์ไป เช่น
ก.ไม่คิดกับผู้อื่นหรือเพศตรงด้วยจิตอันฝักใฝ่ใคร่ปารถนาน้อมไปในเรื่องเมถุน, ไม่คิดถึงผูัอื่นด้วยใจที่น้อมไปด้วยความฝักใฝ่หมายใจไว้มั่นในเรื่องเมถุน, ไม่คิดถึงผู้อื่นด้วยใจทึ่หมกมุ่นในราคะเมถุน
ข.ไม่มองเพศตรงข้ามด้วยความมีใจน้อมไปในความฝักใฝ่ใคร่ถวิลหา หมายใจปารถนาใคร่ในเมถุนต่อเขา
ค.ไม่พูดกับเพศตรงข้ามในเชิงชู้สาว คือ สนทนาด้วยความมีใจใคร่ปารถนา หมายมั่นด้วยใจใฝ่จะให้เป็นไปในเมถุน
ง.ไม่ถูกต้องสัมผัสกายเพศตรงข้ามด้วยความมีใจน้อมฝักใฝ่ปารถนาหมายมั่นใคร่ใจในเมถุน, ไม่กระทำหรือแกล้งทำการอันใดให้น้ำอสุจิเคลื่อน, เว้นจากการเสพย์เมถุน

- ให้ตั้งจิตมั่นที่จะดำรงกาย วาจา ใจดังนี้ โดยให้เริ่มจากกำหนดวันและเวลาจากน้อยไปหามากจนถึงตลอดชีวิต

อานิสงส์ คือ มีสมาธิจากศีลอุโบสถ จิตละความฝักใฝ่ในเมถุน
อีกทางคือมีสมาธิอันเอื้อต่อสติ ทำให้สติมีกำลังมากพอที่จะดำเนินไปในอาการ ๒ คือ
ก.แยกแยะสิ่งที่ดีหรือไม่ดี กุสลหรือกุศล ถูกหรือผิด มีประโยชน์หรือไม่มีประโยน์
ข.เลือกเฟ้นทางที่ดีเป็นกุศลประกอบไปด้วยประโยชน์

๑.๒ ถือเนกขัมมะ คือ บวช ตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจว่า เราจักถือศีลข้อ วิกาลโภชนา เวระมณี สิกขา คือ จะละเว้นการกินข้าวเมื่อเวลาเที่ยงตรง หรือ เวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นตรงหัว กล่าวคือกินตอนเช้าเมื่อแดดออกเห็นเงามือและเวลาเพลก่อนเที่ยงตะวันตรงหัว แต่หากเข้างานกะ ให้ตั้งจิตทำดั่งพระตถาคตตรัสสอนว่า จะกินเพียงมื้อเดียวหรือสองมื้อ โดยระลึกว่ากินเพื่อยังชีพอยู่เท่านั้น ไม่กินตามความเพลิดเพลินอิ่มหนำสำราย คือ นึกได้ก็กินบ้าง อยากตอนไหนก็กินบ้างเป็นต้น

อานิสงส์ คือ มีสมาธิจากศีลอุโบสถ จิตละความฝักใฝ่ในเมถุน เพราะไม่อยู่ด้วยความอิ่มสำราญทำให้จิตที่จะไปตรึกนึกถึงมีเมถุนน้อย เพราะไมีมีกำลังจะไปตรึกถึงถึงเมถุน อีกทางคือมีสมาธิอันเอื้อต่อสติ ทำให้สติมีกำลังมากพอที่จะดำเนินไปในอาการ ๒ คือ
ก.แยกแยะสิ่งที่ดีหรือไม่ดี กุสลหรือกุศล ถูกหรือผิด มีประโยชน์หรือไม่มีประโยน์
ข.เลือกเฟ้นทางที่ดีเป็นกุศลประกอบไปด้วยประโยชน์



๒. พึงดึงสติขึ้รกรรมฐาน เช่น ระลึกถึงพุทธคุณ ระลึกรู้ลมหายใจเข้าออกเป็นต้น

๒.๑ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ว่าด้วยคุณแห่ง อรหัง คือ ความที่พระพุทธเจ้านั้นได้ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิงแล้ว กำหนดนิมิตว่าพระตถาคตแผ่เอาคุณนั้นมาสู่ตน เพื่อให้ตนสลัดกิเลสทิ้งได้

๒.๒. ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ว่าด้วยคุณแห่ง พุทโธ คือ ความที่พระพุทธเจ้านั้น เป็นผู้รู้ คือ สู้ว่าเป็นสมมติบัญญัติ รู้ทางหลุดพ้นจากสมมตินั้นๆ ผู้ตื่น คือ ตื่นจากความหลงมัวเมาคือโมหะ ผู้เบิกบาน คือ พ้นแล้วจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองได้บรรลุบทที่พระพุทธเจ้านั้นทำโดยบริบูรณ์ดีแล้ว กำหนดนิมิตว่าพระตถาคตแผ่เอาคุณนั้นมาสู่ตน เพื่อให้ตนสลัดกิเลสทิ้งได้

๒.๓. เพื่อให้ตนสลัดกิเลสทิ้งได้ ก็ให้ระถึงว่าเราถึงซึ่งพระนิพพานที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนชีทางให้แล้ว แล้วคนที่จะไปนิพพานได้ก็ต้องมีคุณที่ควรแก่การไปถึง คือ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ่นแล้ว สลัดคืนกิงขันธ์ทั้งปวงแล้ว ว่างจากกิเลสทั้งปวงแล้ว ระลึกถงคสามว่างจากกิเลส ให้ระลึกเอาความว่างโล่งในสมองปราศจากความตรึกนึก คือ
- มีอุเปกขาสัมโพชฌงค์ ความว่างอันมีวิราคะเป็นที่ตั้ง หรือ จะระลึกถึงความว่างในอุเปกขาฌาณที่ว่างสงบปราศจากความปรุงแต่งไรๆ



๓. ให้ตั้งจิตระลึกรู้เห็นตามจริงว่า เขาไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา สักแต่เป็นเพียงความคิดเป็นมโนภาพที่เราตรึกนึกปรุงแต่งสร้างเรื่องราวต่างๆขึ้นมาตามความรักใคร่พอใจยินดีของตนเท่านั้น มิใช่ความจริงเลย จากนั้นให้พึงกำหนดรู้ว่า ความหมายที่จะเสพย์เมถุน กระทำการเสพย์เมถุนพระพุทธเจ้าตรัสว่าเหมือนโรคเรื้อน ไม่ว่าจะแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน หรือ เสพย์เมถุน ต่างก็ติดในความเพลิดเพลินนั้น เกิดความใฝ่หาและกระทำตามความต้องการนั้นๆเรื่อย เป็นเหตุให้จิตใจเศร้าหมอง กายก็ทรุดโทรมเป็นโรค เป็นแผล เป็นฝี เป็นหนอง เป็นสังคังยิ่งเกายิ่งมันยิ่งคันยิ่งเกา ยิ่งเกามากเท่าไหร่ก็ยิ่งเกิดแผลผุพองติดเชื้อลามไปมากเท่านั้น บ้างฉี่บ่อย บ้านเป็นหนองใน บ้างเป็นเอดส์ บ้างเป็นฝีมะม่วง เมื่อเกิดโรคเหล่านี้เราก็จะไม่สามารถปฏิบัติธรรมเพื่ออกจากทุกข์ได้ หรือ จะต้องใช้ชีวิตลำบาก หรือต้องตายเป็นต้น จะเห้นว่าผลเสียมากมายนักเพื่อแลกกับแค่น้ำอสุจินั้นเคลื่อนจากการแกล้งทำบ้างหรือเสพย์เมถุนบ้าง ดังนั้นเราก็ควรพึงละความกำหนัด ใคร่ปารถนา ฝักใฝ่ หมกมุ่น ถวิลหาที่จะได้เสพย์ในอารมณ์ความรู้สึกนั้นๆไปเสีย



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 04, 2014, 04:39:28 PM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #11 เมื่อ: ธันวาคม 04, 2014, 04:31:40 PM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๓

ละโดย พรหมวิหาร ๔ เมื่อรู้ผัสสะทางสฬายตนะแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ)



  เมื่อมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ต้องสัมผัสกาย หรือตรึกนึกถึง หวนคำนึงถึงปรุงแต่งจากความจำได้จำไว้ หมายมั่นใจให้น้อมไปเสพย์อารมณ์ในราคะเมถุนต่อผู้อื่น ก็ให้เราพึงละจิตอันเบียดเบียนเขาด้วยความกำหนัดราคะนั้นๆไปเสีย โดยพึงตั้งจิตมั่นระลึกทำไว้ในใจว่าเราจักไม่เบียดเบียนทำร้ายเขาให้มังหมองกายใจดังนี้
๑. เขาก็อยู่ของเขาดีๆแล้วแต่เรานี้เองเข้าไปตั้งความกำหนัดราคะอันมัวหมองนั้นแก่เขา
๒. เขามีชีวิตที่งดงามเบิกบานดีแล้ว เราจะนำความมัวหมองและทุกข์ไปหยั่งเอาเขาเพื่ออะไร เขาไม่ควรถูกต้องความมัวหมองจากเรา
๓. มองย้อนกลับมาสู่ตนก็จะเห็นว่า เรามีอารมณ์ความคิดความรู้สึกอย่างนี้ๆ เมื่อจะเพิกมองผู้ใดก็มักจะมองคนอื่นเป็นอย่างที่ตนคิดตนเป็นอย่างนั้น ตนมีราคะเมถุนก็มักจะมองคนอื่นมีราคะเมถุนเหมือนกัน แล้วก็ตรึกนึกปรุงแต่งเรื่องราวไปทั่วตามจิตตนที่เสพย์อารมณ์ทางใจอยู๋นั้น จึงเป็นคำกล่าวที่ว่า "ตนเป็นเช่นไร-ก็ย่อมจะมองคนอื่นอย่างนั้น..มันเป็นอย่างนี้แหละ" ทีนี้ "เมื่อเราจิตเป็นกุศล-ก็จะมองคนอื่นด้วยกุศลดังนี้"

  เมื่อรู้ว่าสิ่งใดที่เราควรละและสิ่งใดที่เราควรทำควรเจริญให้มากแล้ว ก็ให้เจริญปฏิบัติดังนี้

- ตั้งจิตแผ่ด้วยใจปารถนาให้เรานั้นเป็นผู้มีความสุขกายสุขใจแจ่มใสเบิกบาน ปราศจากความทุกข์ สงัดจากกามราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เครื่องแห่งความร้อนรุ่มร้อนรนใจใดๆเหล่านี้ทั้งสิ้นไป โดยพึงระลึกว่า

๑. การที่เราเพียงแค่รู้ผัสสะทางสฬายตนะ เช่น มองเห็นเขาด้วยตาทั้งๆที่เขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้นไม่ได้มาใฝ่ใจในเมถุนกับเราเลย มีแต่เราที่ใฝ่ในเมถุนแล้วก็เร่าร้อนกายใจใคร่ที่จะเสพย์ในเมถุน เราเป็นผู้ถูกทุกข์หยั่งเอาแล้ว เราควรสงสารตัวเองให้มาก แล้วปารถนาให้ตนได้เป็นสุขหลุดพ้นจากทุกข์อันเร่าร้อนนั้นเสีย
๒. หากเราจะแกล้งทำให้น้ำอะสุจิเคลื่อน ก็ให้พึงระลึกว่า นี่น่ะเราเสพย์ติดในความคิดปรุงแต่งด้วยความฝักใฝ่ในเมถุนของตน จนตนเองต้องมาเร่าร้อน ทั้งๆที่เขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้น อยู่ที่ไหนทำอะไรอยู่ก็ไม่รู้ ไม่ได้มาเสพย์เมถุนกับเราเลยสักนิด เราปรุงแต่งความคิดอนุมานคาดคะเนสร้างเรื่องราวไปเมถุนไปทั่วเองทั้งหมดไม่ใช่เรื่องจริงเลย ดูสิว่าน่าสงสารตนเองที่เสพย์ติดอยู่กับความคิดไหม ทำให้ตนเองเร่าร้อนมัวหมองเปล่าๆ เราต้องสงสารตัวเองที่เร่าร้อนลุ่มหลงเพราะราคะเมถุนให้มากๆ
๓. เมื่อเราสงสารตัวเอง ก็เจริญจิตระลึกน้อมถึงคุณแห่งความเป็น อรหัง คือ ดับสิ้นเพลิงกิเลสทุกข์ และ พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น จากความลุ่มหลงมัวเมาในกิเลส สมมติ บัญญัติ ทรงได้ตื่นจากโมหะแล้ว ผู้เบิกบาน บริสุทธิ์บริบูรณ ์ดีแล้วนั้นแผ่มาสู่ตน เมื่อสงบใจได้ก็ให้พึงแผ่เมตตาให้ตนเองด้วยใจปารถนาให้ตนเป็นสุขพ้นจากกิเลสทุกข์ ไม่หลงอยู่ในกิเลสเครื่องลุ่มหลงมัวเมา ไม่ลุ่มหลงในสมมติบัญญัติอีก

- ตั้งจิตแผ่ให้ตนเองด้วยความปารถนาให้เรานั้นเป็นผู้ไม่ติดใคร่ฝักใฝ่ปารนาใคร่ได้ที่จะเสพย์ในเมถุน ปารถาให้เราไม่คิดเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วยราคะเมถุน ปารนาให้เราไม่ดำรงจิตอยู่ด้วยความหมายมั่นใจขลุกใคร่ที่จะพรากพรหมจรรย์ของตนเองและผู้อื่น
- ตั้งจิตแผ่ให้เราจงเป็นไม่ผูกเวรไม่ผูกโกรธไม่ผูกแค้น ไม่ผูกพยาบาทอาฆาตมาดร้าย ไม่มีความเบียดเบียนหมายที่จะทำลายให้เขาฉิบหาย
- ตั้งจิตแผ่ขอให้เราเป็นผู้มีจิตเป็นสุขกุศลแจ่มใสเบิกบานอันสลัดจากกิเลสทุกข์ทั้งปวงแล้ว
- ตั้งจิตแผ่ขอให้เรานั้นจงเป็นผู้ มีอยู่ คงอยู่ รักษาอยู่ ซึ่งกายวาจาใจอันเป็นไปในกุศล ศีล+พรหมวิหาร ๔+ทาน+สมาธิ+สัมปชัญญะ+สติ+ปัญญา จนเข้าถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ฯลฯ



  เมื่อแผ่เมตตาให้ตนเองจนสงบใจได้แล้วความร้อนรุ่มใจย่อมถูกสลัดทิ้งไปเพราะความกำหนัดยินดีปารถนาใคร่ได้ที่จะเสพย์ในเมถุนอกุศลธรรมอันลามกจัญไรเหล่านั้นได้ถูกขจัดทิ้งหมดแล้วในใจเราในขณะนี้ ความผ่องใสจิตย่อมเกิดขึ้น จิตเป็นกุศลมากขึ้น "เมื่อจิตเราเป็นกุศล-ก็จะมองผู้อื่นด้วยกุศลเอ็นดูปารถนาดีอันน้อมไปในการสละ" จากนั้นให้ตั้งจิตทำไว้ในใจดังนี้ว่า

๑. พระตถาคตตรัสสอนอยู่เสมอๆให้สาวกทั้งหลายทำไส้ในใจ มีรูป มีอาการทั้ง ๓๒ ประการ มีปฐวีธาตุเสมอเหมือนด้วยเราเป็นต้น เป็นอารมณ์ แล้วทำไว้ในใจว่าเราจักมีความเอ็นดูปรานีปารถนาดีต่อคนและสัตว์ทั้งปวงบนโลกนี้ มีความพอใจยินดีที่คนอื่นเป็นสุขปราศจากทุกข์ ได้หลุดพ้นจากทุกข์ ยินดีเมื่อเขามีกายใจเบิกบานไม่เศร้าหมองด้วยกิเลสกามราคะทั้งปวง ด้วยเหตุดังนี้แล้ว เขาก็อยู่ของเขาปกติดีอยู่แล้ว ถึวเขาจะเคยทำผิดพลั้งหรือกำลังทำกายใจตนให้มัวหมองอยู่หรือไม่ก็ตามแต่ เราควรที่จะละจากการเอาอกุศลธรรมอันลามกจัญไรไปใส่ทับถมเขาเพิ่มเติม เพื่อความไม่ซ้ำเติมให้เขามัวหมองมากขึ้นไปอีก ดังนั้นเราผู้เป็นสาวกของพระตถาคตก็ควรยินดีที่จะทำให้เขาไม่เศร้าหมองกายใจ ไม่เอากิเลสทุกจ์อุนเศร้าหมองกายและใจไปหยั่งลงเขา
๒. เมื่อพิจารณาเห็นตามนี้แล้ว ให้เราพึงเจริญจิตขึ้นมีรูป คือ คนๆนั้น บุคลนั้นๆ เป็นสิ่งที่งดงามอันมีอยู่ในโลก เป็นอาการทั้ง 32 ประการเสมอเหมือนด้วยเรา ไม่ควรต่อความมัวหมองที่เราจะเอาไปหยั่งลงสู่เขา ควรที่เรานั้นจะมีความเอ็นดูปรานี ปารถนาดีอยากใหัเขาเป็นสุขปราศจากมลทินเครื่องมัวหมองอันเป็นทุกข์เร่าร้อนทั้งปวง เป็นสิ่งที่เขานั้นควรมี ควรเป็น ควรได้รับ เสมอด้วยตัวเราปารถนาจะได้มีได้รับความสุขอันบริสุทธิ์บริบูรณ์นั้น

  แล้วพึงตั้งจิตเจริญขึ้นด้วยความปารถนาดีต่อเขาอยากให้เขาเป็นสุขปราศจากกาม ราคะ โทสะ โมหะ ใดๆมาคลุกคลามกายและใจเขา เจริญจิตขึ้นแผ่เมตตาจิตต่อเขา ซึ่งการจะเข้าถึงซึ่งการจะแผ่เมตตาให้บุคคลที่เรามีจิตฝักใฝ่ในเมถุนนี้ได้นั้นเราก็ต้องมีเจตนาดังนี้คือ
๑. ตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจที่จะถึงในพรหมจรรย์ คือ เจตนาที่จะถือเนกขัมมะ มีศีลขอ "อพรัหมมะจริยา เวระมณี สิกขา" นั่นคือ ไม่พรากหรือทำลายเพศพรหมจรรย์ของตนเองหรือผู้อื่น, ไม่แลมองเขาด้วยจิตที่ฝักใฝ่หมกมุ่นใคร่ปารถนาในเมถุน,  ไม่พูดคุยกับเขาในเชิงชู้สาว คือ ไม่พูดคุยกับเขาด้วยความที่เรามีจิตน้อมไปในความกำหนัดฝักใฝ่ปารถนาหมกมุ่นคลุกใคร่ถวิลหาที่จะเสพย์เมถุนต่อเขา, ไม่ต้องสัมผัสกายเขาด้วยใจน้อมฝักใฝ่หมายมั่นใจใคร่ในเมถุน, ไม่แกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน,  ไม่เสพย์เมถุน
๒. ตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจปารถนาอยากให้เขาเป็นสุขปราศจากกิเลสทุกข์อันเร่าร้อนหยั่งลงคลุกคลามกายใจให้มัวหมอง ปารถนาให้เราและเขาเป็นมิตรที่ดีมีความเอ็นดูเอื้อเฟื้อต่อกันและกัน เห็นซึ่งกันและกันเป็นของงามอันควรแก่ความเอ็นดูปารถนาดีต่อกัน
- ด้วยความเห็นเป็นคนด้วยกัน
- เห็นเป็นสัตว์โลกด้วยกัน
- เป็นเพียงขันธ์ ๕ เหมือนกัน
- เป็นอาการทั้ง ๓๒ ประการอันมีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบเหมือนกัน
- เป็นกอง ๔ ที่มาประชุมกันมีธาตุดินเป็นต้นเหมือนกัน
- เป็นเพียงกองขันธ์กองธาตุ อันไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน อันเป็นที่ประชุมไว้แห่งทุกข์ทั้งปวงเหมือนกัน
ด้วยเหตุดังนี้ๆจึงควรแก่ความเอ็นดูปารถานาดีต่อกัน ดั่งเราอยากให้คนอื่นเป็นมิตรที่ดี มีจิตใจดีงาม คิดในทางที่ดีเป็นกุศลต่อเราและบุคคลอันเป็นที่รักของเรา ไม่มองเราและบุคคลที่เรารักและหวงแหนยิ่งด้วยความกำหนัดราคะหมายที่จะเสพย์ในเมถุนฉันนั้น แล้วแผ่เอาควงามเอ็นดูปรานีอยากให้เขาเป็นสุขได้หลุดพ้นจากกองกิเลสทุกข์ ไม่มีไฟราคะคลุกคลามกายและใจนั้นไปสู่เขา



- พึงตั้งเจตนามั่นมีความประสงค์ที่จะอนุเคราะห์เอื้อเฟื้อแบ่งปันสุขอันเป็นกุศลที่เจริญมาดีแล้วนี้ของเราให้แก่เขา ด้วยหวังให้เขาหลุดพ้นจากความมัวหมอง หม่นหมองไรๆ ปราศจากกาม ราคะ โทสะ โมหะ อันพึงมีเข้ามาคลุกคลามกายและใจเขานั้น ด้วยมีจิตตั้งอยู่ในความยินดีเมื่อเขาได้หลุดพ้นทุกข์แล้วได้รับความสุขนั้นๆจากเป็นต้น จากนั้นตั้งจิตทำไว้ในใจสละให้ซึ่งบุญกุศลทั้งปวงที่เราสะสมมาดีแล้วทำมาดีแล้วนี้ให้แก่เขาด้วยหวังให้เขาเป็นสุขแจ่มใสเบิกบานกายและใจ ปราศจากความร้อนรุ่มเศร้าหมองใจ ปราศจากเวรภัยอุปสรรคอันตรายใดๆทั้งปวง
- ฉันบุตรหลาน ญาติมิตร หรือ บุคคลอันเป็นที่รักนั้นจะพึงมีให้แก่กัน แล้วพึงละจิตอันประกอบด้วยราคะที่มีต่อเขานั้นลงเสีย เพื่อให้เขานั้นอยู่เป็นสุขอันดีไม่มีความมัวหมองจากอกุศลธรรมอันลามกนั้นๆของเรา สละกุศลธรรมอันที่เราสะสมมาดีแล้วให้แก่เขาด้วยอยากให้เขาเป็นสุขผ่องใสปราศจากเวรภัยจาก กาม ราคะ โทสะ โมหะ ไรๆมาเบียดเบียน จนถึงแก่ความเปลื้องจิตออกจารูป่ี่รู้ผัสสะอยู่นั้นิและเปลื้องจิตตนอันไม่ติดในรูปขันธ์หรือกองธาตุ ๔ ทั้งปวง มีธาตุดินเป็นต้น สละคืนซึ่งรูปขันธ์ อาการทั้ง ๓๒ ประการทิ้งไป เพิกจิตไปจับยึดเอาความว่าง หรือ สีอันบริสุทธิ์ เช่น สีเขียวที่สว่างสงบเย็นเป็นอารมณ์(สังเกตุดูแสงสว่างที่บริสุทธิ์มักจะมีประกายสะท้อนเป็นสีเขียว หรือเวลาที่เราเคยถึงสมาธิจดจ่อดีแล้ว เวลาเราจะเบิกจิตออกจากกาย เช่นคุยกันทางจิตบ้าง จิตเราจะทิ้งกายแล้วไปจับเอาสีๆในนิมิตสมาธินั้นมีเสียง อย่างนี้เป็นต้น) จากนั้นให้แผ่เอาจิตอันสงเคราะห์นี้ไปสู่เขา (ซึ่งที่เราเคยรับรู้สัมผัสได้นั้น(หากไม่หลงไปว่าถึง) จิตสงเคราะห์ของเราจะมีกำลังมากหาประมาณมิได้ไม่อยู่เพียงแค่กายแค่รูปแต่จะแผ่ทั่งไปหมด)



- เมื่อตั้งจิตแผ่ไปอย่างนี้ๆจิตอันร้อนรุ่มของเราก็จะดับไปและไม่มีจิตอันเป็นอกุศลธรรมอันลามกให้วิตกตรึกนึก เขาก็พ้นจากความเบียดเบียนอันเป็นไปในราคะอกุศลธรรมอันลามกจัญไรทั้งปวงเหล่านั้น เมื่อเราเข้าถึงความมีจิตเป็นสุขยินดีไปกับเขาเมื่อเขาเป็นปกติสุขแจ่มใสปราศจากกิเลสทุกข์อันมัวหมองกายและใจโดยปราศจากความริษยา จิตเราย่อมยังความผ่องใสยินดีโดยความไม่ติดข้องใจไรๆ ที่เราได้มีความเมตตา กรุณา มุทิตา(ขั้นต้น) และ ทาน นี้ๆให้แก่เขา โดยสละทิ้งซึ่งจิตอันเป็นราคะเมถุนที่เราเพลิดเพลินยินดีแต่ต้องทำให้เขามัวหมองไป ให้เป็นเมตตาทานอันประเสริฐแก่เขาได้พ้นจากทุกข์ภัยอันเบียดเบียนนั้น แล้วยังคงไว้ซึ่งความสะอาดบริสุทธิ์งดงามอันนั้นอยู่ จากนั้นให้เพิกจิตออกจากวามโล่งว่างที่แผ่สงเคราะห์ไปอยู่นั้น แล้วยกเอาจิตไปจับที่จิตที่ยินดีเป็นสุขไปกับเขานั้น



- จากนั้นพึงเห็นคนเรานั้น ไม่มีสิ่งใดคงอยู่นาน สุขและทุกข์เกิดดับๆบังคับให้เป็นสุขไม่มีทุกข์ก็ไม่ได้ พอไม่เป็นไปตามปารถนาก็ทุกข์เจอความพรัดพรากผิดหวังก็ทุกข์ ดังนั้นความไม่ยึดเหนี่ยวสิ่งไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ไม่ใข่เรา ไม่ใช่ของเราทั้งสิ้น เราจึงไม่ทุกข์ ก็เพิกจิตออกไปจากทุกสิ่งทุกอสิ่งทุกอย่างสละคืนสิ่งที่ยึดจับยึดเหนี่ยวอยู่ทั้งหมด ไม่ตั้งจิตยึดจับเอาอะไรเลยมาเป็นที่ตั้งแห่งจิต จนถึงซึ่งความว่าง



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 04, 2014, 04:35:15 PM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #12 เมื่อ: ธันวาคม 04, 2014, 04:32:26 PM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน

ละด้วยวิปัสสนา

ธรรมดับราคะมีศีลเป็นหลักเมื่อเพียรทำจะเกิดสติและสัมปะชัญญะขึ้นมาเองรองมาคือสมาธิที่ควรแก่งานมากขึ้น โดยจะมีการรู้ลมหายใจเป็นการสร้างกำชังให้สาาธิจดจ่อมากขึ้น   ซึ่งส่วนการฝึกนี้นั้นไม่ต้องอาศึย ยสมาธิมากก็ทำได้ แต่วิธีนี้จะสร้างสมาธเให้เอง

แต่ในส่วยวิปัสสนาต้องอาศัยสมาธิจึงรู้ได้ เพราะมันมีกิเลสอย่างละเอียด ถ้าอย่างหยาบมันก็เห็นง่าย ถ้าละเอียดต้องอาศัยสมาธิจึงจะเห็น ถ้าไม่ทำสมาธหรื้อไม่มีสมาธิถึงอ๕ปจารฌาณ ก็รู้และทำแค่นี้ก่อน แล้วปฏิบัติให้ชำนาญจะเกิดสติ+สัมปะชัญญะและสมาธิที่พอควรได้

นี่ก็ชื่อว่าทำในสัมมัปปธาน๔ โดยมีสติในศีลและลมหายใจกำกับอยู่ -> ให้ถึงสมาธิที่เป็นวิราคะเป็นผล

สมาธิที่ได้จะได้กับทั้งสติสัมปะชัญญะเกื้อหนุน และจาก พุทธานุสสติ อานาปานสติ อุปสมานุสสติ และ พรหมวิหาร๔ ได้เมตตาฌาณ

เมื่อได้ตามนี้ค่อยพิจารณาวิปัสสนาญาณคือให้รู้ตามมัน เริ่มจากความคิดก่อนว่าเป็นควาาคิดกุศลหรืออกุศล แต่คิดก็กำกับรู้ว่าคิด

แล้วค่อยๆจับเอาสภาพจริงคืออาการของจิต จากการเสพย์เสวยอารมณ์จากความคิดที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เริ่มจากอารมณ์หยาบก็จะเห็นง่าย ว่ามันมีอาการเป็นอย่างไร เช่น
- รื่นเริงบันเทิงใจ พอใจยินดีในอารมณ์นั้นๆ เพลิดเพลินใจ ปลื้มตื้นตัน พองฟูใจ ติดใจในความเพลิดเพลิน น่าใคร่ปารถนาในในอารมณ์นั้นๆ ฝักใฝ่หมายมั่นใจหมกมุ่นใคร่ยินดีในอารมณ์นั้นๆ เร่าร้อนกายใจอัดหวีดทะยานอยากจะมีจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ใจหวีด วูบวาบ วาบหวิวทะยานอยากใคร่ได้ที่จะเสพย์ในอารมณ์นั้นๆ
- ไม่สบายกายไม่สบายใจ ไม่พอใจยินดี ขุ่นมัวขัดใจ ขุ่นเคืองใจ เร่าร้อนอัดทะยานอยากใคร่ที่จะผลักไสอารมณ์นั้นๆให้ไกลจากตน
- มัวหมองใจ เศร้าหมองใจ ตรึงๆกายใจ หนักหน่วงไม่เบาโล่งกายใจ หม่นหมองใจ ไม่แจ่มใสเบิกบานผ่องใสกายและใจ
- แช่มชื่นกายใจ อิ่มเอม รื่นรมย์สบายกายและใจ สงบอบอุ่นแต่เบาโล่ง ร่มเย็นกายใจ จิตเบิกบานตั้งมั่น

เมื่อเริ่มจากอารมณ์หยาบก็จะเห็นง่ายจากการที่เราได้เสพย์เสวยอารมณ์ความรู้สึกนั้นๆไปแล้วจะเห็นง่าย พอเห็นแล้วก็สักแต่รู้อาการของมัน ไม่ให้ความหมายไรๆรู้แค่ว่ามีลักษณะอาการของกายและใจแบบนี้ๆเกิดขึ้นกับเราเท่านั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญหมายรู้ไรๆ รู้มันไปเรื่อยๆ

เมื่อสติมีกำลังพอควรแล้วรู้ในอาการนั้นแน่ชัดแล้ว พออารมณ์ใดอาการใดเกิดกลางๆอ่อนๆ สติก็จะรู้ทันทีพร้อมสัมปะชัญญะก่อนที่เราจะเสพย์มัน

พอเมื่อชำนาญแล้ว ทีนี้พอจากนั้น จิตเกิดดับ จิตก็จะรู้จิตเองทันที โดยไม่ต้องจ้อง ไม่ต้องเพ่ง ไม่ต้องบังคับให้มันไปรู้ จนเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดดับๆไม่หยุด แม้ตัวรู้ในสภาวะนั้นๆ แม้ปัญญาที่เกิดเห็นว่าไม่มีสิ่งใดเลยนอกจากสภาวะธรรมก็เกิดมารู้ รู้แล้วก็ดับ
แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ก็คือ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป วนเวียนอย่างนั้นไม่รู้จบตราบเท่าที่ยังขันธ์ ๕ นี้อยู่ก็เท่านั้น จนเกิดความคลายกำหนัดราคะในสิ่งทั้งปวง



- แม้ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นเพียง สมถะ เพียงแต่เปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่ใช้เพียงปัญญาจากความคิด(ปัญญาที่เกิดจากความคิด คือ สมถะ) ไปหัดใช้ปัญญาจากญาณ คือ สภาวะปัญญาที่เป็นไปในมรรค ๘ เป็นการอาศัยความเห็นตามจริงโดยปราศจากความคิดอนุมานเอาเข้าถึงทางแห่งมรรค ๘ นั่นเอง ซึ่งถ้ายังมีเจตนาที่จะทำอยู่ก็ยังเป็นสมถะไม่ถึงปัญญาญาณ ไม่ถึง สัมมาทิฐิ ยิ่งเจตนามากในสังขารทั้งปวง ก็ยิ่งติดในสังขารมากจนยึดถือตัดไม่ขาดแทงไม่ตลอด
- แต่ไม่ใช่ว่าต้องห้ามไม่ใช้เจตนาที่จะทำในกุศล นั่นก็เพราะว่า..เพราะอาศัยกุศลโดยเจตนานั้นแหละ ทำให้เป็นประจำจนถึงจริตสันดานของมัน ทำโดยความไม่ตั้งผล ไม่ปารถนาผลไว้ ทำให้มากเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งดีงาม ทำให้มากเพราะรู้ว่าคือกุศล จะเกิดจากเจตนาหรือไม่เจตนาก็ช่างมัน ทำไปเรื่อยๆตามครูบาอาจารย์สอนไม่เก่งเกินครู มันทำโดยเจตนาหรือไม่เราก็ช่างมัน สักแต่รู้ว่ามันดีเท่านั้น สักแต่รู้ตามสภาวะธรรมนี้ๆแบบนี้มันเกิดขึ้นแล้วดำเนินไปหรือดับไปแล้วเท่านั้น เมื่อทำให้มากแล้ว จิตก็จะรู้จิต จิตก็จะแลจิต จิตก็จะจับจิตของมันเอง คือ อยู่ๆเกิดขึ้นเอง จิตรวมเอง จิตเห็นจิตเอง จิตรู้จิตเอง โดยที่เราไม่ได้ตั้งเจตนาไรๆที่จะทำ ที่จะเห็น ที่จะได้ ที่จะรู้มันเลย อันนี้แหละคือ ปัญญาญาณ มันเกิดเอง รู้เอง ทรงสภาวะเอง ดำเนินไป แล้วดับไปเองเห็นจริงๆอยู่อย่างนี้ของมัน เรียก สัมมาทิฐิ นั่นคือ มรรค ๔ ได้เกิดแก่เราโดยปัญญาญาณแล้ว (มรรค ๔ คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ ได้แก่ มรรค ๔ และ ผล ๔)
- ถ้าเจตนาที่จะทำแต่ยังทำไม่ได้จนชินเป็นจริตสันดาน แล้วมันจะเกิดขึ้นมาได้เองโดยไม่เจตนาก็คงยาก พระพุทธเจ้าจึงตรัส ๔๐ กรรมฐานไว้เพื่อสิ่งนี้ เริ่มแรกให้เป็นไปโดยเจตนาเป็นสมถะ จนเมื่ออิ่มตัวแล้วสภาวะธรรมไรๆก็จะเริ่มเกิดขึ้นเองโดยที่ไม่เจตนามากขึ้นเรื่อยๆ สภาวะนี้ก็แค่เพียรรู้ตามไปเรื่อยๆ จากนั้นก็ละเจตนานั้นเสียเป็นวิปัสสนา จนรู้เห็นตามจริง..ดังนี้
ให้จดจำง่ายๆว่า เมื่อไหร่ที่คิดแล้วทำ-นั่นคือเจตนา / แต่เมื่อไหร่ที่สักแต่เพียงรู้แลดูกายใจอยู่เท่านั้น คือ มีสติ+สัมปชัญญะ ไม่มีความคิด ไม่มีความทำไว้ในใจ แค่สำเหนียกรู้แลดูอยู่เท่านั้นแล้วเห็นการกระทำปรุงแต่งของสังขารมัน นั่นแหละคือ ปัญญาในวิปัสสนา / เมื่อถอยออกจากสภาวะนั้นแล้ว ปัญญารู้ตรงนั้นก็ดับ แต่ความจำได้สำคัญหมายรู้ยังคงอยู่ เห็นความเกิดดับอยู่ ดังนี้


อธิบาย ปัญญา วิชชา ญาณ (หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ)

ปัญญา วิชชา ญาณ ๓ อย่างนี้ต่างกัน ถ้าจัดตามอริยสัจ ปัญญานั้นเป็นมรรค วิชชานั้นเป็นนิโรธ ส่วนญาณนั้นเป็นได้ทั้ง ๒ อย่างคื อวิปัสสนาญาณ นิพพิทาญาณ เช่นนี้เป็นมรรค ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ๓ อย่างนี้เป็น นิโรธ แม้ญาณ อื่น ๆ ที่เป็นมรรคก็เป็นปัญญา ส่วนที่เป็นผล ก็เป็นวิชชา หรือ นิโรธ




ปัญญา ความรู้แจ้ง แทงตลอด
ญาณ ความรู้แจ้ง ตามความเป็นจริง
วิชชา ความรู้แจ้ง
ยถาภูตญาณทัศศนะ รู้เห็นตามความเป็นจริง
(มัชฌิมากรรมฐานบอร์ด)

ปัญญา ความรู้ทั่ว, ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล, ความรู้ความเข้าใจชัดเจน, ความรู้ความเข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ, ความรอบรู้ในกองสังขาร มองเห็นตามความเป็นจริง ดู ไตรสิกขา, สิกขา

ปัญญา ๓ (ความรอบรู้, รู้ทั่ว, เข้าใจ, รู้ซึ้ง)
๑. จินตามยปัญญา (ปัญญาเกิดแต่การคิดการพิจารณาหาเหตุผล)
๒. สุตมยปัญญา (ปัญญาเกิดแต่การสดับการเล่าเรียน)
๓. ภาวนามยปัญญา (ปัญญาเกิดแต่การฝึกอบรมลงมือปฏิบัติ)

ปฏิเวธ เข้าใจตลอด, แทงตลอด, ตรัสรู้, รู้ทะลุปรุโปร่ง, ลุล่วงผลปฏิบัติ

สัทธรรม  ธรรมที่ดี, ธรรมที่แท้, ธรรมของคนดี, ธรรมของสัตบุรุษมี ๓ อย่าง คือ
๑.ปริยัติสัทธรรม สัทธรรมคือสิ่งที่พึงเล่าเรียน ได้แก่ พุทธพจน์
๒.ปฏิบัติสัทธรรม สัทธรรมคือสิ่งพึงปฏิบัติได้แก่ไตรสิกขา
๓.ปฏิเวธสัทธรรม สัทธรรมคือผลที่พึงบรรลุ ได้แก่ มรรคผล และนิพพาน;

วิชชา ความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ; วิชชา ๓ คือ ๑.ปุพเพนิ วาสานุสติญาณ ความรู้ที่ได้ระลึกชาติได้ ๒.จุตูปปาตญาณ ความรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ๓.อา สวักขยญาณ ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น; วิชชา ๘ คือ ๑.วิปัสสนาญาณ ญาณในวิปัสสนา ๒.มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ ๓.อิทธิ วิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ ๔.ทิพพโสต หูทิพย์ ๕.เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่นได้ ๖.ปุพเพนิวาสานุสติ ๗.ทิพพจักขุ ตาทิพย์ (=จุตูปปาตญาณ) ๘.อาสวักขยญาณ

อภิญญา ความรู้ยิ่ง, ความรู้เจาะตรงยวดยิ่ง, ความรู้ชั้นสูง มี ๖ อย่างคือ ๑) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ ๒) ทิพพโสต หู ทิพย์ ๓) เจโตปริยญาณ ญาณที่ให้ทายใจคนอื่น ได้ ๔) ปุพเพนิวาสานุสติ ญาณที่ทำให้ระลึก ชาติได้ ๕) ทิพพจักขุ ตาทิพย์ ๖) อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป, ๕ อย่างแรกเป็นโลกียอภิญญา ข้อสุดท้ายเป็นโลกุตตรอภิญญา

ญาณ ความรู้, ปรีชาหยั่งรู้, ปรีชากำหนดรู้; ญาณ ๓ หมวดหนึ่ง ได้แก่ ๑.อตีตังสญาณ ญาณใน ส่วนอดีต ๒.อนาคตังสญาณ ญาณในส่วนอนาคต ๓.ปัจจุปปันนังสญาณ ญาณในส่วนปัจจุบัน; อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่ ๑.สัจจญาณ หยั่งรู้อริยสัจแต่ละอย่าง ๒.กิจจญาณ หยั่งรู้กิจในอริยสัจ ๓.กตญาณ หยั่งรู้กิจอันได้ทำแล้วในอริยสัจ; อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่ วิชชา ๓
 
ญาณ ๑๖ ญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาโดยลำดับตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมาย คือมรรคผลนิพพาน ๑๖ อย่างคือ ๑.นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดแยกนามรูป ๒.(นามรูป) ปัจจัยปริคคหญาณ ญาณกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูป ๓.สัมมสนญาณ ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์ ๔.- ๑๒.(ตรงกับวิปัสสนาญาณ ๙) ๑๓.โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตรคือหัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน ๑๔.มัค คญาณ ญาณในอริยมรรค ๑๕.พลญาณ ญาณในอริยผล ๑๖.ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่พิจารณาทบทวน; ญาณ ๑๖ นี้เรียกเลียนคำบาลีว่า โสฬสญาณ หรือ เรียกกึ่งไทยว่า ญาณโสฬส; ดู วิปัสสนาญาณ ๙

ยถาภูตญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็นตาม เป็นจริง

ญาณทัศนะ, ญาณทัสสนะ การเห็นกล่าวคือการหยั่งรู้, การเห็นที่เป็นญาณ หรือ เห็นด้วยญาณ อย่างต่ำสุดหมายถึง วิปัสสนาญาณ นอกนั้นในที่หลายแห่งหมายถึง ทิพพจักขุญาณบ้าง มรรคญาณบ้าง และในบางกรณีหมายถึง ผลญาณบ้าง ปัจจเวกขณญาณบ้าง สัพพัญญุตญาณบ้าง ก็มี ทั้งนี้สุดแต่ข้อความแวดล้อมในที่นั้นๆ

อ้างอิง   พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ และฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตโต



ถ้าสำหรับสันดานปุถุชนอย่างตัวเรานี้ แม้เมื่อเห็นเมื่อรู้เมื่อทำได้แต่ยังไม่ขาดไม่รู้แจ้งแทงตลอดจึงยังนิพพิทาญาณไม่บริบูรณ์ได้บ้างไม่ได้บ้าง จึงควรต้องทำให้มาก และ มากยิ่งขึ้นซึ่งกรรมฐานการละความกำหนัดราคะเมถุนนี้ๆตั้งแต่ต้นวนเวียนไปจนกว่าจะรู้แจ้งแทงตลอดได้



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 04, 2014, 07:49:25 PM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #13 เมื่อ: ธันวาคม 04, 2014, 08:43:46 PM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน

วิธีเบื้องต้นส่วนหนึ่งในการเข้าถึง "มรรค มีองค์ ๘" ที่ผมพอจะมีสติกำลังมองเห็นมี ๘ ข้อดังนี้

๑. เจริญปฏิบัติใน "กุศลกรรมบถ 10 ธรรมอันเป็นเครื่องเจริญปฏิบัติแห่งกุศล" ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปฏิบัติในธรรมอันประกอบไปด้วย ศีล พรหมวิหาร๔ ทาน เป็นเบื้องต้นจนเกิดเห็นจริงในสัมมาทิฐิ เป็นไปเพื่อการดำรงกาย-ใจให้เข้าถึง กุศลมูล 3 และ ความสุจริต 3 อันเป็นไปในมรรค ๘ เพื่อยังให้ถึงอินทรีย์สังวร คงไม่ต้องอธิบายนะครับหากท่านศึกษาและเข้าใจในพระธรรมดีแล้ว
     หรืออ่านเพิ่มเติมที่นี่ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=12&A=8951&w=%A1%C3%C3%C1%BA%B6

๒. เจริญปฏิบัติใน "สัลเลขะสูตร" ธรรมเครื่องขัดเกลา(กิเลสหรือดับกิเลส) คือ เจริญเพื่อเกื้อหนุนในกุศลกรรมบถ 10 เหมือนศีลกับพรหมวิหาร๔ ที่เกื้อหนุนกัน แต่ส่วนนี้เป็นการพึงเจริญปฏิบัติโดยมองน้อมมาสู่ตน-เจริญในตนเมื่อมองเห็น เหตุ ปัจจัย จากภายนอกมี่มากระทบบ้าง ภายในบ้าง แล้วพึงเจริญสติระลึกรู้ ปฏิบัติ พิจารณาด้วยการแยกแยะถูก ผิด ดี ชั่ว เห็นคุณ และ โทษ แล้วพึงเจริญปฏิบัติทาง กาย วาจา ใจ เข้าสู่ในธรรมเครื่องขัดเกลานี้เพื่อการดำรงกาย-ใจให้เข้าถึง กุศลมูล 3 และ ความสุจริต 3 เหตุให้ อันเป็นเหตุให้ มรรค ๘ บริบูรณ์สั ถึงซึ่งอินทรีย์สังวรบริบูรณ์
     อ่านที่นี่เพิ่มเติม http://www.nkgen.com/386.htm

๓. การเจริญปฏิบัติใน "ศีล อันเป็นกุศล" ธรรมอันเป็นเครื่องปกติ เพื่อความไม่เบียดเบียนทางกายและวาจา ระลึกเป็นสีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตนอันไม่ขาด ไม่ทะลุ อันบริบูรณ์ดีแล้ว เมื่อระลึกอยู่เช่นนี้ไม่เพียงแต่เข้าสู่อุปจาระฌาณแต่ยังช่วยให้เราสำรวมระวังในศีลมากขึ้นทำให้เรามีกาย-วาจาสุจริตเป็นองค์ธรรมในมรรค ๘ เป็นเหตุให้อินทรีย์สังวรบริบูรณ์ เพราะผู้ที่ไม่มีศีลอันดีงามแล้วจะระลึกในสีลานุสสติไม่ได้ ศีลอันดีนี้เป็นไปเพื่อความให้ใจไม่ร้อนรุ่ม มีความผ่องใส เบิกบาน ปราโมทย์ ปิติ สุข สงบ จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่ายควรแก่งานเอื้อในอินทรีย์สังวรอันเป็นฐานแห่งสติปัฏฐาน ๔
     อ่านที่นี่เพิ่มเติม http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=24&A=2&w=%CD%D2%B9%D4%CA%D1%A7%CA%C7%C3%C3%A4

๔. การเจริญปฏิบัติใน "พรหมวิหาร๔" เพื่อยังให้ใจถึงควาเป็นกุศล มีใจสุจริตละความผูกเวรอาฆาตพยาบาท ใช้ร่วมกับศีลให้ศีลบริบูรณ์ดีงามทำให้องค์ธรรมในมรรค ๘ บริบูรณ์ เป็นเหตุให้อินทรีย์สังวรบริบูรณ์ ควรเจริญให้มากจนเกิดจิตปารถนาดีให้ผู้อื่นเป็นสุขโดยไม่แยกแยะ ถึงความประสงค์ที่จะอนุเคราะห์แบ่งปันเกิดเป็นการสละให้โดยไม่หวงแหนในสิ่งไรๆที่ตนมีถครอบครองเป็นปัจจัยใช่สอยอยู่ ด้วยหวังให้ผู้รับได้ใช้ประโยชน์สุขจากการสละให้นั้นของเรา ดั่งความปารถนาดีที่บิดา-มารดานั้นจักมีให้บุตรอันเป็นที่รักเพียงคนเดียวด้วยหวังให้บุตรเป็นสุข มีจิตประสงค์ที่จะอนุเคราะห์เอื้อเฟื้อแบ่งปันให้บุตรปราศจากทุกข์มีแต่สุข เกิดเป็นการสละให้ในสิ่งอันดีงามเป็นประโยชน์สุขนั้นให้แก่บุตรได้พึงมีพึงใช้ มีจิตยินดีที่ตนได้สงเคราะห์แก่บุตรแล้ว หรือ มีปกติจิตยินดีเมื่อบุตรนั้นเป็นสุขกายและใจ เป็นการสละให้ที่สลัดจากความโลภอันตนยึดมั่นว่านี่เป็นเราเป็นของเราเสียได้ เรียกว่า "ทาน"(เมื่อระลึกถึงการสละให้อันงามนั้นก็เป็น จาคานุสสติ) พรหมวิหาร ๔ และ ทานนี้ เมื่อเจริญปฏิบัติเป็นประจำให้จิตยังให้จิตเข้าถึงเมตตาฌานเจโตวิมุตติ(ซึ่งภิกษุในพระธรรมวินัยนี้จะต้องถึงเจโตวิมุตติทุกองค์) ดั่งพระสูตรที่ว่านี้ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=19&A=3329&w=%BE%C3%CB%C1%C7%D4%CB%D2%C3
     ดูวิธีเจริญจิตเพื่อแผ่เมตตาเบื้องต้นอันเป็นผลให้ถึงในเจโตวิมุตติตาม Link นี้ครับ
     http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8226.0

๕. เจริญปฏิบัติใน "สมาธิ" เพื่อยังให้จิตตั้งมั่น เป็น สัมมาสมาธิ อันเอื้อต่อสติสัมปชัญญะเป็นเหตุให้เข้าถึงความรู้เห็นถูกต้องตามจริงไม่ใช่การอนุมานคาดคะเนตึกนึกเอาเองเกิดเป็นวิปัสสนาญาณ ที่เรียกว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ จนเกิดนิพพิทา+วิราคะ ถึงซึ่ง วิมุตติ ดังที่กล่าวใน มรรคข้อ สัมมาสมาธิ ในพระสูตรข้างต้น
     ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=23&A=9041&w=%AC%D2%B9%CA%D9%B5%C3

๖. เจริญปฏิบัติใน "สติปัฏฐาน ๔" คือ ฐาน(ที่ตั้ง)แห่งสติ มีสติกำกับอยู่เป็นไปเพื่อวิมุตติ เพื่อให้แจ้งและรู้เท่าทันใน กาย เวทนา จิต ธรรม คือ สิ่งที่เกิดขึ้นและมีในกายและใจตนจนเห็นตามจริงทั้งกานและใจทั้งภายในและภายนอก มีสัมปชัญญะเกื้อหนุนให้รู้ตัวทั่วพร้อมในขณะนั้น
- การเจริญปฏิบัติให้เริ่มที่กายานุสติปัฏฐานก่อนถึงจะเป็นผล เพราะเป็นการใช้สติดึงเอาสมาธิและสัมปชัญญะให้มีกำลังมากพอควรแก่งานและเป็นการเริ่มต้นพิจารณาเห็นในวิปัสสนาญาณตามจริงที่ไม่ใช่การตรึกนึกคิดคาดคะเนอนุมานเอาเอง เป็นการอบรมกายไปสู่จิตอันสัมผัสรับรู้และเห็นรับรู้ได้ง่าย
- แล้วตามด้วย เวทนานุสติปัฏฐาน แล้วจึงเจริญปฏิบัติใน จิตตานุสติปัฏฐาน แล้วค่อยเจริญใน ธรรมมานุสติปัฏฐาน เป็นส่วนสุดท้ายตามลำดับ ถึงจะเป็นไปเพื่อการอบรมจิตอย่างแท้จริง จึงจะเห็นว่ามันสักแต่มีไว้ระลึกรู้ยังไง เห็นสิ่งที่มีเกิดขึ้นในตนและดับไปสูญไปแล้วจากตน พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเรียงเป็นลำดับให้แล้วตามนี้จึงจะเป็นไปเพื่อเข้าถึงโพชฌงค์ ๗ อย่างแท้จริง
- หากไปหยิบเอามาเจริญปฏิบัติมั่วๆจะไม่มีทางเห็นตาจริงแน่นนอน เว้นเสียแต่ว่าบุคคลนั้นมีการสะสมไว้มาดีแล้วในกาลก่อน
     ดูเพิ่มเติมดังนี้ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=10&A=6265&w=%CA%B5%D4%BB%D1%AF%B0%D2%B9
     และ http://www.nkgen.com/34.htm
     และ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=7552&Z=7914
     ดูเพิ่มเติมถึงปัจจัยอันเป็นอานิสงส์ต่อกันของสติปัฏฐาน ๔ ตาม Link นี้ครับ
     http://group.wunjun.com/ungpao/topic/539461-23343

๗. เจริญปฏิบัติให้เข้าถึงใน "อุเบกขา" เพื่อละความพอใจยินดีและไม่พอใจยินดีเสียจงได้ นั่นคือ ละในสมุทัยนั่นเอง ไม่มีทั้งความพอใจยินดี(ฉันทะ,โสมนัส) และ ไม่พอใจยินดี(ปฏิฆะ,โทมนัส) อยู่ด้วยความมีใจกลางๆไม่หยิบจับเอาความพอใจและไม่พอใจมาเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ มีความสงบว่าง ผ่องใส ไม่หมองหม่นใจ มีสติระลึกรู้แลดูอยู่เห็นธรรมด้วยประการทั้งปวงไม่อิงราคะ ย่อมสลัดกิเลสออกเสียได้ ยังจิตให้ถึง"อุเปกขาสัมโพชฌงค์"(เมื่อจะเจริญปฏิบัติใน อุปสมานุสสติ คือ ระลึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ก็ให้ระลึกถึงสภาพจิตที่เป็นอุเบกขาอันมี่สภาพจิตแบบนี้ๆเป็นอารมณ์ เพราะนี่คือคุณของพระนิพพาน) อุเบกขานั้นมี 10 อย่าง ไม่ใช่ว่ามีแค่ในพรหมวิหาร๔ เท่านั้น http://www.dhammahome.com/front/webboard/show.php?id=21483
     ดูพระสูตรที่เกี่ยวข้องตามนี้ครับ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=5605&Z=5668
     และ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=3640&Z=3778
     และ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?book=1&bookZ=45&name=%E0%C1%B5%B5%CA%D9%B5%C3&book=19&bookZ=19

๘. การเจริญพิจารณาในกายและใจให้เห็นกายภายในบ้าง-ภายนอกบ้างและสภาพจิตภายในบ้าง-ภายนอกบ้าง ให้พิจารณาลงในธรรมเกิดปัญญาเห็นจริงในวิปัสสนาญาณจนเหลือเพียง รูป-นาม
     ๘.๑ "อสุภะ คือ เห็นในความไม่สวยไม่งาม ไม่น่าพิศมัยยินดี" ก็เพื่อความเป็นไปในสัมมาสังกัปปะ คือ ดำหริชอบ ดำหริออกจากกาม ราคะ เจริญในพรหมจรรย์ และ รูป-นาม ซึ่งอสุภะนี้ตาเราเห็นได้โดยบัญญัติ เป็นซากศพในแบบต่างๆ ศพที่เขียวอืดบ้าง  ศพที่ถูกยื้อแย่งกินบ้าง ศพที่ถูกชำแหระออกบ้าง ศพที่แขนขาดขาขาดหัวขาดดั่งในสนามรบบ้าง ศพที่มีน้ำเลือดน้ำเหลืองไหลออกบ้าง ศพที่มีแต่กระดูกบ้างเป็นต้น พิจารณาเห็นกายกายในกายนอกเห็นว่าเรามีเขามีโดยไม่แยกเพศ จนแยกเป็นอาการทั้ง 32 ต่อไป
     ๘.๒ "ปฏิกูลมนสิการ หมายถึงกายซึ่งเต็มไปด้วยของที่ไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ รวม ๓๒ ประการ" เมื่อเราพิจารณาเห็นเป็นปฏิกูล คือ เป็นอาการทั้ง 32 แล้วย่อมเห็นชัดว่า กายเรานี้มีเพียงอวัยวะภายในน้อยใหญ่ มีกระดูกเป็นโครงร่าง มีเนื้อนั้นหนุนโครงทรงไว้ภายใน มีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบ มี ขน ผม เล็บ ฟัน ใช้เพื่อการปกคลุดและทำหน้าที่ต่างๆ ที่เราไปติดใจก็ให้หนังหุ้มกับ ขนผม เล็บ ฟัน หนังนี้เอง เมื่อเห็นแยกเป็นอาการทั้ง 32 ไม่มีตัวตนบุคคลใดได้แล้ว ก็ให้พิจารณากายเรานี้สักเป็นแต่เพียงธาตุต่อไป
     ๘.๓  "ธาตุมนสิการ คือ การพิจารณาร่างกายของตนโดยให้เห็นแยกประเภทเป็นธาตุ ๔ แต่ละอย่างๆว่ามีในกายเราอยู่นี้"
     ธาตุดิน ที่เป็นของแข้นแข็งอันมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ที่ต่างเมื่อไม่ได้มีการปรุงแต่งใดๆแล้ว ก็ล้วนไม่งาม เป็นปฏิกูล ไม่สะอาด ไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ (โดยส่วนตัวผมนี้ได้เพ่ง ปฐวีกสิน ทำให้ช่วงเวลาหนึ่งที่เข้าถึงนั้น เห็นกายตนเองและผู้อื่นเป็นดินเกิดทำให้เกิดวิราคะผุดขึ้นในใจในกาลสมัยนั้น)
     ธาตุน้ำ ที่หมายถึงเป็น ของเอิบอาบ คือความเป็นของเหลว เช่น ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร ที่ล้วนปฏิกูล ไม่งามเช่นกัน ที่ต่างเมื่อไม่ปรุงแต่งใดๆแล้วก็ล้วนไม่งามไม่สะอาด ไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ
     ธาตุลม ความเป็นของพัดไปมา ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมอันอยู่ในท้อง ลมอันอยู่ในลำไส้  ลมอันแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่  ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก  เช่น ลมหายใจอันไม่น่าปรารถนา ลมหมักหมมเหม็นเน่าอยู่ในท้อง ต่างล้วนเน่าเหม็น ล้วนไม่มีใครอยากดอมดม ไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ
     ธาตุไฟ  ความเป็นของเร่าร้อน  สิ่งที่เป็นเครื่องอบอุ่นแห่งกาย และทั้งเป็นสิ่งที่เป็นเครื่องทรุดโทรมแห่งกาย  สิ่งที่เป็นเครื่องเร่าร้อนแห่งกาย  สิ่งที่เป็นเครื่องทำให้แปรปรวนไปด้วยดีแห่งของที่กินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว และของที่ลิ้มรสแล้ว กล่าวคือแปรปรวนของที่กินและลิ้มแล้วให้เป็นพลังงานและสารต่างๆออกมา ย่อมเกิดความร้อนหรือพลังงานและของเสียเน่าเหม็นจากการสันดาปภายในต่างๆเป็นมูตรคูถ เหงื่อ ฯ. ไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ
      - "หากเป็นธาตุ ๕ ก็เพิ่ม อากาศธาตุ" เข้าไปเป็นที่ว่างกว้าง หรือ เป็นช่องว่างแทรกอยู่ในทุกๆอนูของทุกๆธาตุ
      - "หากเป็นธาตุ ๖ ก็เพิ่ม วิญญาณธาตุ" เข้าไป เป็นธาตุรู้ พิจารณาเห็นกายในกายนอกเห็นว่าเรามีเขามีไม่แยกเพศ
      - เมื่อเห็นแยกเป็นธาตุๆ ไม่มีตัวตนบุคคลใดได้แล้ว ย่อมเข้ารู้แน่ชัดและง่ายในวิปัสสนาญาณ เห็นว่านี่คือรูปธรรม นี่คือนามธรรม มีเอกลักษณ์ คุณลักษณะอาการอย่างไร มีสภาพจริงเป็นไฉน เจริญเข้าสู่สติปัฏฐาน ถึงโพชฌงค์๗(ธรรมอันเป็นเครื่องตรัสรู้) โดยบริบูรณ์ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของธาตุทั้ง ๔ ใน มหาหัตถิปโทปมสูตร ตาม Link นี้ครับ http://www.nkgen.com/770.htm
     ๘.๔ เมื่อรู้เห็นแล้วว่า รูป มีคุณสมบัติและลักษณะแต่ละอย่างเป็นอย่างไรมีสิ่งใดบ้าง กับ นาม มีคุณสมบัติและลักษณะแต่ละอย่างเป็นอย่างไรมีสิ่งใดบ้าง ให้เจริญพิจารณามีสติระลึกรู้แลดูอยู่แค่สภาพนั้นๆที่เรารู้การกระทบสัมผัสในขณะนั้น ไม่ต้องไปแยกจำแนกว่าในสิ่งนี้ๆที่เราได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส ได้กระทบสัมผัส ได้รู้ด้วยใจ มันมีรูปธาตุใดๆรวมอยู่จึงก่อเกิดขึ้นเป็นสิ่งนั้น ตัวนั้น
     ๘.๕ การจะรู้แยกธาตุจริงๆนั้นที่ผมพอจะมีปัญญาอันน้อยนิดพอจะรู้เห็นทางได้มีดังนี้คือ
             - ไม่ใช่การเข้าไปรู้ว่า ในสิ่งนั้นๆ บุคลนั้นๆ รูปร่างนั้นๆ มันประกอบด้วยอะไร-รูปอะไร-ธาตุอะไร ๑
             - แต่ให้รู้ว่าในขณะที่เราเกิดรู้ผัสสะใดๆ จากมโนใดๆ วิญญาณใดๆ ในขณะนั้นเป็นอย่างไร-มันมีคุณลักษณะ-สภาพจริง-สภาพธรรม-สภาวะธรรมเป็นอย่างไร มันถึงจะไม่มีตัวตนบุคคลใดทั้งสิ้น ๑
        ๘.๕.๑ สิ่งที่เห็นทางตามันก็มีแต่ สีๆ กับ แสง เท่านั้น สภาพที่เรามองเห็นทางตานั้นเมื่อดูแล้วก็จะเห็นว่า มันมีแต่สีๆ สีเขียวบ้าง ขาวบ้าง แดงบ้าง เหลืองบ้าง น้ำเงินบ้าง ดำบ้าง ส้มบ้าง ฟ้าบ้าง ซึ่งสีๆที่เห็นนั้นๆก็เป็นรูปทรงโครงร่างต่างๆตามลักษณะเคล้าโครงนั้นๆของมัน สีเหล่านั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงไป-แปรผันไปตลอดเวลาอย่างไร และ แสงที่เห็นนั้น ก็มีสว่างจ้าบ้าง มีมืดมิดบ้าง เช่น
               ก. เมื่อรู้ผัสสะใดๆทางตาในขณะนั้น เช่น เห็นต้นไม้ ก็ให้พึงมีสติระลึกรู้แลดูว่า สิ่งที่เราเห็นอยู่นั้นมีสีอะไรบ้าง มีโครงร่างรูปร่างอย่างไร มีความเปลี่ยนแปรไปอย่างไรบ้าง จนเข้าไปเห็นเป็นสีๆที่มีรูปร่างต่างๆ มีความเปลี่ยนแปรไปเป็นธรรมดาทุกๆขณะเท่านั้น : เมื่อเห็นสี ก็รู้แค่สี เห็นความเปลี่ยนแปรไปของสี ไม่ต้องไปรู้ ตรึกนึก หรือ มองว่าในสีนี้มีแสงด้วย หรือ ตานี้เห็นได้ทั้งสีและแสง หรือ สีเขียวคือใบไม้ สีน้ำตาลดำคือลำต้นของต้นไม้ ให้รู้แค่สีๆที่มีรูปทรงนั้นๆเท่านั้น ไม่ต้องเข้าไปรู้อย่างอื่นอีก มันก็จะไม่มีตัวตน บุคคล หรือ สิ่งอื่นใดเลย
               ข. เมื่อเห็นแสงรู้ผัสสะในขณะนั้นเป็น แสงสว่าง ก็ให้พึงมีสติระลึกรู้แลดูว่า แสงสว่างนั้นมันจ้ามาก ลุกโพรง หรือ พร่ามัว แสงที่เข้าตาหรือที่เห็นนั้นมีลักษณะใด เป็นประกายอย่างไร และเปลี่ยนแปลงผันแปรไปอย่างไรในแต่ละขณะนั้นๆ : เมื่อเห็นแสง ก็รู้แค่แสงเป็นอารมณ์ เห็นความเปลี่ยนแปรไปของแสง ไม่ต้องไปรู้ ตรึกนึก หรือ มองว่าในแสงนี้มีสีด้วย หรือ ตานี้เห็นทั้งสีและแสง ไม่ต้องเข้าไปรู้อย่างอื่นอีก มันก็จะไม่มีตัวตน บุคคล หรือ สิ่งอื่นใดเลย
               กล่าวคือ.."การพิจารณาในวัณณะรูป(สี)นั้น หรือ สิ่งที่เห็นทางตาจนเห็นแจ้งนั้น ในขณะที่ตาเรามองเห็น หรือ ขณะที่ตาเราจดจ้องมองดูสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่นั้น..เราเห็นสีอะไรบ้าง ให้เอาสีมาตั้งเป็นอารมณ์รับรู้ทางตา ไม่ต้องเข้าไปรู้อย่างอื่นอีก มันก็จะไม่มีตัวตน บุคคล หรือ สิ่งอื่นใดเลย"
        ๘.๕.๒ เมื่อเราสัมผัสน้ำในโอ่ง อ่างน้ำ หรือแม่น้ำ เราจะรู้ว่าเมื่อเราเอามือกวัดแกล่งไปในน้ำ หรือ กระโดลงน้ำอย่างเร็ว จากธาตุน้ำนั้นซึ่งมีลักษณะเอิบอาบ-ชุ่มชื่น ซาบซ่าน-เกาะกลุม ก็จะมีสภาพแข็งอ่อนใช่ไหม นั่นเป็นคุณสมบัติของธาตุดินใช่ไหม
               - ขนาดสิ่งที่เราทุกคนนั้นเรียกว่าน้ำ เมื่อเข้าไปสัมผัสแล้วยังมีดินร่วมอยู่ด้วยใช่ไหม แล้วมันจะยังเรียกน้ำได้อีกไหม
               - ดังนั้นให้รู้แค่ลักษณะนั้นๆที่เราสัมผัสได้ ไม่ต้องไปเพ่งเอาว่าในน้ำนี้มีธาตุดินร่วมอยู่ด้วย มีธาตุไฟร่วมอยู่ด้วย มีธาตุลมร่วมอยู่ด้วย แต่ให้มีสติระลึกรู้แลดูอยู่ รู้ผัสสะในขณะที่สัมผัสน้ำนั้นๆว่าเรารู้สึกอย่างไร เช่น
               ก. เมื่อรู้สึก เอิบอาบ ชุ่มชื่น ซาบซ่าน ก็รู้แค่สภาพลักษณะนั้นๆ ไม่ต้องเข้าไปรู้ หรือ ตรึกนึกคิดว่านี่คือธาตุน้ำหรือในน้ำมีอะไรรวมอยู่บ้าง มีธาตุใดๆบ้าง ให้รู้แค่สภาพ เอิบอาบ ชุ่มชื่น ซาบซ่าน ไม่ไปรู้อย่างอื่นอีก มันถึงจะไม่มีตัวตนบุคคลใดทั้งสิ้น
               ข. เมื่อรู้สึก อ่อน แช็ง นุ่ม ก็ให้รู้แค่ในสภาพลักษณะนั้นๆ ไม่ต้องเข้าไปรู้ หรือ ตรึกนึกคิดว่าในน้ำก็มีธาตุนั้นด้วย ให้รู้แค่สภาพอ่อน-แข็งนั้น ไม่ไปรู้อย่างอื่นอีก มันถึงจะไม่มีตัวตนบุคคลใดทั้งสิ้น
        ๘.๕.๓ เมื่อรู้สึก ร้อน อุ่น เย็น ก็ให้รู้แค่ในสภาพลักษณะนั้นๆ ไม่ต้องเข้าไปรู้ หรือ ตรึกนึกคิดว่าในน้ำก็มีธาตุนั้นด้วย ให้รู้แค่สภาพร้อน-เย็นนั้น ไม่ไปรู้อย่างอื่นอีก มันถึงจะไม่มีตัวตนบุคคลใดทั้งสิ้น
               กล่าวคือ.."การพิจารณาจนรู้ในธาตุ หรือ รูปธรรมใดๆที่เรารับรู้ได้จากการกระทบสัมผัสกางกายนั้น ให้เรารู้แค่ว่า..ในขณะนั้นเรารู้ผัสสะคุณลักษณะสภาพใดได้ หรือ ในขณะนั้นเรารู้ผัสสะคุณลักษณะสภาพใดอยู่ ก็ให้เอาคุณลักษณะสภาพที่เรารับรู้ได้ในขณะนั้นมาเป็นอารมณ์พิจารณา ไม่ต้องเข้าไปรู้สิ่งใดๆอีก มันถึงไม่มีตัวตนบุคคลใด หรือ สิ่งใดๆอีก"
                - เมื่อรู้แค่ผัสสะนั้นๆไม่ไปรู้อย่างอื่นแล้ว จนเห็นชำนาญแล้ว ให้พิจารณามองย้อนดูว่า วันๆหนึ่งตั้งแต่วันที่พิจารณาจนถึงปัจจุบันที่นั้นเรารับรู้กระทบสัมผัสสิ่งใดๆบ้าง ก็จะเห็นเองว่าที่เรารู้นั้นๆมันมีเพียง สีๆ เสียงสูง-ต่ำ ทุ้ม-แหลม กลิ่นในลักษณะต่างๆ รสในลักษณะต่างๆ  อ่อน แข็ง เอิบอาบ ตรึงไหวเคลื่อนที่ ร้อน เย็น ไม่มีตัวตนบุคคลใดเลย มีแต่สภาพการรับรู้นั้นๆเท่านั้นเอง ไม่มีสิ่งใดๆเลย
     ๘.๖ รู้ในลักษณะอาการความรู้สึกของจิตที่ปราศจากความนึกคิดปรุงแต่ง คือ มีสติแลดูอยู่รู้ตัวทั่วพร้อมเห็นในสภาวะลักษณะอาการของจิตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะนั้นๆว่าเป็นอย่างไร
               ก. เมื่อแรกเริ่มอาจจะรู้อาการของจิตในขณะที่เราเจริญจิตตานุสติปัฏฐานหรือรู้ตัวว่าขณะนี้มี โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ แล้วดูลักษณะอาการของจิตใจในขณะที่เกิดอารมณ์ความรู้สึกนั้นๆว่าเป็นอย่างไร เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต เช่น ติดใจติดตามเพลิดเพลิน ขุ่นมัวขัดเคืองใน หมองหม่นใจ สั่นเครือติดตาม อัดอั้น อึดอัด คับแค้นใจ เป็นต้น พิจารณาดูว่าแต่ละอย่างๆนี้เป็นลักษณะอาการของจิตในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดใดๆ ที่ต้องรู้ส่วนนี้อยู่เนืองๆก็เพื่อเมื่อเกิดอารมณ์ความรู้สึกใดๆขึ้น แม้อย่าง ละเอียด อ่อนๆ กลางๆ หรือ หยาบ เราก็สามารถรู้ได้ทันทีว่า ขณะนั้นเสพย์อารมณ์ความรู้สึกใดๆอยู่ เพื่อจะละมันได้ทันที
               ข. เมื่อรู้สภาพลักษณะอาการของจิตจนชำนาญแจ่มแจ้งแทงตลอดแล้ว เมื่อใดที่มันเกิดขึ้นอีกก็ให้เราเข้าไปรู้ในสภาวะลักษณะอาการของจิตนั้นๆโดยไม่ต้องไปให้ความหมายของมันว่ามันคืออารมณ์ความรู้สึก รัก หรือ โลภ หรือ โกรธ หรือ หลงใดๆ แค่ให้จิตเข้าไปรู้จิต คือ มีสติแลดูอยู่ในลักษณะอาการของจิตในขณะนั้นๆว่าเป็นอย่างไรเท่านั้น ไม่มีตัวตน บุคคลใด ไม่มีสิ่งใดๆทั้งสิ้น เห็นลักษณะอาการนั้นๆว่ามัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ทรงอยู่ ดับไป ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดใดๆ สักแต่รู้อาการนั้นก็พอไม่ต้องเข้าไปรู้อย่างอื่นอีก ไม่ต้องไปให้ความหมายใดๆกับความรู้สึกในลักษณะอาการของจิตใดๆขณะนั้นๆทั้งสิ้น สักเพียงแต่รู้ก็พอ มันถึงไม่มีตัวตน บุคคลใด นี่เรียกว่าปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน คือ ความปรุงแต่งจิตเหล่านี้สักแต่มีไว้ให้ระลึกรู้และตามรู้มันไปเท่านั้น ไม่ได้มีไว้ให้เสพย์ ไม่ได้มีไว้ให้เข้าไปร่วม
                - เมื่อพิจารณารู้เห็นอย่างนี้จนชำนาญแล้ว ก็จะพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า มันมีแต่สภาพอาการความปรุงแต่งนี้เท่านั้น มันไม่ใช่จิต ปกติจิตเป็นสภาพสงบผ่องใสสักแต่อาศัยเพียงเป็นความปรุงแต่งจิตนี้ๆที่จรเข้ามาทำให้ใจเศร้าหมอง ความปรุงแต่งที่จรมานี้ไม่ใช่จิต จนเกิดมีสติแลดูอยู่เห็นตามจริงดังนี้แล้วแม้สิ่งไรๆ ความรู้สึกปรุงแต่งนึกคิดไรๆเกิดมา มันก็ไม่ใช่จิตไม่ใช่เรา เราก็จะไม่ไปเคลิบเคลิ้ม หลงตาม เสพย์อารมณ์ตามมันไป ด้วยเพราะเห็นแยกความปรุงแต่งจิตกับจิตนั้นแล้ว นี่เรียกว่า "จิตเห็นจิต"


** การเจริญปฏิบัติในข้อที่ ๘ ทั้งหมดนี้จัดเป็นการปฏิบัติใน สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ เป็นการเจริญปฏิบัติใน สัมมัปปธาน ๔ คือ ความเพียรชอบ ๔ ประการ ดังนี้คือ **
๑. สังวรปธาน [เพียรระวัง]
๒. ปหานปธาน [เพียรละ]
๓. ภาวนาปธาน [เพียรเจริญ]
๔. อนุรักขนาปธาน [เพียรรักษา]
อ่านเพิ่มเติมได้ตาม Link นี้ครับ http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13591.0

- สรุป..ให้เราพึงเพียรมีสติระลึกรู้เจริญพิจารณาว่า ในแค่ละขณะจิตที่เรารู้ผัสสะนั้นๆ เรารู้สิ่งใด รู้สภาพคุณลักษณะใด-รู้สภาพธรรมใดของธาตุ  รู้ลักษณะอาการความรู้สึกใดๆ-เห็นสภาพธรรมใดๆของจิตก็พอ เห็นสภาพธรรมสิ่งไรๆว่าขณะนี้เกิดขึ้นในกายใจตนหรือสภาพธรรมนี้ๆดับไปไม่มีแล้วในกายใจตน เห็นว่ามันมีความผันแปรอย่างไร ไม่คงอยู่อย่างไร ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนอย่างไร จนเห็นความเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไปอย่างไร สิ่งนั้นมันก็จะไม่มีตัวตนบุคคลใดอีก เห็นถึงความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร นอกจากรูปและนาม ในความรู้ความเข้าใจของผมนั้นสิ่งนี้ๆถึงจะเรียกว่า "วิปัสสนา"
     ดูเพิ่มเติมตามพระสูตรนี้ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=131&book=12&bookZ=
     เห็นความเป็นไปตามจริงในปฏิจจสมุปปบาทอย่างไร ดูเพิ่มเติมที่นี่ http://nkgen.com/1mainpage1024.htm

- ซึ่งวิธีการเจริญทั้งหลายเหล่านี้อาจจะใช้ในสถานการณ์ที่ต่างกันไป และ เจาะจงแต่ละบุคคลไปตามแต่จริตนั้นๆ ที่ผมยกมานี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ปัญญาผมพอจะรู้ได้หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย และ ทำให้ท่านผู้อ่านได้เห็นตามจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ลองเลือกแนวทางทั้งหลายนี้ตามแต่ที่ท่านคิดว่าตรงและถูกจริตของท่านมาน้อมพิจารณาและเจริญปฏิบัติดูนะครับจะเห็นทางเข้าสู่ มรรค ๘ ทางแห่งการพ้นทุกข์อย่างแท้จริงครับ



เคยบันทึกผลแห่งการกรรมฐานไว้นานมากแล้วที่ Link นี้

http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13637.msg46531#msg46531

บันทึกการเข้า
dekinw
เด็กใหม่
*****

พลังความดี : 0


เพศ: ชาย
อายุ: 32
กระทู้: 1
สมาชิก ID: 2841


อีเมล์
« ตอบ #14 เมื่อ: ธันวาคม 05, 2014, 03:53:16 AM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
สาธุครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 31  ทั้งหมด   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters
Powered by SMF 1.1.17 | Simple Machines|Copyright © 20010 BY : thammaonline.com
บทความธรรมะรวมเรื่องกฏแห่งกรรมสมาธิ วิปัสนากรรมฐานพลังจิตกระดานถาม-ตอบ Sitemap

Google มาเยี่ยมเว็บเมื่อ เมษายน 18, 2024, 12:48:03 PM